ปิดฉากอาเซียนลงนาม25ฉบับ

ปิดฉากประชุมอาเซียนลงนามปฏิญญา 25 ฉบับ ส่งไม้ต่อ "กัมพูชา" นายกฯ ประกาศไทยพร้อมเปิดประเทศ โชว์วิสัยทัศน์อาเซียนมองไปข้างหน้าเร่งฟื้นฟูหลังโควิด-19 เตรียมไปอังกฤษกล่าวสุนทรพจน์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 18 ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และนายกรัฐมนตรีนเรนทร โมดี นายรัฐมนตรีอินเดีย โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีอินเดียกล่าวว่าอาเซียน-อินเดียเป็นความร่วมมือที่แนบแน่น แม้จะประสบความท้าทายจากโควิด-19 ซึ่งอินเดียยินดีให้ความร่วมมือกับอาเซียน เพราะเชี่ยวชาญด้านยาและเวชภัณฑ์ เพื่อให้ภูมิภาคผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ตลอดจนอินเดียให้ความสำคัญกับความเป็นเเกนกลางของอาเซียนในนโยบายมองตะวันออกของอินเดีย โดยเห็นว่าควรเพิ่มความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงในระดับประชาชน

นายธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเสนอให้มองไปข้างหน้ามากขึ้น ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือใน 3 ประเด็น ได้แก่ การส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนและยาต้านโควิด-19 อย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยินดีที่อินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยาและวัคซีนแหล่งสำคัญของโลกประกาศที่จะส่งออกวัคซีนอีกครั้ง เพื่อช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ในการกระจายยาและวัคซีน และเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยอาเซียนและอินเดียยังสามารถร่วมมือกันพัฒนายาและวัคซีน เพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในระยะยาวได้

นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมความเชื่อมโยงเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งสองฝ่าย ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้การค้าการลงทุนขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการทางหลวงสามฝ่าย ที่จะช่วยเติมเต็มเส้นทางเชื่อมโยงทางบกระหว่างอาเซียนกับอินเดีย และขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้และกลุ่ม BIMSTEC ซึ่งไทยจะเป็นประธานในปี ค.ศ.2022-2023 รวมทั้งการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ต้องสร้างความมั่นใจในเรื่องการเดินทางระหว่างกันอย่างสะดวกปลอดภัย และมีแนวทางรับรองเอกสารการฉีดวัคซีนร่วมกัน

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 13 (IMT-GT Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายอิซมาอิล ซับรี ยักกบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย, นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย, นายดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน และนายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธาน ADB เข้าร่วม โดยนายธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานการประชุม เชื่อมั่นว่าประเทศสมาชิกสามารถพัฒนาผ่านดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของ IMT-GT ได้อย่างมีศักยภาพ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19และเชื่อมั่นว่าจากความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนจะทำให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ ได้รวดเร็วขึ้น และแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม

นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ว่า ไทยได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และได้เตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศตั้งแต่เดือน ก.ค. ผ่านโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และโครงการ “สมุยพลัส โมเดล” ซึ่งความสำเร็จของโครงการถือเป็นเครื่องยืนยันว่าไทยมีความพร้อมที่จะเปิดประเทศ เชื่อมั่นว่าทั้งสามประเทศจะสามารถร่วมมือกันในลักษณะที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินโครงการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ให้ดียิ่งขึ้น นายกฯ ยังได้เสนอแนวทางความร่วมมือของ IMT-GT เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมการเกษตร, อุตสาหกรรมฮาลาล ในช่วงท้ายเน้นย้ำว่า การขับเคลื่อน IMT-GT ในระยะต่อไป ไม่เพียงแต่จะต้องตอบโจทย์วิสัยทัศน์ปี 2036 และเป้าหมายการพัฒนาของประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่จะต้องสอดรับกับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 4 พร้อมผู้นำสมาชิกอาเซียน และนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งนายธนกรกล่าวว่าประธานาธิบดีรัสเซียเน้นย้ำการเสริมสร้างความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประเด็นที่รัสเซียให้ความสำคัญคือการสร้างความร่วมมือที่มีพลวัตการเสริมสร้างความมั่นคงและการฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสองฝ่าย นอกจากนี้รัสเซียสนับสนุนการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค

นายกฯ กล่าวว่า ด้านการเมืองและความมั่นคง ไทยสนับสนุนให้รัสเซียพิจารณาส่งเสริมความร่วมมือที่สอดคล้องกับสาขาที่ระบุในมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก บนหลักการ 3 เอ็ม คือ การไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ด้านเศรษฐกิจ เห็นว่าอาเซียนกับรัสเซียยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก

ในช่วงเย็น มีพิธีปิดการประชุมอาเซียน สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ในฐานะประธานอาเซียน และได้ส่งมอบตำแหน่งให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งจะเป็นประธานในปี 2565 โดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ กล่าวถึงการหารือในช่วงเวลา 3 วันที่ผ่านมาว่า อาเซียนสร้างความก้าวหน้าร่วมกันในการตอบโต้สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ และสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการรับมือเพื่อดูแลสุขภาพจิตของประชาชนอาเซียน วางรากฐานในการรับมืออนาคต

ทั้งนี้ ผู้นำได้รับรองเอกสารทั้งสิ้น 25 ฉบับ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 38 และ 39 เช่น ปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันว่าด้วยข้อริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์และองค์รวมเพื่อเชื่อมโยงการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติของอาเซียน ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการธำรงระบบพหุภาคี ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยเศรษฐกิจภาคทะเล เป็นต้น

นายธนกรกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางนำคณะผู้แทนไทย ได้แก่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปเมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 ระหว่างวันที่ 1-2 พ.ย. 2564

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า ในการประชุมนายกรัฐมนตรีจะได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์ของไทยต่อความท้าทายสำคัญของโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะได้นำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงปารีส และย้ำให้ประชาคมโลกทราบถึงเป้าหมายของไทยและการดำเนินการที่แข็งขันของไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง