ถกศบค.จ่อขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ศบค.รายงานพบติดเชื้อใหม่เพิ่ม 2,366 ราย ไม่รวม ATK อีก 3,843 คน มีผู้เสียชีวิต 20 ราย “บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะถก ศบค.ชุดใหญ่ สธ.รายงานสถานการณ์แนวโน้มการแพร่ระบาด ไม่รอด! ผบ.ทบ.เกม ติดโควิดหลังกลับจากเยือนมาเลเซีย

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดว่า  พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2,366 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 4,538,811 ราย ไม่รวม ATK อีก 3,843 ราย สะสม 1,885,354 ราย อีกทั้งยังมียอดผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง

โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 20 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 9,080 ราย ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 30,778 ราย

นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่ 24,904 ราย ยอดผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,234 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 จำนวน 2,314,635 ราย

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ถึง 7 ก.ค.2565 พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 2,366 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ (ม.ค.2565) มีผู้ติดเชื้อสะสมไปแล้ว 2,315,376 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 8 ก.ค. เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จะเป็นประธานประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่ตึกสันติไมตรี โดยมีวาระสำคัญที่น่าสนใจ อาทิ กระทรวงสาธารณสุขจะรายงานสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย จะรายงานที่ประชุมถึงผลดำเนินงานเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร 

สำหรับเพื่อวาระพิจารณา ทางกระทรวงสาธารณสุข จะรายงานเรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการโรคโควิด-19 หลังการระบาดใหญ่ และแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในเดือนส.ค.65 ด้านสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะรายงานการขยายระยะเวลาประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านต่างๆ จะรายงานผลการดำเนินการ ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะต่อที่ประชุม ส่วนศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง จะรายงานเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงข้อเสนอ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอให้มีมาตรการบังคับสวมหน้ากากในพื้นที่ปิดว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะมีการหารือในวันนี้ (7 ก.ค.) ว่าจะเสนออย่างไร ก่อนที่จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 8 ก.ค. ทั้งนี้ การกำหนดหรือออกประกาศใดๆ ในส่วนมิติอื่นๆ จะขึ้นอยู่กับ ศบค. แต่ในส่วนของ สธ. เราคำนึงถึงในแง่การป้องกันการระบาดมาตลอด และคำนึงถึงการรักษาพยาบาลว่าหากมีผู้ติดเชื้อมาก อาจทำให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มตามสัดส่วน แม้สายพันธุ์ BA.4/BA.5 จะไม่รุนแรงก็ตาม แต่หากติดเชื้อเยอะอาจกระทบต่อศักยภาพเตียง ซึ่งตนติดตามข้อมูลเรื่องนี้ตลอด เพื่อประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 “การเสนอแนะข้อคิดเห็นในแง่ของการป้องกันเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการให้คำแนะนำ ไม่ถึงกับเกณฑ์บังคับ เพราะประชาชนมีความคิดเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นในแง่โรคระบาดโควิด ซึ่งการให้ข้อมูล ให้ความรู้ การควบคุมการระบาดเป็นหน้าที่ที่ สธ.ทำต่อเนื่อง และเราก็ให้ข้อมูลตลอดในการป้องกันตนเอง” นายสาธิตกล่าว

นายสาธิตกล่าวว่า ส่วนที่มีผู้ติดเชื้อรายงานผ่านระบบประมาณ 2-3 พันรายต่อวัน ซึ่งตัวเลขมากกว่านี้ เพราะข้อมูลที่เข้าระบบเป็นการรายงานที่มีการตรวจ RT-PCR เข้าสถานพยาบาลหรือการตรวจ ATK ที่มีการเข้าระบบรักษา แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่ติดเชื้อแต่ไม่ได้เข้าระบบ สถานการณ์ติดเชื้อตอนนี้ถือว่ามากจริง แต่ยังไม่รุนแรงเท่าระลอก ม.ค.ที่ผ่านมา แต่เราต้องการให้ข้อมูลประชาชนว่ามีคนติดเชื้อ จึงยังต้องระวังตัวเอง ส่วนประชาชนจะระวังแค่ไหน ก็จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเองในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน แต่อยากให้ตระหนักเรื่องการรวมกลุ่มกัน หรือในสถานบันเทิง หากปฏิบัติตามกรมอนามัย คือการทำ COVID Free Setting คือผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ทั้งสวมหน้ากากอนามัย ตรวจ ATK ผู้ให้บริการ ทำความสะอาดสถานที่ ฉีดวัคซีน เว้นระยะห่าง สิ่งเหล่านี้ต้องไม่ประมาท จะได้เป็นไปตามมาตรการ ซึ่งไม่ติดเชื้อจะดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงกองทัพบก จำนวน 6 คน ติดโควิด-19 หลังเดินทางกลับจากการไปเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของผู้บัญชาการทหารบกมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-1 ก.ค.ที่ผ่านมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' แจง 5 ข้อ พูดเรื่องผลกระทบการวัคซีนโควิดทำไม ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า