สธ.จ่อแจงสายพันธุ์XE ยอดดับ97รายทำนิวไฮ

ไทยยังพบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 26,840 ราย ส่วนยอดเสียชีวิตทำนิวไฮอีกรอบ 97 ชีวิต มีผู้สูงอายุถึง 82 ราย กรมวิทยาศาสตร์ฯ เตรียมแจงยิบสายพันธุ์ XE โวไทยมีความพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงของไวรัส สบส.ลงดาบ รพ.เอกชนทำโครงการแจกฟาวิพิราเวียร์ฟรี ชี้ต้องให้หมอจ่ายยา

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 26,840 ราย ติดเชื้อในประเทศ 26,777 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 26,491 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 286 ราย,  มาจากเรือนจำ 23 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 40 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,711,595 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 23,412ราย​ ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  3,427,054 ราย อยู่ระหว่างรักษา 259,126 ราย อาการหนัก 1,838ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 752 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 97 ราย เป็นชาย 56 ราย หญิง 41 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 82 ราย มีโรคเรื้อรัง 13 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 25,415 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 2 เม.ย. 176,452 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 130,054,244 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 491,027,644 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,174,339 ราย  

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,095 ราย, ชลบุรี 1,300 ราย, นครศรีธรรมราช 965 ราย, สมุทรปราการ 922 ราย, สมุทรสาคร 893 ราย, ขอนแก่น 804 ราย, ระยอง 783 ราย, นครปฐม 742 ราย และนนทบุรี 712 ราย

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม BA.1 และ BA.2 หรือเรียกว่า XE (เอ็กซ์อี) ในไทย ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ก่อนหน้านี้คือเดลตาครอน ที่เป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างเชื้อเดลตากับโอมิครอน โดยในวันจันทร์ที่ 4 เม.ย. กรมวิทยาศาสตร์ฯ จะชี้แจงในรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง

“การติดเชื้อกรณี BA.1 ผสมกับ BA.2 ไม่ใช่การติดเชื้อแบบผสมที่ติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ใน 1 คน แต่เป็นการผสมพันธุ์เป็นตัวใหม่ที่มีองค์ประกอบ 2 สายพันธุ์อยู่ด้วยกัน หรือเรียกว่าไฮบริด ซึ่งครั้งนี้เป็นการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ย่อยโอมิครอนเหมือนกัน ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์ฯ มีระบบการตรวจจับสายพันธุ์ของโควิด-19 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว สัปดาห์ละ 500 ตัวอย่าง ซึ่งถือว่าเพียงพอในการดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้” นพ.ศุภกิจกล่าว

ศ.เกียรติคุณวสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คนไทยที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เอ็กซ์อี 1 รายนั้น ขณะนี้รักษาหายเรียบร้อยแล้ว และระหว่างติดเชื้อก็ไม่มีอาการอะไร และจากการตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกันมากๆ นั้นก็ไม่พบว่ามีการติดเชื้อ XE แต่อย่างใด

ส่วน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนรับยาฟาวิพิราเวียร์ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย  ว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นได้ เนื่องด้วยการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์นั้นต้องผ่านดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ใช้ ดังนั้น สบส.จึงได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกองกฎหมายดำเนินการตรวจสอบแล้ว พบว่ามี รพ.เอกชนในย่านบางปะกอกแห่งหนึ่ง โฆษณาแจกยาฟาวิพิราเวียร์ผ่านเว็บไซต์ โดยระบุให้ผู้รับบริการสแกนคิวอาร์โค้ดส่งประวัติการป่วยให้กับโรงพยาบาล ก็สามารถได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ภายใน 48 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมก็พบว่าการโฆษณาข้างต้นมิได้มีการขออนุมัติจากกรม สบส. รวมทั้งมีโฆษณาอื่นๆ ของโรงพยาบาลที่เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริง พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงมีหนังสือคำสั่งให้ระงับการโฆษณา และเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องมารับทราบการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในเรื่องของการโฆษณาแล้ว

นพ.ธเรศกล่าวอีกว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ถือเป็นยาสำคัญที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ ก็มิใช่จะจ่ายให้ผู้ป่วยทุกราย โดยกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ก็ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส เพราะสามารถหายเองได้ ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ การจะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ หากใช้อย่างไม่ระมัดระวังก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ ช่วงไตรมาสแรก การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ก็อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กทารกในครรภ์ได้ และในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ การใช้ยาก็อาจจะทำให้ตับทำงานหนักขึ้นได้ จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ทุกท่าน เข้ารับการวินิจฉัยและประเมินอาการจากแพทย์ เพื่อการรักษาและจ่ายยาที่เหมาะสมตามอาการ โดยไม่ควรจัดหาหรือซื้อยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้เองโดยเด็ดขาด

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอส่งมอบกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งญาติและครอบครัวผู้ป่วยให้ปลอดภัย   พร้อมมอบหมายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ติดตามสุขภาพจิตใจของประชาชน ที่อาจมีความเครียดและวิตกกังวลจากการที่ต้องดำรงชีพอยู่ร่วมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนาน โดยนายกฯ ให้ สธ.ให้คำแนะนำปรับรูปแบบการดูแลสุขภาพกาย-จิตของประชาชนในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม พร้อมพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตให้ตรงต่อความต้องการและสถานการณ์อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งนี้ รายงานการวัดระดับอารมณ์ผ่าน www.วัดใจ.com ของ สธ. ในช่วง 1 ม.ค.-10 ก.พ.2565 พบว่ามีสถานการณ์ที่ดีมากขึ้น โดยพบภาวะเครียดสูง 6.04%,  เสี่ยงซึมเศร้า 7.31%, เสี่ยงฆ่าตัวตาย 4.09% และมีภาวะหมดไฟ 4.4% ซึ่งดีกว่าช่วงเดือน ส.ค.2564 ซึ่งป็นช่วงที่ประชาชนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสูงสุดตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติ โดยมีภาวะเครียดสูง 45.5%, เสี่ยงซึมเศร้า 51.5%, เสี่ยงฆ่าตัวตาย 30.6% และมีภาวะหมดไฟ 17.6%  

วันเดียวกัน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ความกังวล และผลกระทบต่อคนไทย จากวิกฤตการณ์ของโลก โดยสอบถามจาก 1,113 ตัวอย่าง ซึ่งเมื่อถามถึงผลกระทบต่อคนไทยจากวิกฤตโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 87.7% ระบุมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก และ 86.3% ระบุมีส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจของคนไทย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือ 86.2% ระบุมีผลกระทบต่อการจ้างงาน ตกงาน ลดเงินและทำให้รายได้ลด, 85.7% ระบุมีผลกระทบต่อกลุ่มอาชีพที่ต้องสูญหายไปในช่วงวิกฤตโควิด และ 85.6% ระบุทำให้การใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น เช่น มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ต้องซื้ออุปกรณ์เพื่อดูแลรักษาสุขภาพ

และเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อทางออกในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 81.4% ระบุใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเคร่งครัดต่อเนื่องคือ ทางออกทุกวิกฤต รองลงมาคือ 77.5% ระบุประชาชนมีความเข้าใจถึงสถานการณ์วิกฤตนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แต่ประเทศไทย, 73.6% ระบุ เข้าใจว่าสถานการณ์แบบนี้ไม่ควรโทษหรือกล่าวหาใคร, 73.2% ระบุเข้าใจต่อความพยายามในการช่วยเหลือเยียวยาพยุงค่าครองชีพลดภาระในระยะสั้น,  70.2% ระบุรับรู้ว่ามาตรการช่วยเหลือเยียวยาด้านโควิดของรัฐบาล มีส่วนบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้น และ 69.4% ระบุรับรู้และเข้าใจว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้รับการยอมรับด้านการจัดการและการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง