‘บิ๊กตู่’ผวาการ์ดตก/อภ.เร่งสำรองยา

ยอดติดเชื้อรายใหม่ 1,795  ราย เสียชีวิต 23 คน “บิ๊กตู่” ห่วง ปชช.การ์ดตก พบแนวโน้มป้องกันตัวเองลดลง “สธ.” วอนผู้ป่วยกักตัวให้ครบ 10 วัน หวั่นออกไปแพร่เชื้อ “สปสช.” ยันไม่ได้เลิกสิทธิรักษาโควิด “อภ.” เร่งสำรองยาเพิ่ม “หมอ” ชี้โอมิครอนทำปอดอักเสบน้อยกว่าเดลตา 5 เท่า “ชวน” ออกจาก รพ.แล้ว แต่ต้องกักตัวต่อถึง 21 ก.ค. “พท.” กระตุ้นนายกฯ ปรับแผนรับมือโควิดระลอกใหม่

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,795 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,795 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการทั้งหมด หายป่วยเพิ่ม 1,920 ราย อยู่ระหว่างรักษา 24,043 ราย อาการหนัก 789 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 348 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 23 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,554,978 ราย ยอดหายป่วยสะสม 4,499,975 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 30,958 ราย ทั่วโลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 565,308,928 ราย เสียชีวิตสะสม 6,382,233 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจอนามัยโพลของกรมอนามัย  เปรียบเทียบระหว่างเดือน มิ.ย.และเดือนก.ค.2565 พบประชาชนมีแนวโน้มพฤติกรรมการป้องกันโควิดลดลง โดยการเว้นระยะห่างลดลงจากร้อยละ 81.9 เป็นร้อยละ 78.7, การสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะ ลดลงจากร้อยละ 95.1 เป็นร้อยละ 94.8 และการล้างมือลดลงจากร้อยละ 89.7 เป็นร้อยละ 88.99 ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้โควิด-19 ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดการระบาด หลังช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 30%

 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ฝากเตือนประชาชนอย่าการ์ดตก เน้นปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุข สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่เสี่ยง เว้นระยะห่าง ล้างมือ และเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้สถานการณ์กลับไปรุนแรงอีก ซึ่งกำชับ สธ.ติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอดช่วงวันหยุดนี้อย่างใกล้ชิด” โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ

ขณะที่ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ 11) และโฆษก สธ. กล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มสถานการณ์โรคโควิดกำลังเพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องช่วยกันเข้มมาตรการป้องกันโรค เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อและรับเชื้อ จะช่วยให้การติดเชื้อลดลงและไม่เกิดเป็นระลอกใหญ่ขึ้นมาอีก

“โดยเฉพาะขอความร่วมมือผู้ที่ติดเชื้อโควิดแล้ว ทั้งที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตนเองที่บ้าน หรือเจอ แจก จบ ซึ่งจะได้รับยากลับมารับประทานที่บ้าน หรือโทรศัพท์เข้าระบบเพื่อให้จัดส่งยามาที่บ้าน หรือผู้ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้วให้กลับมาบ้านก่อนครบ 10 วัน ขอย้ำว่าให้กักตัวเองอย่างน้อย 10 วัน หากมีความจำเป็นจริงๆ ต้องออกจากบ้าน เช่น การเดินทางไปโรงพยาบาล ให้สวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดจนครบ 10 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ เนื่องจากขณะนี้พบผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งไม่ได้กักตัวจนครบตามกำหนด แต่ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อได้” โฆษก สธ.กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงกรณี สปสช.ประกาศปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.2565 ที่ผ่านมาว่า เรื่องที่ประชาชนกังวล สปสช.จะไม่จ่ายค่าบริการ หรือจะยกเลิกบริการที่เกี่ยวกับโควิด เช่น การตรวจคัดกรอง การดูแลแบบ Home Isolation, Community Isolation เป็นต้นนั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด ขอยืนยันประชาชนยังได้รับการดูแลที่เกี่ยวข้องกับโควิดเช่นเดิม

 “สาระสำคัญของการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นเพียงการเปลี่ยนแหล่งที่มาของงบประมาณที่ใช้เพื่อดูแลเกี่ยวกับโควิดเท่านั้น จากเดิมที่ใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน มาเป็นการใช้เงินจากแหล่งงบประมาณตามระบบปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโรคโควิดให้เป็นโรคประจำถิ่น หากผู้ป่วยใช้สิทธิบัตรทอง โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการที่ให้บริการเกี่ยวกับโควิดก็จะเบิกเงินตามระบบปกติของ สปสช. เหมือนโรคอื่นๆ หากเป็นผู้ป่วยในก็คือการจ่ายแบบ DRG หากเป็นผู้ป่วยนอก ก็จะจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบบัตรทอง ก็จะสามารถเข้าไปรับบริการได้ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเบิกจ่ายเงินระหว่าง สปสช.และหน่วยบริการ ไม่เกี่ยวกับการให้บริการประชาชนแต่อย่างใด” นพ.จเด็จกล่าว

เร่งสำรองยารับมือโควิด

ส่วน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.)  กล่าวถึงการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อรองรับหากเกิดสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ว่า อภ.ได้มีการบริหารจัดการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ รองรับสถานการณ์ต่างๆจำนวน 25 ล้านเม็ด โดยได้ดำเนินการจัดส่งกระจายตามการจัดสรรให้กับหน่วยบริการแม่ข่ายตามการจัดสรรของศูนย์ PHEOC อย่างต่อเนื่อง ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด หลังจากนั้น หน่วยงานแม่ข่ายจะทำการบริหารจัดการ และกระจายให้แก่หน่วยบริการลูกข่ายในแต่ละพื้นที่ต่อไป

 “อภ.ได้จัดหายาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 5 ล้านแคปซูล ได้ส่งมอบให้สำนักงานปลัด สธ.แล้วจำนวน 2 ล้านแคปซูล เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2565 อีก 3 ล้านแคปซูลอยู่ระหว่างการจัดหา คาดว่าสามารถส่งมอบได้ไม่เกินปลายเดือน ก.ค.นี้ รวมทั้งยังจะติดตามและประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้อย่างใกล้ชิด เพื่อทำการปรับแผนการสำรองทั้งการผลิตเอง และจัดหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการระบาดของโรคโควิด” รอง ผอ.อภ.กล่าว

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อมูลจาก ศบค.รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในโรงพยาบาลราว 1 หมื่นคน ปอดอักเสบประมาณ 800 ราย ส่วนยอดผู้ติดเชื้อรักษาแล้วดูแลตัวเองที่บ้าน คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 หมื่นรายนั้น สัดส่วนที่เป็นปอดอักเสบถือว่าค่อนข้างน้อย ประมาณร้อยละ 8 ของคนที่เข้า รพ. ถ้าเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่จะพบผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณร้อยละ 30-40 ดังนั้นการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนล่าสุดนี้ ถือว่ามีสัดส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาประมาณ 5 เท่า

"แต่ถ้าเทียบความรุนแรงของภาวะปอดอักเสบแล้วนั้น ไม่แตกต่างกันระหว่างสายพันธุ์โอมิครอนและเดลตา แต่สายพันธุ์โอมิครอนรอบนี้ คนที่ปอดอักเสบส่วนใหญ่เป็นคนที่มีสุขภาพไม่ค่อยดีอยู่แล้ว หรือเป็นกลุ่ม 608 และกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยเหตุผลต่างๆ และอีกประมาณครึ่งหนึ่งอาจจะได้รับวัคซีน 1 เข็มบ้าง 2 เข็มบ้าง ที่รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) ยังมีน้อยมาก ดังนั้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงยังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ขอให้ประชาชนไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากเพียงพอ เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต” รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าว

วันเดียวกัน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าอาการป่วยของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังติดโควิด-19 ว่า ขณะนี้แพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล และกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านแล้ว ภายหลังเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.65 โดยตลอดเวลาที่พักรักษาตัว มีอาการค่อนข้างน้อย สัญญาณชีพทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ปกติ ผลเอกซเรย์ปอดปกติ ไม่มีอาการรุนแรงแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 65 แพทย์ได้อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านได้

“นายชวนขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และทุกๆ ท่านที่ให้กำลังใจและแสดงความห่วงใยตลอดมา ซึ่งถ้าดูตามหลักเกณฑ์ใหม่เรื่องการกักตัว จะต้องกักตัว 10 วันหลังจากวันที่พบเชื้อ นายชวนเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลวันแรกคือ วันที่ 12 ก.ค. จะครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 21 ก.ค. คาดว่านายชวนน่าจะกลับมาทำหน้าที่ประธานสภาฯ ได้ในวันที่ 22 ก.ค.เป็นต้นไป โดยอาจไม่ทันวันที่ 19 ก.ค. ที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี แต่คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะรองประธานสภาฯ อีก 2 คนสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนได้” ที่ปรึกษาประธานสภาฯ กล่าว

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 2,000 คน ผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 20 รายต่อวัน จากการปรับระบบการรายงานเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงก็ตาม แต่เป็นการรายงานที่สวนทางกับข้อมูลจาก Worldometer ที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงติด 1 ใน 10 ของโลก อาจส่งผลกระทบต่อการรับมือและการใช้ชีวิตของประชาชนในภาพรวมได้

น.ส.อรุณีกล่าวว่า ปัจจุบันกลไกการสนับสนุนในด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงการเงินและบริการทางสังคมที่ประชาชนควรได้รับจากภาครัฐลดน้อยถดถอยลงกว่าช่วงก่อนๆ เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้ประชาชนที่สงสัยว่าติดเชื้อ ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยยืนยัน ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างที่รัฐบาลให้คำมั่นไว้ แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม ในต่างประเทศวัคซีน mRNA สายพันธุ์โอมิครอน (BA.1/2) จะเริ่มจัดส่งและฉีดให้กับประชาชนแล้วในเดือน ส.ค.เป็นต้นไป แต่ในประเทศไทยยังคงวนเวียนกับการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ยาโมลนูพิราเวียร์  ฟาวิพิราเวียร์ ที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยากลำบาก การเข้าถึงเตียงรักษาที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะผู้ป่วยหนักที่มีอัตราการครองเตียงในระดับสูงอีกครั้ง

“หากรัฐบาลและ สธ.มองว่าโรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ขอเสนอให้รัฐบาล โดย ศบค. 1.เปิดเสรีนำเข้าและการผลิตยาต้านไวรัสในทุกตัวให้กับเอกชน เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกและสามารถรักษาตัวได้อย่างทันท่วงที 2.กลุ่มเสี่ยง 608 ต้องสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสทันทีที่ยืนยันการติดเชื้อโควิด 3.ทุกฝ่ายต้องเตรียมความพร้อมการจัดการดูแลปัญหาเช่นเดียวกับช่วงของการระบาดรุนแรง 4.มาตรฐานการรักษาโควิดต้องเท่าเทียมเสมอในการรักษาดูแลประชาชนกับกลุ่มอภิสิทธิ์ชน และ 5.ระบบคอลเซ็นเตอร์ต้องรองรับสายโทร.ติดมีคนรับแม้จะเป็นวันหยุดยาวก็ตาม ซึ่งประชาชนคาดหวังอยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์ทำงานให้คุ้มค่ากับเงินเดือนที่ประชาชนจ่ายด้วย ออกมาดูความจริงว่าสถานการณ์การติดเชื้อเป็นอย่างไรด้วย” รองเลขาฯ พรรค พท.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ