จ่อผ่อนคลายมากขึ้น ‘ศบค.’เคาะเปิดสถานบันเทิง-สธ.ลดเตือนภัยเหลือระดับ2

จับตานายกฯ นั่งหัวโต๊ะถก ศบค. 20 พ.ค. เตรียมผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มดี เลขาฯ สมช.เผย พิจารณาเปิดสถานบันเทิง ผับบาร์คาราโอเกะ ด้วย ขณะที่ สธ.ประเมินอาจลดระดับเตือนภัยเหลือระดับ 2 ปลายเดือน พ.ค.  "วิษณุ" รับขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกระยะ

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,305 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,271 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,254 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 17 ราย มาจากเรือนจำ 32 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,567 ราย อยู่ระหว่างรักษา 59,579 ราย อาการหนัก 1,104 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 536 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 42 ราย เป็นชาย 23 ราย หญิง 19 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 34 ราย มีโรคเรื้อรัง 7 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,394,915 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,305,699 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 29,637 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 525,038,045 ราย เสียชีวิตสะสม 6,294,792 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 2,566 ราย, บุรีรัมย์ 183 ราย, สุรินทร์ 161 ราย, อุบลราชธานี 158 ราย, ขอนแก่น 155 ราย, ชลบุรี 148 ราย, มหาสารคาม 146 ราย, ชัยภูมิ 127 ราย, ร้อยเอ็ด 110 ราย และกาฬสินธุ์ 110 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ครั้งที่ 8/2565 ในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคมนี้ โดยที่ประชุม ศบค.เตรียมพิจารณาในประเด็นต่างๆ ทั้งการเตรียมผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมเพิ่มเติม ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อลดลง อัตราการเสียชีวิตน้อยลง รวมทั้งอาจมีการพิจารณาปรับพื้นที่สีใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังประเมินว่า ภายในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ สถานการณ์โควิด-19 ของไทยจะเข้าสู่ระยะโรคลดลง และอาจพิจารณาลดระดับการแจ้งเตือนภัยจากระดับ 3 ในเวลานี้ เป็นระดับ 2 อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความจำเป็นที่ยังจะต้องมีมาตรการที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้กลุ่ม 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มนี้ได้ จะทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงได้อีก

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อเสนอของผู้ประกอบการให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมในวันที่ 20 พ.ค.ด้วย ที่ผ่านมาพิจารณามาหลายรอบ แต่กระทรวงสาธารณสุขยังมีความกังวลอยู่ แต่ในครั้งนี้น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยดูจากวิธีการจัดการตนเองเมื่อติดเชื้อเป็นไปด้วยดี คิดว่าน่าจะได้รับการพิจารณา

เมื่อถามว่า จะพิจารณาเปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศหรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนพิจารณา โดยจะดูพื้นที่ปลอดภัยเป็นหลัก และประเมินตามปัจจัยที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เรื่องนี้นายกฯ มอบแนวทางไว้นานแล้วว่าจะต้องพิจารณาจากปัจจัยใดบ้าง หากพื้นที่ใดพร้อม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข จะพิจารณาจากปัจจัยที่วางหลักเกณฑ์ไว้ สำคัญที่สุดคืออาชีพของคนไทยที่เกี่ยวข้อง 10 ล้านคน จะทำให้ธุรกิจขยับขยาย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สธ.ไม่ได้เสนอมาตรการผ่อนคลาย แต่จะเป็นเรื่องของการปรับระดับพื้นที่สีของแต่ละจังหวัด ซึ่งพิจารณาจากความรุนแรงของโรค หากความรุนแรงลดลงค่อนข้างผ่อนคลายก็จะลดระดับสี ซึ่งแต่ละพื้นที่สีจะผูกกับมาตรการทางสังคมที่ ศบค.กำหนดไว้อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าถูกลดระดับสีไป ก็จะสามารถดำเนินการอะไรต่างๆ ได้ตามลักษณะมาตรการทางสังคมที่กำหนดไว้ สำหรับการเสนอพื้นที่สีจะเสนอทั้ง 3 รูปแบบ คือ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า พื้นที่เฝ้าระวังสีเขียว และพื้นที่เฝ้าระวังสูงสีเหลือง ซึ่งสัดส่วนพื้นที่สีเขียวและสีฟ้าน่าจะใกล้เคียงกัน

 "ขณะนี้สถานการณ์โควิดในแต่ละจังหวัด หากแบ่งตามระยะที่จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น ขณะนี้ไม่มีระยะต่อสู้หรือขาขึ้นแล้ว ส่วนระยะทรงตัวเมื่อเดือนที่แล้วมีประมาณ 20 จังหวัด ตอนนี้เหลือประมาณ 5 จังหวัด คือ พะเยา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ยโสธร และอุทัยธานี และที่เหลือเป็นระยะขาลงแล้ว ซึ่งขาลงนั้นสอดคล้องกันในทุกตัวเลข ทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยอาการรุนแรง และเสียชีวิต" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

เมื่อถามว่า พื้นที่สีเขียวจะเปิดผับบาร์ได้เลยหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า เมื่อระดับของการควบคุมลดลง ตรงนี้ขึ้นกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในพื้นที่สีเขียวอาจต้องพิจารณาว่า จะสามารถประกอบกิจกรรมกิจการอะไรได้บ้าง และกิจการกิจกรรมเสี่ยงก็ต้องมีข้อกำหนดมาตรการทางสาธารณสุขกำกับเสมอ เพื่อไม่ให้ติดเชื้อแพร่เชื้อต่อไป ส่วนจะปรับลดการแจ้งเตือนภัยจากระดับ 3 เป็นระดับ 2 ด้วยหรือไม่ จะดูให้สอดคล้องกับมติ ศบค.ที่ออกมาก่อน แต่จะมีเรื่องของเงื่อนเวลาอยู่ด้วย

ถามอีกว่าจะเสนอ ศบค.เรื่องของโรคประจำถิ่นที่อาจเดินหน้าได้เร็วกว่าครึ่งเดือนหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า จะมีการรายงานให้ ศบค.ทราบ เนื่องจากตัวเลขดีกว่าในแผนประมาณ 2 สัปดาห์ เราก็จะดูตามเหตุการณ์ แต่คิดว่าวันที่ 1 ก.ค.นี้น่าจะเป็นไปได้สูง

แหล่งข่าวในสาธารณสุขรายงานว่า ในการประชุม สธ.มีการปรับระดับพื้นที่สีของแต่ละจังหวัด คือ พื้นที่สีฟ้าคงเดิม 17 จังหวัด พื้นที่สีเขียวจากที่ไม่มีก็เพิ่มขึ้นเป็น 14 จังหวัด และพื้นที่สีเหลืองเดิมมี 65 จังหวัด ลดลงเหลือ 46 จังหวัด ซึ่งจะขึ้นกับการพิจารณาของ ศบค.ในวันที่ 20 พ.ค.นี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อีก หลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 17 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ว่า สมช.จะมีการพิจารณา ซึ่งเท่าที่ตนทราบเบื้องต้น เขายังไม่ได้เริ่มพูดคุยกันถึงเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมลดระดับให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ก็คงจะทำให้ความจำเป็นต้องลดลงด้วย โดยอาจต่อเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งคงเป็นเวลาสั้นๆ แล้วค่อยหายไปในที่สุดก็ได้ 

เมื่อถามว่า แสดงว่าน่าจะต่อเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีกประมาณ 1 เดือน ใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า อะไรทำนองนั้น แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สมช.

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ยังไม่มีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แม้ ครม.มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2564 นายวิษณุกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะประกาศใช้เป็น พ.ร.ก.หรือนำไปจัดเป็นร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพราะจากสถานการณ์ขณะนี้ทำให้เห็นว่ามีความจำเป็นน้อยลงจากที่คิดไว้ตอนแรกๆ และอาจต้องนำ พ.ร.ก.ดังกล่าวมาปรับแก้ไขบางส่วนอีกครั้ง เนื่องจากตอนที่จัดทำร่าง พ.ร.ก.นั้นยังไม่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และคำว่า “โรคประจำถิ่น” ยังไม่มีอยู่ในกฎหมายฉบับใดเลย แต่ตอนนี้เรากำลังจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น จึงทำให้ยังไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร และสามารถใช้มาตรการใดได้บ้าง จึงอาจทำให้ต้องบรรจุมาตรการบางอย่างลงไปใน พ.ร.ก.ดังกล่าวก่อนจะนำไปประกาศใช้

ที่สำนักงาน สมช. นายคฑาวุธ ทองไทย (อ.ไข่ มาลีฮวนน่า) ประธานสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย นายกสมาคมศิลป์หอไตร ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการ สมช. เพื่อขอหารือในการช่วยเหลือผู้ประกอบการสถานบันเทิง และการเปิดบริการสถานบันเทิง ผับ บาร์ ว่า ขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.สุพจน์ ซึ่งไม่เคยนิ่งนอนใจต่ออาชีพของคนบันเทิง มีความห่วงใยและดูแลมาตลอด โดยมีการจัดพื้นที่จังหวัดโซนสีฟ้าให้สามารถดำเนินอาชีพได้ และขณะนี้ผู้ประกอบการ ภาคประชาชนมีความใจชื้นมากขึ้นที่ได้รับทราบว่า สถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย และประชาชนให้ความร่วมมือปฏิบัติมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ทำให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติต่อลูกค้าได้อย่างเต็มที่ และจนถึงขณะนี้ทุกคนทราบดีว่าเราจะต้องปฏิบัติตัวกันอย่างไรในการป้องกันตนเองทำให้ทิศทางดีขึ้นมาก ซึ่งเราเชื่อว่าเรามีความหวัง และจะรอเฮผลการประชุม ศบค. ในวันที่ 20 พ.ค.นี้ ซึ่งถ้า ศบค.มีมติผ่อนคลายให้ เราก็สามารถเปิดให้บริการได้ทันที เรามีความพร้อม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ