นายกไม่ขัดรธน. ใช้‘พรก.ฉุกเฉิน’ สั่งห้ามชุมนุมได้

มติศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 1 ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจนายกฯ ออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมมั่วสุม ไม่ขัดหรือแย้ง รธน. คกก.วินิจฉัยข้อมูลข่าวสารฯ สั่ง "บช.น." เปิดยอดกำลังพล-แก๊สน้ำตา-กระสุนยาง ที่ใช้คุมม็อบตั้งเเต่ปี 63 ถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ กรณีศาลแขวงดุสิตส่งคำโต้แย้งของจำเลย (นายปิยรัฐ จงเทพ​ หรือโตโต้) ในคดีหมายเลขดำที่ อ 1762/2563 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 (2) และมาตรา 11 (6) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว   หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และมาตรา 11 (6) ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชนนั้น ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้เผยแพร่ผลการประชุมของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะ 3 (กวฉ.คณะ 3) ซึ่งมี พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ เป็นหัวหน้าคณะ และมี พล.ต.ต. ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์, นายธนกฤต วรธนัชชากุล รองศาสตราจารย์วรรณภา ติระสังขะ และนายพีระศักด์ ศรีรุ่งสุขจินดา เป็นกรรมการ ในการประชุมครั้งที่ 10/2565 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565

โดยเป็นเรื่องการเปิดเผย “ข้อมูลจำนวนกำลังพลและเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างปี พ.ศ.2563 ถึงปัจจุบัน มีนายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโสสำนักข่าว The MATTER ผู้อุทธรณ์ ความว่า ผู้อุทธรณ์ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคู่มือในการปฏิบัติการควบคุมฝูงชนของตำรวจ จำนวนกำลังพล รวมทั้งจำนวนแก๊สน้ำตาและกระสุนยางที่เบิกมาและใช้ไปในการควบคุมฝูงชนในการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างปี พ.ศ.2563 ถึงปัจจุบัน (ยอดรวม และแยกเป็นรายเหตุการณ์ โดยแยกตัวเลข เบิกมา กับใช้ไป หรือส่งคืน) แต่หน่วยงาน A ปฏิเสธการเปิดเผยโดยให้เหตุผลว่า การเปิดเผยจะส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการยุติหรือให้เลิกการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ตามมาตรา 15 (2) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

คณะกรรมการวินิจฉัยฯ พิจารณาแล้วมีความเห็น ดังนี้ 1.คู่มือในการปฏิบัติการควบคุมฝูงชนของตำรวจ ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมีลักษณะเป็นคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารดังกล่าวไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 แม้ว่าบุคคลที่ขอข้อมูลจะไม่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธิเข้าตรวจดูได้ รวมถึงสามารถขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้เช่นกัน ตามมาตรา 9 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ดังนั้น คู่มือในการปฏิบัติการควบคุมฝูงชนของตำรวจจึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยได้

2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 41 (1) ได้บัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนในการได้รู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ ในการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ และมาตรา 59 ยังกำหนดหน้าที่ของรัฐในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการ ดังนั้น เมื่อพิจารณาแล้วการเปิดเผยยอดรวมทั้งหมดของจำนวนกำลังพล รวมทั้งจำนวนแก๊สน้ำตาและกระสุนยางที่ใช้ในการควบคุมฝูงชนในการชุมนุมทางการเมือง โดยไม่ระบุหรือแยกเป็นรายเหตุการณ์ จึงไม่กระทบกับความมั่นคงของรัฐ และมิได้ทำให้ผู้อุทธรณ์ทราบถึงอัตราการจัดกำลังพลและเครื่องมือที่นำมาใช้ในการควบคุมฝูงชนอันจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 15 (2) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และการเปิดเผยยังจะเป็นการแสดงถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงาน A ด้วย ดังนั้น จึงเปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้ถึงยอดรวมจำนวนกำลังพล รวมทั้งยอดรวมจำนวนแก๊สน้ำตาและกระสุนยางที่เบิกมา ใช้ไป และส่งคืน ในการควบคุมฝูงชนในการชุมนุมทางการเมือง 

ส่วนการเปิดเผยข้อมูลจำนวนกำลังพล และจำนวนแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง โดยแยกเป็นรายเหตุการณ์ และแยกตัวเลขเบิกมา กับใช้ไป หรือส่งคืน อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมการชุมนุมเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น รวมทั้งอาจไม่สามารถป้องกันเหตุความไม่สงบอันอาจเกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องจากการชุมนุม ตลอดจนอาจไม่สามารถทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนส่วนรวมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรา 15 (2) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ดังนั้นจึงไม่อาจเปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ทราบโดยแยกเป็นรายเหตุการณ์ ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยงาน A ดังกล่าว ที่คณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารคณะ 3 สั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนี้คือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)

สำหรับ กวฉ.คณะ 3 นี้ เป็นคณะที่เคยมีคำวินิจฉัยให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 2 และนายวิษณุ เครืองาม กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 2 ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง