หลัง12ส.ค.โควิดพุ่งแน่ นายกฯแนะรักษาให้เร็ว

นายกฯ แนะ สธ.ปรับรูปแบบการรักษาให้เร็วขึ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยหนัก พร้อมเร่งฉีดวัคซีน หลังคาดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นหลัง 12 ส.ค.นี้  รัฐบาลยืนยันแม้จะปรับเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่การดูแลผู้ป่วยยังคงเป็นไปตามสิทธิการรักษาเหมือนเดิม

วันที่ 16 กรกฎาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แนะกระทรวงสาธารณสุข ปรับรูปแบบการรักษาให้เร็วขึ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยหนักให้น้อยลง รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 หากถึงกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นต้องไปฉีด เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นและป้องกันเชื้อได้

โดยกระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศรอบนี้ อาจจะขึ้นสูงสุดช่วงหลังวันที่ 12 สิงหาคม นี้ แต่เชื่อว่าระดับความรุนแรงยังอยู่ที่ระดับ 2 เป็นสีเขียว เนื่องจากคนไทยมีความคุ้นเคยเข้าใจวิธีการป้องกัน ดูแลตนเองหลังจากมีประสบการณ์เผชิญกับโควิด-19 ตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี โดยให้ปิดจมูกและคลุมใต้คาง แนบกระชับกับใบหน้า เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ รวมทั้งการเดินทางในรอบหยุดยาวนี้ ประชาชนยังคงมาตรการป้องกันส่วนบุคคลค่อนข้างดี และมาตรการต่างๆ ของการคมนาคมขนส่งสาธารณะยังคงความเข้มข้น

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันที่ 16 ก.ค. ผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 2,025 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,023 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 2 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,333,566 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,181 ราย หายป่วยสะสม 2,333,662 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 23,867 ราย เสียชีวิต 20 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 785 ราย

 ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเขียว คือมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ อุณหภูมิ 37.5 องศาขึ้นไป จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก มีเสมหะ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกแนวทางปฏิบัติให้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้าน โดยผู้ที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ไปรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการตามสิทธิรักษาของตน รับยาแล้วกลับมากักตัวที่บ้าน 7+3 วันต่อ กรณีเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 การรักษาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

ในส่วนของผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่อยู่ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร นอกจากการรักษาตามแนวทางดังกล่าวแล้ว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มการให้บริการการรักษาด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เป็นความร่วมมือกับ 2 บริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชันด้านสุขภาพดิจิทัล ผ่านแอป “Good Doctor Technology” และแอป “MorDee (หมอดี)” กล่าวคือ เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 (เฉพาะสิทธิบัตรทอง) ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเพียงอันใดอันหนึ่ง จะได้พบแพทย์ออนไลน์ ซึ่งจะทำการประเมินอาการและจัดส่งยาถึงบ้านตามความจำเป็นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย บางรายอาจได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso

 “แม้โรคโควิด-19 จะถูกปรับเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่การดูแลผู้ป่วยยังคงเป็นไปตามสิทธิการรักษาเหมือนเดิม และภายใต้สถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลได้วางระบบการให้บริการสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที ป้องกันอาการที่อาจรุนแรงขึ้น การเพิ่มระบบการให้บริการแพทย์ทางไกลนี้เป็นอีกช่องทางที่มีประสิทธิภาพ ลดการแพร่ระบาดของโรค  ทั้งยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลด้วย” น.ส.รัชดากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ