เพื่อไทยขึงขังจ่อขับ ‘7ส.ส.งูเห่า’

เพื่อไทยรับไม่ได้ 7 ส.ส.แหกโผรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ "ชลน่าน" ลั่นจะไม่ปล่อยเป็นเยี่ยงอย่าง จะใช้พฤติกรรมแปรพักตร์เล่นงาน ขู่เคยขับส.ส.พ้นพรรคมาแล้ว เชื่อไม่กระทบกับการเลือกตั้ง "เกรียง" ฟันธงรอบหน้ากลุ่มงูเห่าศรีสะเกษสอบตกเรียบ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยกรณีมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย 7 คน (ส.ส.งูเห่า) โหวตสวนมติพรรคในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการอย่างไรว่า พรรคเพื่อไทยมีคณะกรรมการจริยธรรมและวินัยของพรรคอยู่ เรื่องนี้จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณา โดยจะดูข้อเท็จจริงและข้อบังคับพรรคเป็นหลักว่ามีการละเมิดข้อบังคับพรรคหรือไม่ แล้วนำไปสู่การลงโทษ

นพ.ชลน่านกล่าวว่า การโหวตลงคะแนนเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. เราคงใช้เป็นเหตุผลลงโทษไม่ได้ เพราะจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่เราจะดูพฤติกรรมอื่นประกอบว่ามีการไปสนับสนุนหรือไปทำกิจกรรมร่วมกับพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ เพราะถือเป็นพฤติกรรมไม่พึงปฏิบัติ ทำให้พรรคการเมืองเสียหาย ยืนยันเราเอาจริงกับเรื่องนี้ จะไม่ปล่อยไว้ให้เป็นเยี่ยงอย่างสำหรับผู้กระทำขัดต่อข้อบังคับพรรค โดยจะเห็นได้ว่าเราดำเนินการขับ ส.ส.ออกจากพรรคมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา

"ไม่ห่วงหากขับออกจะมีผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในปีหน้า แม้ว่า ส.ส.เหล่านั้นต่างเป็น ส.ส.เขต เพราะถ้าชัดเจนเขาไม่ยึดมั่นอุดมการณ์กับพรรค  เราก็มีตัวผู้สมัครที่ดีกว่ามาทดแทน และสามารถบอกประชาชนได้ว่าสิ่งที่เราดำเนินการเป็นตามเจตนารมณ์ที่จะรับใช้ประชาชนตามแนวทางของพรรค ถ้า ส.ส.ไม่มีอุดมการณ์ร่วมกับพรรค ก็ฝากประชาชนพิจารณาว่าจะยอมรับเขาหรือไม่อย่างไร และมั่นใจว่าประชาชนจะยึดมั่นกับพรรคมากกว่าตัวบุคคล" หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าว

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ได้ส่งข้อความผ่านทางไลน์แจ้ง ส.ส.ของพรรคทุกคน ระบุว่า เรียน ส.ส.ทุกท่าน ตามที่ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 โดยการลงมติในวาระที่ 1 มีสมาชิก จำนวน 7 คน ลงมติไม่เป็นไปตามมติพรรค ดังนั้นพรรคจึงขอดำเนินการให้สมาชิกทั้ง 7 คนออกจากไลน์กลุ่มทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ของพรรค และพรรคจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมต่อไป

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องมารยาททางการเมือง ถ้าทำแบบนี้ในการเลือกตั้งสมัยหน้าก็ต้องเปลี่ยนตัวผู้สมัคร เพราะมีผู้สมัครคนใหม่แล้ว ที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ทุกยุคทุกสมัย และส่วนใหญ่ที่ออกไปก็สอบตก เห็นได้จากในการเลือกตั้งปี 2562 ในพื้นที่อุบลราชธานี ก็เห็นแล้วไม่ใช่หรือ ศรีสะเกษก็คงเหมือนกัน จะสนใจอะไรคนที่หนีเรา ก็หาคนใหม่ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ก็มีคนออกจากพรรคน้อยบ้างมากบ้าง แต่เมื่อเลือกตั้งแล้ว ก็ได้ ส.ส.เหมือนเดิม คนใหม่เข้ามาก็ได้เป็น ส.ส. เที่ยวนี้ก็คงเหมือนกัน

สำหรับ 7 ส.ส. ประกอบด้วย 1.นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี 2.นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ 3.นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ 4.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก 5.นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ 6. นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก และ 7. นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า เกิดปรากฏการณ์มี ส.ส.งูเห่าให้เห็นอยู่หลายครั้ง เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติถึงเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติใดๆ จึงทำให้ ส.ส.แต่ละคนสามารถตัดสินใจโดยอิสระในการโหวตลงคะแนน โดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมติพรรคการเมืองที่สังกัด

เขาบอกว่า การฝ่าฝืนมติพรรคที่เกิดขึ้น พรรคการเมืองต้นสังกัดก็ไม่สามารถจะลงโทษให้พ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ สามารถทำได้แค่การขับไล่ออกจากสมาชิกพรรค และสามารถหาพรรคสังกัดใหม่ได้ภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นโอกาสของส.ส.งูเห่า หรือ ส.ส.กบฏเหล่านี้ สามารถที่จะเปลี่ยนสังกัดพรรคได้ตามใจชอบ ซึ่งแตกต่างกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี 2550 ที่มีความเข้มงวด ให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง ส่งเสริมให้ระบบพรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ถ้ามี ส.ส.คนใดฝ่าฝืนมติพรรค สร้างความเสื่อมเสียให้กับพรรค ก็สามารถขับออกจากพรรคและพ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ในทันที เว้นแต่ ส.ส.ที่ถูกขับออกจากสมาชิกพรรคยื่นอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณามติของพรรคการเมืองว่าชอบหรือไม่ ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาว่ามติพรรคไม่ชอบ ก็สามารถสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 30 วัน แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาว่ามติพรรคชอบด้วยข้อกฎหมาย ก็จะทำให้สิ้นสุดสมาชิกภาพส.ส.ทันที

อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า สำหรับปรากฏการณ์ ส.ส.งูเห่า หรือส.ส.กบฏที่เกิดขึ้นมากในสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ เพราะความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เปิดโอกาสให้ส.ส.ขายตัว ย้ายพรรคได้ตามใจชอบ เป็นทำลายระบบพรรคการเมือง และทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดสภาพมี ส.ส.ปัดเศษ จนเป็นที่มาของปรากฏการณ์แจกกล้วย ต่อรองทางการเมืองของกลุ่มพรรคเล็ก ทำให้พรรคเล็กมีบทบาทหรือตัวแปรทางการเมืองมากกว่าพรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นความบิดเบี้ยวของระบบการเมือง นับว่าเป็นความล้มเหลวและถอยหลังเข้าคลองของการเมืองไทย จากความอัปยศของรัฐธรรมนูญปี 2560 อีกครั้งหนึ่ง"

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระหนึ่งที่ผ่านมาว่า ในส่วนของพรรค  ภารกิจในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่สิ้นสุดอยู่แค่วาระหนึ่ง เนื่องจากส่วนสำคัญที่สุดในการพิจารณาลงลึกในรายละเอียดจะอยู่ในวาระที่สอง คือการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งจะมีการลงลึกในรายละเอียด ส.ส.ของพรรคที่เข้าไปร่วมเป็น กมธ.พร้อมทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยจะดูแลรายละเอียดภาพรวมทั้งหมด และจะมีการประสานกับ ส.ส.ทุกคนเพื่อแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นที่ได้รับมาจากประชาชนในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนทั่วไปด้วย เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในการจัดสรรงบประมาณให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้ถือเป็นปีสุดท้ายของวาระสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ เชื่อว่า กมธ.ทุกคนจะมุ่งมั่น ตั้งใจ จัดสรรงบประมาณเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด

นายราเมศกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวหานายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น ตนได้ฟังอภิปรายตลอดเวลา ไม่อยากกล่าวอะไรมากนอกจากคำว่า นักการเมืองที่ดีอย่ากลัวคำพูดที่หลุดจากปากตนเอง เพราะหากกลัวคำพูดของตนเองที่พูดออกไปแล้ว แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาด้านสติสัมปชัญญะ แต่กลับพยายามโยนความผิดให้คนอื่น เมื่อคิดขึ้นมาได้หลังจากพูดออกมาแล้วประชาชนจะเห็นความจริง และความคิดของนักการเมืองประเภทนี้มากขึ้น.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทวี' ยันไม่เคยได้ยิน เพื่อไทยจะเอาตำแหน่งประธานสภาฯ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมีกระแสว่าพรรคเพื่อไทยจะขอเก้าอี้ประธานสภา ว่า รัฐธรรมนูญได้มีการเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนถึงการเข้าดำรงตำแหน่งประธานสภาว่าเป็นเรื่องของสภา ส่วนเรื่องคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี