พณ.รับสินค้าต้นทุนสูงขึ้น จ่อขยับราคาให้เป็นรายๆ

"พาณิชย์" ยอมรับหลายสินค้าต้นทุนสูงขึ้นมากจริง จากผลกระทบรัสเซีย-ยูเครน แต่ยันพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป ต้องดูข้อเท็จจริงมีเอกสารหลักฐานยืนยันชัดเจน เตือนห้ามค้ากำไรเกินควร ผู้ผลิตรายใดแจ้งข้อมูลเท็จมีความผิด วอน ปชช.เข้าใจต้นทุนพุ่งเพราะสงคราม และเตรียมมาตรการลดค่าครองชีพไว้แล้ว

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าในประเทศว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในรายงานสถานการณ์ราคาสินค้ามาให้ทราบทุกวัน โดยเฉพาะสินค้าที่สำคัญต่อการอุปโภคบริโภค 18 หมวด ซึ่งส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดราคาทรงตัว โดยเฉพาะหมวดอาหารสดทั้งหมูเนื้อแดงและไก่ ขณะที่บางรายการราคาลดลงเช่นไข่ไก่ แต่ยอมรับว่าบางรายการขอปรับขึ้นราคามาแล้ว เช่นนมและผลิตภัณฑ์จากนม 1 ราย แต่ยังไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา รวมถึงอาหารกระป๋องที่ขณะนี้ต้นทุนกระป๋องสูงขึ้น เพราะราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้น  40-45% จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก  

"สำหรับอาหารสัตว์ต้นทุนสูงขึ้นจริง ทั้งข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะแหล่งผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลกคือยูเครนอยู่ในภาวะสงคราม ส่งผลต่อปริมาณในตลาดโลกและผลักดันให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องเป็นหลักในการแก้ปัญหา แต่ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันแล้ว เช่นหาทางลดต้นทุนการผลิตเพื่อลดผลกระทบต่อกลุ่มผู้ใช้ เช่นผู้เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น" นายจุรินทร์กล่าว

รมว.พาณิชย์กล่าวว่า วันที่ 15 มี.ค.นี้ ทราบว่า ปลัดทั้ง 2 กระทรวงจะหารือร่วมกัน โดยจะต้องดูข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ลึกถึงต้นทุน และมาตรการต่างๆ ที่ควรนำมาใช้ให้ต้นทุนการผลิตด้านปศุสัตว์ปรับลงมาได้ รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค คิดว่าในภาวะนี้ทุกฝ่ายเริ่มเข้าใจและเห็นภาพว่าเป็นภาวะสงคราม แม้จะไม่เกิดบ้านเรา แต่มีผลกระทบไปทั่วโลก เห็นทันตาว่ากระทบอะไรบ้าง รัฐบาลต้องมาดูในสิ่งที่คิดว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

ส่วนกรณีที่ผู้ผลิตสินค้าหลายรายการ ทั้งปุ๋ยเคมี, อาหารสัตว์, อาหารกระป๋อง และวัสดุก่อสร้าง จะขอปรับขึ้นราคาขายเพราะต้นทุนวัตถุดิบขึ้นราคา จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาอย่างเป็นธรรมเพื่อให้เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภคอยู่ร่วมกันได้ แต่การจะให้ขึ้นราคาหรือไม่จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ไม่ใช่ให้ขึ้นได้ทั้งหมด เพราะแต่ละรายได้รับผลกระทบต่างกัน รวมถึงได้เตรียมมาตรการช่วยลดค่าครองชีพประชาชนไว้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน โดยขายสินค้าราคาประหยัดออกมาแล้วถึง 16 ล็อต สามารถช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชนได้

 “การจะให้ขึ้นราคาหรือไม่ต้องดูที่ข้อเท็จจริง มีเอกสารหลักฐานยืนยันชัดเจน ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก และถ้าพบว่าผู้ผลิตรายใดแจ้งข้อมูลเท็จจะมีความผิดแน่นอน กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาเป็นหมวดสินค้าและเป็นรายๆ ไป เชื่อว่าราคาสินค้าจะมีทั้งทรงตัว ปรับขึ้น และลดลง ไม่ได้มีขึ้นอย่างเดียวแน่นอน” นายจุรินทร์กล่าว

 ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า วันที่ 15 มี.ค.นี้จะหารือกับกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาข้อเท็จจริงของสถานการณ์ปุ๋ยเคมีและอาหารสัตว์ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เพื่อหาทางแก้ปัญหาและลดผลกระทบให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่อยากให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่า หากต้นทุนผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาขาย ไม่มีใครอยากขึ้นราคาในภาวะที่กำลังซื้อยังน้อยอยู่ เพราะอาจทำให้ขายสินค้าได้น้อยลง อีกทั้งประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ถ้ารายใดขึ้นราคาก็สามารถซื้อจากรายอื่นได้อยู่แล้ว

  “ในภาวะสงครามซึ่งเป็นสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ ทั่วโลกได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด อยากให้ประชาชนเข้าใจด้วย ถ้าจะมีสินค้าปรับขึ้นราคา นั่นก็เพราะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจริงๆ ถ้าเราไม่ยอมให้ผู้ประกอบการขึ้นราคา เขาก็อาจไม่ผลิตสินค้า เพราะขายได้ไม่คุ้มทุน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนได้ กระทรวงพาณิชย์จึงต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกร  ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค และการให้ขึ้นราคาจะต้องสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง จะไม่ให้มีการฉวยโอกาสค้ากำไรเกินควรแน่นอน” ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง