‘คลัง’ไม่กู้เพิ่ม หวั่นลดเครดิต ยันงบเพียงพอ

“อาคม” ยันไม่กู้เงินเพิ่มกระตุ้นเศรษฐกิจโต แจงกู้เกินตัวทำต่างชาติมองไม่ดี กระทบต้นทุนกู้เงินภาครัฐ-เอกชนทันที พร้อมถก ธปท. ประเมินกรอบเงินเฟ้อทั้งปี ด้าน “ธปท.” ชี้ ศก.ไตรมาส 1/65 ยังฟื้นตัว แต่แผ่วกว่าไตรมาสก่อน มองไตรมาส 2/65 ยังไปได้ อานิสงส์เทศกาลสงกรานต์หนุน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2565 ลดลงเหลือ 3.2% จาก 3.4% และปี 2566 ลดลงเหลือ 4.4% จากเดิม 4.7% ว่า ไม่ได้หมายความรัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เท่าเดิมเสมอไป และเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท ก็ยังเหลืออยู่ 5-7 หมื่นล้านบาท ที่ยังเพียงพอดูแลเศรษฐกิจ

"การกู้เงินเกินตัวไม่จำเป็น เป็นความเสี่ยงทำให้ต่างชาติมองประเทศไทยไม่ดี และลดเครดิตของประเทศไทย ทำให้ต้นทุนการกู้เงินของเอกชนและรัฐบาลแพง ได้รับผลกระทบมากขึ้นไปอีก" นายอาคม กล่าว

นายอาคมกล่าวอีกว่า ได้หารือกับนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้าแล้ว เรื่องที่เสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้ชี้แจงว่าการกู้เงินต้องคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังในภาพรวมด้วย ซึ่งนายกรณ์ก็มีความเข้าใจเป็นอย่างดี ตอนนี้เศรษฐกิจขยายตัวได้แล้ว ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการเริ่มกลับมาดำเนินการได้ ถึงแม้ว่ายังไม่เหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด ทำให้รัฐบาลต้องลดการออกมาตรการช่วยเหลือที่เป็นภาระกับเงินกู้ลง

รมว.การคลังกล่าวอีกว่า เรื่องกรอบอัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะเกิน 1-3% หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่จะต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนว่าราคาน้ำมันและราคาอาหารที่แพงขึ้นจะส่งผลกระทบยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน หรือเป็นภาวะชั่วคราว ซึ่งก็อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีไม่เกิน 3% ก็ไม่มีความจำเป็นต้องปรับกรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อ โดยในระยะสั้นรัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพ การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ช่วยจ่ายค่าน้ำมันเบนซินให้กับวินมอเตอร์ไซค์เป็นเวลา 3 เดือน น่าจะช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนไม่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ทั้งปีเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบอยู่

"ในช่วงสั้นบางเดือนอัตราเงินเฟ้ออาจจะสูงเกินกรอบบน 3% ไปบ้าง แต่ทั้งปีต้องดูระยะยาวว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีการหารือกับ ธปท. เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าราคาน้ำมันยังส่งผลกระทบกับเงินเฟ้อไทยในไตรมาส 2 ส่วนไตรมาส 3 ยังไม่แน่ใจ แต่ไตรมาส 4 คาดว่าจะทุเลาลง ซึ่งเรื่องสงครามเป็นเรื่องที่ประเมินยาก" นายอาคมกล่าว

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.2565 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในหลายหมวด เช่น หมวดที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และหมวดสินค้าเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะน้ำตาลที่ผลผลิตในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ยังได้รับผลดีจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการกลับมาเปิดให้ลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน เป็นผลจากสถานการณ์การระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศที่กลับมารุนแรงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานและราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้าง อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐยังเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงการใช้จ่ายของครัวเรือน

ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยลดลงจากด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ ขณะที่ด้านก่อสร้างค่อนข้างทรงตัว การผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียม และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับทิศทางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิง

น.ส.ชญาวดีกล่าวอีกว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและอาหารสด รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เร่งขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูปตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงจากเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น ขณะที่ดุลรายได้ บริการ และเงินโอนยังขาดดุลต่อเนื่อง ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านระบบ Test & Go อีกครั้ง

 “ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนมาจากทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศเศรษฐกิจมีพื้นฐานดี ส่วนต่างประเทศ มาจากปัญหาของรัสเซีย-ยูเครน และความกังวลต่อสถานการณ์บางช่วง ถ้าเทียบความผันผวนกับประเทศเพื่อนบ้าน ค่าเงินบาทก็ไม่ได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เกาะกลุ่มกันไป ไม่ได้ผันผวนมากเป็นพิเศษ ยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ” น.ส.ชญาวดีกล่าว

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2565 ภาพรวมยังฟื้นตัวได้ แต่ไม่ได้หวือหวาเมื่อเทียบไตรมาส 4/2564 ที่ฟื้นตัวดี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่ปัจจัยต่างๆ ยังอยู่ในช่วงคาดการณ์ ขณะที่ในสัญญาณไตรมาส 2/2565 คาดว่าฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยบวกจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหารัสเซีย-ยูเครน ความเชื่อมั่นนักลงทุน ก็ส่งผลต่อราคาพลังงาน การเพิ่มขึ้นของราคาต้นทุนและราคาสินค้า ต้องติดตามการส่งผ่านอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังไม่ได้เห็นการกระจายตัวเป็นวงกว้าง

น.ส.ชญาวดีกล่าวอีกว่า จากที่ได้เดินสายพูดคุยกับภาคธุรกิจในเดือน มี.ค. พบว่าการดำเนินธุรกิจโดยรวมทรงตัว บางภาคได้รับผลกระทบบ้าง หลักๆ ได้รับแรงกดดันจากโควิดโอมิครอน และต้นทุนการผลิตที่สูง ด้านภาคการผลิตดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าได้ ส่วนโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ใกล้เคียงเดือนก่อน ขณะที่การค้าแย่ลง อุปโภคบริโภค ชะลอบริโภคสินค้า เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง การลงทุนยังไม่ฟื้นตัว เพราะราคาวัสดุก่อสร้างสูง

สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.อยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัว กิจกรรมเศรษฐกิจได้รับแรงกดดันโควิดจากราคาพลังงานสูง โดย ธปท.จะติดตามการระบาดโควิด การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนราคาสินค้า และผลของความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนในเรื่องของการคว่ำบาตร ส่วนเงินบาทที่ผันผวนมาจากปัจจัยต่างประเทศมากกว่า ทั้งความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน ราคาทองสูงมีแรงขายบ้าง ทำให้เงินบาทในไทยผันผวน แต่ถ้าเทียบความผันผวนประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้สูงกว่าประเทศอื่น และไม่ได้ผันผวนผิดปกติ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินเศรษฐกิจไทยเติบโต 3.0% จากปัจจัยการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ยังมีอยู่ รวมถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงหลังเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน พร้อมยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ชี้น้ำมันดิบอาจแตะ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ระบุราคาน้ำมันแพงกระทบกิจกรรม-การเดินทางในช่วงสงกรานต์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง