คาร์ม็อบไร้ผล คุกทานตะวัน ฝากขังรอบ8!

ศาลอาญาอนุญาตฝากขัง " ทานตะวัน" ต่ออีก 7 วัน หลังอัยการยื่นฝากขังครั้งที่ 8 อ้างเหตุตำรวจเพิ่งส่งสำนวน นัดไต่สวนประกันตัว 26 พ.ค.นี้  ขณะที่ม็อบ 3 นิ้วไปตะโกนหน้าศาลปล่อยเพื่อนเรา

เมื่อวันศุกร์ เวลา 15.00 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.) จัดกิจกรรมส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองประมาณ 100 คน ที่เดินทางด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (คาร์ม็อบ) มาถึงบริเวณหน้าศาลอาญาก็ได้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงเรียกร้องให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ในคดีหมิ่นสถาบันฯ มาตรา 112 ซึ่งตัวแทนคณะราษฎรได้อ่านจดหมายถึงศาล โปรดจงคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย

มีรายละเอียดเนื้อหาสรุปว่า การไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างเหตุหลบหนี ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และศาลมีช่องทางอื่นที่จะใช้ทดแทนการคุมขังได้ ยกตัวอย่างเช่นในคดีของเอกชัย หงส์กังวาน และสมบัติ ทองย้อย พบว่าทั้งสองคนไม่มีประวัติการหลบหนี แม้จะได้รับสิทธิในการประกันตัวมาตลอดก่อนจะมีคำพิพากษาของศาล และจำเลยทั้งสองคนก็ปฏิบัติตามคำสั่งและเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการมารายงานตัวตามนัดทุกครั้ง นอกจากนี้ในคำร้องขอประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมือง มีการระบุให้ติดอุปกรณ์กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (อีเอ็ม) เพื่อเป็นกลไกป้องกันการหลบหนี พร้อมทั้งให้ศาลกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติมอีกได้ แต่ศาลไม่ได้พิจารณาถึงมาตรการดังกล่าว และใช้มาตรการคุมขังเป็นหลัก

จากนั้นในช่วงท้ายตัวแทนคณะราษฎรจึงได้สั่งให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดชู 3 นิ้ว และตะโกนเสียงดังพร้อมกันหลายครั้งว่า “ปล่อยเพื่อนเรา คืนสิทธิประกันตัว” ต่อมาภายหลังได้ยื่นเอกสารจดหมายถึงศาล โดยมีเจ้าหน้าที่ศาลมาเป็นตัวแทนรับเอกสารดังกล่าวแล้ว ผู้ชุมนุมคณะราษฎรจำนวน 100 คน จึงเคลื่อนขบวนรถต่อไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง

โดยวันนี้ภายหลังทนายความยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 8 เเละที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแเล้ว

ในช่วงเย็น ศาลอาญาอ่านคำสั่งว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องและข้อคัดค้านของผู้ต้องหาแล้ว ได้ความจากพนักงานอัยการผู้ร้องว่า ผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.65  เวลาประมาณ 13.00 น.

ผู้ร้องจึงไม่อาจที่จะพิจารณาสั่งฟ้องได้ทัน ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ร้องต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการของทางสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน และได้ส่งสํานวนให้ทางคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วในวันเดียวกัน หลังจากได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน แต่ยังไม่ได้รับสำนวนกลับคืนมา

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลในครั้งนี้อีก 7 วัน และผู้ร้องยืนยันว่าผู้ร้องเองและคณะกรรมการฯ สามารถดำเนินการพิจารณาสั่งคดีได้ แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้

ผู้ต้องหาคัดค้านว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หากไม่ฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลก็ไม่ได้เป็นเหตุที่จะทำให้ผู้ร้องไม่สามารถที่จะพิจารณาสั่งคดีได้ ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขัง

ศาลเห็นว่าเมื่อผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.65 เวลาประมาณ 13.00 น. ทำให้ผู้ร้องไม่อาจพิจารณาสั่งคดีได้ทันและคดีนี้ก่อนฟ้องคดี ผู้ร้องต้องส่ง สำนวนให้คณะกรรมการฯ พิจารณาก่อน กรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นเพื่อการฟ้องคดี ส่วนที่ผู้ต้องหาคัดค้านว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุภยันตรายอย่างอื่น จึงไม่มีเหตุที่จะขังผู้ต้องหานั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้วในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือ มาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 66 บัญญัติว่าเหตุที่จะออกหมายจับได้ มีดังต่อไปนี้

1.เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ดังนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี  จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 (1) กรณีการฝากขังของผู้ร้องจึงไม่จำต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ว่าผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุ ภยันตรายอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 71 ประกอบมาตรา 26

2.ตามที่ผู้ต้องหาคัดค้าน จึงเห็นควรอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาในครั้งที่ 8 นี้ เป็นเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ 23-29 พ.ค.65 แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ต้องหาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106

โดยในส่วนคำสั่งประกันตัว ศาลอาญามีคำสั่งว่า ให้นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันพฤหัสบดีที่ 26 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. และให้ผู้ร้องเสนอพฤติการณ์พิเศษที่เป็นเหตุให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เช่น ผู้ร้องจะเป็นผู้กำกับดูแลพฤติการณ์ของผู้ต้องหาอย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้ผู้ต้องหาทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้อีก และหากผู้ต้องหาผิดเงื่อนไขผู้ร้องจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ให้ผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาเสนอเงื่อนไขให้ศาลพิจารณาประกอบในการปล่อยชั่วคราวก่อนหรือในวันนัด แจ้งพนักงานสอบสวนหากจะคัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านก่อนหรือในวันนัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับก่อนหน้านี้สำหรับการฝากขังครั้งที่ 7 ศาลเคยอนุญาตฝากขังเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งวันนี้ที่ศาลอนุญาตฝากขังอีก 7 วัน ก็จะครบอำนาจการคุมตัวตามกฎหมายที่ควบคุมได้ในชั้นฝากขัง 84 วัน หากพนักงานอัยการยังไม่สามารถยื่นฟ้อง น.ส.ทานตะวันได้ ก็จะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาทันที.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘โรม’ยันทำงานร่วมกับ‘ลุงป้อม’

"รังสิมันต์" ไม่การันตี "ลุงป้อม" ได้อภิปรายต่อจาก "หัวหน้าเท้ง" หรือไม่ ส่วน "เฉลิม" ยังไม่เห็นรายชื่อ ถามใช้เวลารัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ยันถล่ม "แพทองธาร"

แก้ม.112หลอน44สส. ข้องใจเร่งตอนซักฟอก

แก้ ม.112 ตามหลอน "รังสิมันต์” โวยใช้นิติสงคราม ป.ป.ช.จงใจหรือไม่ จัดกลุ่ม 44 สส.ตัวตึงพรรคสีส้ม จ่อถูกสอยช่วงใกล้ซักฟอก ลั่นเกลียดพวกเราได้