ฉีดเข็ม4ไม่พบเสียชีวิต อย่าลังเลรีบไปรับวัคซีน

ไทยติดเชื้อ 2.3 หมื่นราย เสียชีวิตเพิ่ม 88 ใส่ท่อช่วยหายใจ 514 ราย สธ.เผยประสิทธิภาพวัคซีนเข็ม 3 ป้องกันเสียชีวิต 98% ส่วนเข็ม 4 ยังไม่พบตาย ฉะนั้นอย่าลังเลรีบไปฉีดวัคซีน ระบุสาเหตุเสียชีวิตเพิ่มมาจากการติดเชื้อที่มากขึ้น

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นการติดเชื้อในประเทศ 23,441 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 23,118 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 239  ราย มาจากเรือนจำ 46 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 38 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 3,377,410 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น  23,153 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 3,112,737 ราย อยู่ระหว่างรักษา  240,339 ราย อาการหนัก 1,464 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 514 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 88 ราย เป็นชาย 44 ราย หญิง  44 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 66 ราย มีโรคเรื้อรัง 17 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 24,334 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 471,069,142 ราย เสียชีวิตสะสม 6,101,013 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 21  มี.ค. ประกอบด้วย กทม. 2,870 ราย, นครศรีธรรมราช 1,625 ราย, ชลบุรี 1,128 ราย,  สมุทรสาคร 908 ราย, สมุทรปราการ 865 ราย,  ระยอง 737 ราย, พัทลุง 547 ราย, สงขลา 533 ราย, ฉะเชิงเทรา 524 ราย และราชบุรี 519 ราย 

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท  ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์ติดเชื้อรายวันเฉลี่ย 14 วันอยู่ที่  23,540 ราย โดยผู้ป่วยรุนแรงที่มีอาการปอดอักเสบอยู่ที่  1,464 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 514 ราย เสียชีวิตรายงานวันนี้ 88 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยปอดอักเสบไต่ลำดับต่อเนื่องมาจาก 2 สัปดาห์ที่แล้ว ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจก็เพิ่มขึ้นจาก 2 สัปดาห์เช่นกัน รวมทั้งตัวเลขเสียชีวิตเป็นที่ทราบกันดีว่า จำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจะมีระยะเวลาตามหลังจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นที่คาดไว้และอยู่ในระดับที่รับมือได้ในกราฟเส้นสีเขียว

จำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้ 88 ราย เป็นชายและหญิงอย่างละ 44 ราย โดยมีปอดอักเสบรุนแรง 74 ราย ไม่ระบุปอดอักเสบ 14 ราย โดยกลุ่ม 608 อายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรังสูงถึง 94% หรือ 83 ราย ซึ่งสิ่งที่ต้องย้ำคือในตัวเลข  88 ราย ปรากฏว่าไม่ได้รับวัคซีนถึง 46 ราย หรือ 52%  ทั้งที่ในประเทศไทยได้วัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 80% เข็มที่ 2  ก็ใกล้ๆ กัน ซึ่งที่ยังไม่ได้ฉีดก็น่าจะประมาณ 20% แต่คนที่เสียชีวิตสูงถึงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งน่าเสียดายที่ขาดโอกาสได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิผล จึงต้องขอให้มาฉีดวัคซีนกัน ส่วนการฉีดวัคซีนไม่ครบ หรือรับ 1 เข็ม  มี 7 ราย หรือ 8% จากผู้เสียชีวิตวันนี้ 88 ราย

นพ.เฉวตสรรกล่าวอีกว่า ลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้เสียชีวิตข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-19 มี.ค.65 จำนวน  2,464 ราย พบเป็นผู้สูงอายุเฉลี่ย 73 ปี แต่ยังมีคนอายุน้อยเช่นกัน น้อยสุดคือ 3 เดือน อายุมากที่สุด 107 ปี โดยมีผู้เสียชีวิตที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ด้วยอีก 2 ราย ซึ่งเป็นอีกกลุ่มสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีโรคประจำตัวมีถึง 2,135 ราย โดยโรคที่เจอมากสุดคือความดันโลหิตสูง รองลงมาคือเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง  โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคอ้วน ภาวะอุดกั้นปอดเรื้อรัง

 “ขอย้ำว่าภาพรวมของผู้เสียชีวิต 57% ไม่ได้ฉีดวัคซีน  ส่วนฉีด 2 เข็มมีประมาณ 31% เพราะเวลาฉีดวัคซีนวงกว้าง บางท่านมีโรคประจำตัว มีเหตุอย่างอื่น วัคซีนก็ไม่ได้ป้องกันเต็ม 100% แต่ถือว่าใกล้เคียงและป้องกันการเสียชีวิตได้มาก"

นพ.เฉวตสรรกล่าวอีกว่า กรณีปอดอักเสบกำลังรักษาใน รพ. ระลอกเดือน ม.ค.65 วันที่ 14 มี.ค.-20 มี.ค. พบว่า กรุงเทพฯ มี 193 รายที่ปอดอักเสบต้องนอน รพ. นอกนั้นจะต่ำกว่า 100 ราย ทั้งสมุทรปราการ 87 ราย, นครราชสีมา 61 ราย และนครศรีธรรมราช 57 ราย อย่างไรก็ตาม อัตราการครองเตียงภาพรวมของประเทศอยู่ที่  25.80% ซึ่งยังมีเตียงว่างอยู่อีกกว่า 75% จึงมีความพร้อมในการรองรับผู้ที่มีอาการหนักได้มากพอสมควร โดยกรุงเทพฯ มีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 31.40%  สมุทรปราการอัตราครองเตียง 44% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผลเบื้องต้นจากการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนโควิดที่ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่เดือน ม.ค.และ ก.พ.65 ในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อโอมิครอน เป็นดังนี้ กรณีฉีดวัคซีน 2 เข็มในช่วงเดือน ม.ค.65 และ ก.พ.65 ไม่สามารถป้องกันโอมิครอนได้ กรณีฉีดวัคซีน 3  เข็มในเดือน ม.ค.65 ป้องกันติดเชื้อ 68% และเดือน ก.พ.ป้องกันได้ 45% กรณีฉีดวัคซีน 4 เข็ม เดือน ก.พ.ป้องกันได้ 82% แต่จุดสำคัญคือป้องกันการเสียชีวิต

ในส่วนตัวเลขการป้องกันการเสียชีวิต เป็นดังนี้ กรณีฉีดวัคซีน 2 เข็มในเดือน ม.ค. ป้องกันการเสียชีวิตได้ 93%  และเดือน ก.พ. 85% กรณีฉีดวัคซีน 3 เข็มในเดือน ม.ค. ป้องกันการเสียชีวิตได้ 98% และเดือน ก.พ.ได้ 98% กรณีฉีดวัคซีน 4 เข็ม ยังไม่มีผู้เสียชีวิตในผู้ที่ได้วัคซีน 4 เข็ม

นพ.เฉวตสรรยังกล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขผลเบื้องต้น การประเมินประสิทธิผลของวัคซีนในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงระดับประเทศของเดือน ม.ค.65 พบว่าการป้องกันการติดเชื้อหากฉีด 2 เข็มป้องกันได้ 4.1% ซึ่งต่ำมากเหมือนไม่ป้องกัน ส่วน 3 เข็มป้องกันได้ 56% และ 4 เข็มป้องกันได้  84.7% แต่หากป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต เมื่อฉีดวัคซีน 2 เข็มป้องกันได้ 54.8% หากฉีด 3 เข็มป้องกันได้  88.1% แต่กรณีป้องกันการเสียชีวิตพบว่า 2 เข็มป้องกันได้สูงถึง 79.2% ส่วนหากฉีดวัคซีน 3 เข็มจะป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 87%

 "วัคซีนเข็ม 3 จึงป้องกันการเสียชีวิตได้มาก ประชาชนอาจมีข้อสงสัยลังเล หรือไม่แน่ใจว่าควรแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในผู้สูงอายุหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหากมีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยชีวิตคนได้ แต่หากข้อมูลไม่ถูกต้องอาจทำให้ขาดโอกาสเข้าถึงวัคซีน และมี 50-60% ของผู้เสียชีวิตที่พลาดโอกาสการรับวัคซีนตรงนี้" นพ.เฉวตสรรกล่าว

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า วัคซีนและเจ้าหน้าที่เรามีพร้อม ตอนนี้ที่ไม่พร้อมคือผู้ที่ยังไม่รับวัคซีน เราก็ใช้กลไก อสม.ให้ไปรณรงค์ ขอให้ผู้นำศาสนาช่วยรับรองความปลอดภัยของวัคซีน เพราะหากไม่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อร่วมกับโรคร้ายแรงอื่น แม้เราจะมียาก็เอาไม่อยู่ เราจึงต้องมีวัคซีนนำไปก่อน ขณะที่ยาเราก็เตรียมไว้หมดทั้งฟาวิพิราเวียร์, โมลนูพิราเวียร์ และกรมการแพทย์ก็กำลังจะซื้อแพกซ์โลวิด ดังนั้นการรักษามีครบ แต่เราป้องกันได้ก็อยากให้เราป้องกัน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เน้นคำนึงถึงทุกปัจจัยอย่างครอบคลุม ทั้งประสิทธิภาพ ความปลอดภัย  ความสามารถในการจัดหาเวชภัณฑ์ การจัดระบบบริการรองรับผู้ป่วยให้สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทั่วถึง

เขากล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยืนยันถึงประสิทธิภาพยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย.ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ พบว่าผู้ป่วยหลายรายมีอาการดีขึ้น มีผลการรักษาที่ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาและควบคุมป้องกันโรคจึงพิจารณาให้นำยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ประกอบกับไทยสามารถจัดหายาฟาวิพิราเวียร์จำนวนมากได้เองในราคาที่ไม่แพง ยืนยันว่าไม่มีการนำยาที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือเป็นอันตรายมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมต.ใหม่ถวายสัตย์ เศรษฐานำเข้าเฝ้าฯ3พ.ค. แม้วควงสุวัจน์ทัวร์ภูเก็ต

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ "มาริษ" เป็น รมว.ต่างประเทศ "นายกฯ" เตรียมนำ รมต.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ 3 พ.ค.นี้