ไฟเขียวต่างด้าวเข้าไทย ครม.เคาะทำงานวิถีใหม่

ครม.เห็นชอบปลดโรคโควิด-19 ออกจากโรคต้องห้ามคนต่างด้าวเข้าไทย มีผลนับแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจาฯ พร้อมคลอดแนวทางการปฏิบัติราชการรองรับชีวิตและทำงานวิถีใหม่ หลังผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ขณะที่ 23 ก.ย.นี้ ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ประเมินภาพรวม

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวฯ พ.ศ.2563 โดยยกเลิกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ออกจากการเป็นโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 12 (4) หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามมาตรา 44 (2) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ พร้อมคู่มือ เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป และมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐพิจารณานำแนวทางและคู่มือดังกล่าว ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการตามความเหมาะสม

 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศ ฉบับปรับปรุง ด้านการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงานในภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน ตลอดจนการบริหารจัดการภายในหน่วยงานให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น คล่องตัว ให้สอดคล้องกับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทันท่วงที

สำหรับแนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ มีหลักการสำคัญคือ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปรับตัวได้อย่างสอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างคล่องตัวและทันการณ์ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของงานภาครัฐ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการรับบริการเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับรูปแบบการบริหารส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมทุกมิติ เช่น ระบบและขั้นตอนการทำงานและการให้บริการประชาชน การบริหารทรัพยากรบุคคล และการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐสามารถส่งเสริมให้เกิดการปรับวิธีคิดและกรอบความคิด (Mindset) ของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ เพื่อให้พร้อมปรับตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนให้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และยังเปิดโอกาสให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐสามารถพิจารณากำหนดรูปแบบวิธีการปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับภารกิจและลักษณะงาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงคุณภาพชีวิตในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อการสร้างสมดุลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน

สำหรับรูปแบบการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 การปฏิบัติงานในที่ตั้งโดยการเหลื่อมเวลาทำงาน  เช่น กำหนดช่วงเวลาการเข้างานและเลิกงานเป็น 4 ช่วง ตั้งแต่ 07.30-15.30 น., 08.00-16.00 น., 08.30-16.30 น. และ 09.30-17.30 น.

รูปแบบที่ 2 การปฏิบัติงานในที่ตั้งโดยการนับชั่วโมงการทำงาน เช่น กำหนดให้สามารถเลือกเวลาเข้างานได้ตามความเหมาะสมกับรูปแบบการดำรงชีวิต โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยเมื่อนับเวลาปฏิบัติงานรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และรูปแบบที่ 3 การปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง โดยกำหนดให้สอดคล้องกับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ พ.ศ.…. ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม.ตรวจพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565

ทั้งนี้ การกำหนดรูปแบบการปฏิบัติงานอ้างอิงจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2502 ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้คือ เวลาทำงานเริ่มตั้งแต่ 08.30-16.30 น. หยุดกลางวัน 12.00-13.00 น. รวมระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง วันหยุดราชการประจำสัปดาห์คือวันเสาร์และอาทิตย์ หากส่วนราชการใดจะกำหนดวันและเวลาในการทำงานเพื่อความสะดวกสามารถทำได้แต่เมื่อคำนวณแล้วแล้วต้องไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

น.ส.ไตรศุลียังกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดผู้ป่วยใหม่และผู้เสียชีวิตที่ลดลงและทรงตัวในระดับต่ำ  โดยเฉพาะในรอบประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หรือระหว่างวันที่ 12-20 ก.ย.65 ส่วนใหญ่ยอดผู้ป่วยใหม่อยู่ในระดับต่ำกว่า 1,000 รายต่อวัน มีเพียงวันที่ 14-15 ก.ย. ที่เกินกว่าระดับดังกล่าว (1,321 ราย และ 1,125 ราย ตามลำดับ) ขณะที่ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 10-15 คนต่อวัน

สำหรับผู้ป่วยใหม่ ณ วันที่ 20 ก.ย.65 อยู่ที่ 774 ราย จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะผ่อนคลายมาตรการทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยเปิดประเทศเต็มรูปแบบมาตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นมา แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนที่เป็นเกราะป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี และในวันที่ 23 ก.ย.65 นี้ ศบค. ชุดใหญ่จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ในรวม และพิจารณามาตรการที่เหมาะสมต่อไป

น.ส.ไตรศุลียังกล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาในการพำนักในราชอาณาจักรสำหรับคนต่างด้าวบางจำพวกที่เดินทางเข้าประเทศไทย ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565-31 มี.ค.2566  ดังนี้

1.คนต่างด้าวที่ขอรับการตรวจลงตรา Visa on Arrival ขยายระยะเวลาจากเดิมพำนักได้ไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน    2.คนต่างด้าวผู้ถือหนังสือเดินทางของประเทศที่รัฐบาลของประเทศนั้น ได้ทำความตกลงระหว่างกันกับรัฐบาลไทย กรณีการยกเว้นการตรวจลงตรา ขยายจากเดิมไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน    และ 3.คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราวซึ่งได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ประเภท ผ.30 ซึ่งเป็นมาตรการที่ไทยให้ฝ่ายเดียว ขยายจากเดิมไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมต.ใหม่ถวายสัตย์ เศรษฐานำเข้าเฝ้าฯ3พ.ค. แม้วควงสุวัจน์ทัวร์ภูเก็ต

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ "มาริษ" เป็น รมว.ต่างประเทศ "นายกฯ" เตรียมนำ รมต.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ 3 พ.ค.นี้

'อนุทิน' ปราศรัยวันแรงงานแห่งชาติในนามรัฐบาล!

อนุทินปราศรัยเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2567 ส่งความปรารถนาดีมายังผู้ใช้แรงงานและครอบครัว ขอบคุณผู้ใช้แรงงานที่เป็นกำลังหลักสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศ