วิสัยทัศน์ 'สุรชัย สถิตคุณารัตน์ 'ผอ.สอวช. คนใหม่

เมื่อโลกก้าวไปในทิศทางที่มีวิทยาศาสตรร์วิจัย และนวัตกรรรม เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ความก้าวหน้าในความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์  เอไอ ดิจิทัล หรือนวัตกรรม ล้วนเป็นสิ่งชี้ขาดอำนาจการแข่งขัน ใครฉลาด ใครก้าวหน้า ใครคิดเก่ง สร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้มาก  จะเป็นผู้อยู่รอด และอยู่แถวหน้าของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยเองก็มองเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ทำให้ในช่วงเกือบ 10ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พยายาม”ปรับตัว”ให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของการแข่งขันของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้มีการปรับโครงสร้างกระทรวง โดยเฉพาะการผุดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือ  (อว) ซึ่งเกิดจากการรวมของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)เข้ากับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถเพิ่มการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้

ภายใต้กระทรวง อว.มีการผุดองค์กรใหม่ๆ นอกเหนือจาก หน่วยงานต่างๆที่เคยสังกัด สกอ.และกระทรวงวิทย์ฯ ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานเกิดใหม่นั้นก็คือ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เสมือน”มันสมอง” ของอว. เพราะทำหน้าที่วางแผน กำหนดทิศทาง เป้าหมาย การดำเนินงานของอว.  เน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรองรับการการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

เมื่อเร็วๆนี้ สอวช. ได้มีดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์  ที่ผ่านการสรรหา มารับตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่  ในโอกาสนี้ ดร.สุรชัย ได้พาสื่อมวลชน รู้จักสอวช. ทุกแง่ทุกมุม พร้อมเปิดฉากว่า  หน้าที่ของ สอวช. คือ มุ่งเน้นการกำหนดทิศทางล่วงหน้า วิเคราะห์แนวโน้มสำคัญของโลก ผ่านการใช้ฐานข้อมูลเชิงลึกและงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่ตอบโจทย์อนาคต  หรือเป็นการมองไปข้างหน้า วิเคราะห์ว่ากระแส ความท้าทาย หรือโอกาสอะไรที่กำลังจะเข้ามา และจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร โดย สอวช. มีศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค หรือ APEC Center for Technology Foresight ซึ่งดำเนินงานมากว่า 10 ปีแล้ว ด้วยแนวคิด “Foresight Planning” หรือการวางแผนเชิงอนาคต เช่น การใช้ AI Horizon Scanning วิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า

“การทำงานของเรา เป็นการคิดและมองว่าอะไรจะมา อะไรเป็น Trend อนาคต แค่การเห็นสัญญาณอ่อน ๆ ก็นำมาเป็นหัวข้อ และนำมาวางแผนเตรียมการล่วงหน้าได้ ซึ่งสิงคโปร์ก็ทำในลักษณะนี้ ด้วยเช่นกัน เขาจะมองหาสัญญาณว่าอะไรจะมา ต่อไป “

ผลงาน จากการจับสัญญาณของสอวช.ที่ผ่านมา ที่ถือว่าโดดเด่น เพราะเป็นการให้ความสำคัญล่วงหนัาหลายปี  ดร.สุรชัย  กล่าวว่า ยกตัวอย่าง เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ สอวช. ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP) ในฐานะนักเจรจาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี 

“เรื่องclimate change ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีกรณีที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวจากการไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) แต่เชื่อว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุโรป จะยังคงตั้งเป้าหมายและจับมือกันในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่ออย่างเข้มแข็ง”

ระยะหลังรัฐบาลมักจะพูดถึง สอวช. นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน กันมาก เป็นตัวชูโรงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ดร.สุรชัย บอกว่า สอวช. ได้เป็นหน่วยงานที่ชงเรื่องนี้ให้กับรัฐบาล จนขณะนี้ได้รับการยอมรับ  เพราะปัจจุบันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน   เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) คือการดูดก๊าซคาร์บอนไดออไซด์จากอากาศมาเก็บไว้ แล้วนำไปใช้ประโยชน์ ได้กลายเป็นเทรนด์สำคัญของโลกไปแล้ว รวมถึงเรื่องไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต

“ไฮโดรเจนสีเชียว เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับการลงทุนด้านไฮโดรเจน เช่น การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) หรือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Micro Modular Reactor: MMR) นอกจากนี้ สอวช. ยังมีการดำเนินงานเกี่ยวกับชีววิทยาสังเคราะห์ หรือ SynBio (Synthetic Biology) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่าต้องขับเคลื่อนในทิศทางนี้ “

ในภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา สอวช. ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น โครงการ Semiconductor และ AI เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง โครงการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์พลังงานสะอาด เป็นต้น และส่วนที่เป็นนโยบายของรัฐบาล เช่น Soft Power สอวช. ก็มีทีมที่ทำเรื่องนี้โดยตรงเช่นกัน

แน่นอนว่า การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะต้องมีงานวิจัยเป็นพื้นฐานผอ.สอวช.กล่าวว่า ในฐานะกระทรวงส่งเสริมด้านนี้ อว.ได้มีกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งได้รับงบประมาณปีละ 20,000 ล้านบาท เพื่อจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานให้ทุน 9 หน่วย โดยแบ่งเป็น 70% สำหรับการวิจัยที่ตอบโจทย์ประเทศ และ 30% เป็นการวิจัยพื้นฐานที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ โดยคำนึงว่า เราไม่เพียงทำงานวิจัย แต่ต้องทำให้เกิดผลลัพธ์จริง เช่น นโยบายผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise : IDE) โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวน IDE ในระบบเศรษฐกิจให้ได้ 1,000X1,000 คือผู้ประกอบการ 1,000 ราย สามารถขยายธุรกิจให้เกิดรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท โดยขณะนี้คืบหน้าไปมาก และโครงการ University Holding Company ที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนานวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ได้

อย่างไรก็ตาม มีการพูดกันมากว่า งานวิจัยบางเรื่องมีความซ้ำซ้อน  ในเรื่องเดียวกันแต่มีหลายหน่วยงานทำวิจัย  ดร.สุรชัย ยอมรับว่าประเด็นนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เช่น การวิจัยเรื่องข้าว อาจมีการวิจัย 3หน่วยงาน แต่แบ่งประเด็นกันบางหน่วยอาจวิจัยเรื่องดอก ต้น อีกหน่วยงานวิจัยเรื่องผลผลิตหรือดิน เป็นต้น ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้มาเริ่มคิดว่าจะต้องมีการแก้ปัญหาที่เป็น pain point ตรงนี้ โดยสอวช.กำลังมองเรื่องการปรับปรุง พ.ร.บ.ของสอวช.เกี่ยวกับ ผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้งานวิจัยทำกันแบบต่อเป็นท่อนๆ และซ้ำซ้อนกัน  

“เรามองว่าจะต้องออกกฎ ถ้าหน่วยงานใดเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ จะต้องทำวิจัยตั้งแต่ต้นจนจบ อย่างในเรื่องสำคัญของประเทศ PM2.5  ถ้าหน่วยงานไหนเชี่ยวชาญก็จะต้องเป็นผู้ทำวิจัยรายเดียว ไม่กระจายไปหน่วยงานอื่นๆหลายหน่วยอีก”

ปัญหาภาคผลิตขาดแคลนแรงงานที่ตรงกับความต้องการ ก็เป็นอีกประเด็นที่ สอวช. กำลังเร่งผลิตกำลังคนเพื่ออุดช่องโหว่ตรงนี้   ดร.สุรชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสอวช. ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ริเริ่มโครงการ “Higher Education Sandbox” ซึ่งเป็นการพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนากำลังคนโดยไม่ติดข้อจำกัดในการจัดการศึกษา ซึ่งได้อนุมัติหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาทักษะให้ตรงกับตลาดแรงงาน เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่นักศึกษาสามารถเรียนและออกไปทำงานได้เลยโดยไม่ต้องรอให้จบ 4 ปี และยังสามารถเก็บหน่วยกิตไว้ในธนาคารหน่วยกิต ให้สามารถกลับมาเรียนต่อและรับใบปริญญาบัตรได้ นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังได้มีแนวคิดในการจัดทำ Skill Mapping วิเคราะห์ว่าตลาดแรงงานต้องการอะไร เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการจริง

“เราไม่ได้ขาดแคลนบัณฑิต แต่ปัญหาคือคุณภาพและความสอดคล้องกับตลาดแรงงาน เราจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ทำ Skill Transcript วิเคราะห์ว่าทักษะอะไรเป็นที่ต้องการ โดยขณะนี้มีมหาวิทยาลัยที่เริ่มดำเนินการแล้ว และกำลังจะขยายผลไปสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เตรียมเดินหน้าโครงการ Skills Future Thailand โดยอิงแนวทางจากสิงคโปร์ ที่ให้คูปองสนับสนุนแรงงานพัฒนาทักษะตามอาชีพเป้าหมาย” ดร.สุรชัย กล่าว

“บทบาทของเราคือ ร่วมพัฒนาประเทศด้วยความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานชี้ทิศทางนโยบายด้าน อววน. ของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนแล้ว ในฐานะเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อยากให้สภานโยบาย เป็นสภานโยบายของทั้งประเทศ ไม่เฉพาะ กระทรวง อว. เท่านั้น แต่สามารถทำงานกับกระทรวงต่าง ๆ ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมได้ โดยมี กระทรวง อว. เข้าไปช่วยเสริม”

เพิ่มเพื่อน