โควิดBA.2.75บุกไทย

ผวา BA.2.75 ตัวร้ายหลบภูมิคุ้มกัน โผล่แล้ว! กรมวิทย์ยันพบในชายวัย 53 ชาวตรัง เดินทางไปประชุมที่ภูเก็ตร่วมกับชาวต่างชาติ อาการไม่รุนแรง การันตีวัคซีนเข็มกระตุ้นรับมือได้ เบรกคนไทยไม่ควรวิตกมากเกิน ด้านสาธารณสุขตรังแจงไทม์ไลน์ยิบ ระบุ 4 คนกลุ่มเสี่ยงผลตรวจยังเป็นลบ อย.จ่อออกประกาศให้ "คลินิกเอกชน" ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ได้

เมื่อวันพุธ นายธนกร วังบุญคงชนะ  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 2,886 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,884 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 2 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,342,419 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,029 ราย หายป่วยสะสม 2,343,131 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 23,179 ราย โดยมีจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 851 ราย และเสียชีวิต 19 ราย ซึ่งจากรายงานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ขณะนี้กราฟผู้ป่วยต้องรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นชัดเจน แม้ผู้ป่วยอาการหนักที่เข้า รพ.ยังอยู่ในเส้นสีเขียว แต่ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจแนวโน้มยังสูงอยู่ และผู้เสียชีวิตแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงเน้นย้ำการปฏิบัติตนตามมาตรการ 2U การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับทุกคนยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วเกิน 3 เดือน ควรฉีดเข็มกระตุ้น เพราะยิ่งทิ้งระยะเวลานานภูมิคุ้มกันจะยิ่งลดลง เพื่อช่วยลดความรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 และลดอัตราการเสียชีวิต พร้อมเตือนกรณีคนวัยหนุ่มสาวหรือกลุ่มคนที่มีสุขภาพแข็งแรง แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว แต่หากตรวจพบเชื้อหรือมีอาการแจ้งเตือน ขออย่านิ่งนอนใจ ให้แยกกักตัวและปฏิบัติตนตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด” นายธนกรระบุ

 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยข้อเท็จจริงถึงกรณีประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ว่า ผู้ติดเชื้อเป็นชาวไทยอายุ 53 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง เดินทางไปประชุมที่ภูเก็ต ที่มีชาวต่างชาติร่วมประชุมด้วย จากนั้นมีอาการและได้ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด และตรวจยืนยันด้วย RT-PCR พบติดเชื้อ และโรงพยาบาลได้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง

"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับตัวอย่างส่งต่อเพื่อยืนยันสายพันธุ์ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงนำส่งข้อมูลเพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID เมื่อวันที่ 18 ก.ค. และ GISAID ได้ตรวจสอบและประกาศขึ้นระบบเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ทั้งนี้ สายพันธุ์ BA.2.75 พบครั้งแรกที่ต่างประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 แต่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดียช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ล่าสุดฐานข้อมูล GISAD มีรายงานตรวจพบจากทั่วโลกแล้วจำนวน 359 ราย" นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวต่ออีกว่า BA.2.75 เบื้องต้นพบมีการกลายพันธุ์บน spike protein หลายตำแหน่งที่ต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยสองตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ตำแหน่งกลายพันธุ์ G446S อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ที่สร้างขึ้นภายหลังการติดโรคโควิด-19 หรือจากการฉีดวัคซีน ทำให้โอกาสการติดเชื้อซ้ำจากไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น และการกลายพันธุ์ตำแหน่ง R493Q ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์และรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจาย องค์การอนามัยโลกจัด BA.2.75 อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM) ขณะความเร็วในการแพร่เชื้อและความรุนแรงยังไม่มีข้อมูลที่มากพอ จึงยังไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป

 “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการรายงานผลการตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ขึ้นระบบฐานข้อมูลกลาง GISAID อย่างสม่ำเสมอ และขอเน้นย้ำการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ รวมถึงมาตรการการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงที่จะรับหรือแพร่เชื้อ” นพ.ศุภกิจกล่าว

ทางด้าน นพ.ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า เท่าที่ดูจากรายงานการสอบสวนเบื้องต้น ทราบว่าไปรับเชื้อมาจาก จ.ภูเก็ต ในงานประชุมกิจกรรมของโรตารี ซึ่งมีชาวต่างชาติหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาประชุมร่วมด้วย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 65 ก่อนที่จะพบว่าติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 27 มิ.ย.65 ช่วงเวลาประมาณ 04.00 น.โดยรู้สึกว่ามีอาการเจ็บคอ และมีอาการไอนิดหน่อย ก็เลยสงสัยว่าติดเชื้อโควิด- 19 ก็เลยตรวจเอทีเค (ATK) ผลเป็นบวก และเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.ตรัง

"เท่าที่สอบสวนมีผู้สัมผัสใกล้ชิดเพียงแค่ 4 คน เป็นลักษณะการนั่งดื่มด้วยกันเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.65 ช่วงกลางคืน ก็ได้เฝ้าระวังติดตามอาการของผู้สัมผัสทั้ง 4 คนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้คำแนะนำให้แยกตัวออกจากคนอื่น จนถึงขณะนี้ทั้ง 4 รายผลตรวจก็ยังคงเป็นลบ ส่วนอาการผู้ป่วยตั้งแต่ต้นก็ไม่ได้มีอะไรมาก ไม่มีไข้ มีเพียงอาการเจ็บคอ และไอเล็กน้อย นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน อาการก็ดีขึ้น ทางโรงพยาบาลก็ได้ให้กลับมารักษาตัวที่บ้าน โดยให้ยาหรือรักษาตามปกติของผู้ป่วยโควิด-19 ในส่วนของผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอะไรที่ต้องน่ากังวล เพราะว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 เป็นแค่สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน ซึ่งไม่มีอะไรที่รุนแรง ถ้าหากมีวัคซีนเข็มกระตุ้น ภูมิต้านทานแข็งแรง ก็สามารถลดอาการรุนแรงของโรคได้” นพ.ชัยรัตน์ระบุ

วันเดียวกัน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีการเตรียมขยายให้คลินิกเอกชนสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เองได้ เพิ่มเติมจากการที่ได้รับการสนับสนุนยาจากภาครัฐว่า หลังจากนี้คือเร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่จะให้การกระจายยา โดยเฉพาะยาโมลนูพิราเวียร์และยาต้านไวรัสอื่นๆ กระจายลงไปในระดับคลินิก เข้าใจว่าสัปดาห์นี้จะเสร็จ และ สบส.จะแจ้งสถานพยาบาลประเภทคลินิกทั้งประเทศที่มีประมาณหมื่นแห่งให้ทราบข้อกำหนดนี้ และแจ้งช่องทางการติดต่อซื้อขาย ส่วนที่ยังไม่ขยายไปถึงร้านยาในตอนนี้ เนื่องจากสเต็ปแรก ต้องการให้ทำในคลินิกก่อน เพราะมีแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมดูแล จากนั้นจะมีการติดตามประเมินอีกครั้ง

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทีมวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 พบว่า การฉีดวัคซีน AstraZeneca, Pfizer หรือ Moderna เป็นเข็มกระตุ้นที่ 4 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสูตรไขว้ จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์โอมิครอนได้สูงถึงร้อยละ 73 ร้อยละ 71 และร้อยละ 71 ตามลำดับ ซึ่งระดับประสิทธิผลนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ได้รับวัคซีนเพียง 3 เข็ม

"โดยผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นที่ 4 ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิด mRNA หรือไวรัสเป็นตัวนำ มีประสิทธิผลไม่ต่างกันในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่ม 608  

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ผู้ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มจะช่วยป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจากสายพันธุ์โอมิครอนได้สูงถึงร้อยละ 96 ในกลุ่มอายุ 18-59 ปี และร้อยละ 97 ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ดังนั้น กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด” นพ.โสภณระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลลุยต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' ขยายตลาดช่วยชุมชนโกยรายได้

รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' เพิ่มมูลค่าขยายตลาด ช่วยผู้ประกอบการชุมชนโกยรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น