เตือนทั่วประเทศ น้ำท่วมฉับพลัน จับตามิจฉาชีพ

ปภ.แจ้ง 76 จังหวัดและกทม.เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนฟ้าคะนอง  น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 9-11 ต.ค.นี้ กรมชลฯ จัดจราจรน้ำเจ้าพระยาผ่าน “คลองระพีพัฒน์” สู่แม่น้ำนครนายก-บางปะกง ลงอ่าวไทย ทร.เตรียมกำลังรับมือมวลน้ำเหนือ-ทะเลหนุน นายกฯ ห่วงทรัพย์สินผู้ประสบอุทกภัย กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจตราใกล้ชิด เตือนมิจฉาชีพฉวยโอกาสโทษหนักกว่าปกติ 

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย  ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (273/2565) ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2565 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 9-14 ตุลาคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักบางพื้นที่ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 9-11 ตุลาคม 2565 หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง

โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือและภาคกลาง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ประกอบกับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 9-11 ตุลาคม 2565 และคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2565 ดังนี้ 1. สถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  2.สถานการณ์อุณหภูมิลดลง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล

3.สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก บริเวณภาคกลาง จ.เพชรบุรี (อ.ชะอำ หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน ท่ายาง) และประจวบคีรีขันธ์ (ทุกอำเภอ) ภาคใต้ จ.ชุมพร (ทุกอำเภอ),  สุราษฎร์ธานี (อ.ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง วิภาวดี กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก คีรีรัฐนิคม พนม เวียงสระ เคียนซา พระแสง บ้านนาสาร ชัยบุรี บ้านตาขุน เกาะสมุย เกาะพะงัน), นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ พรหมคีรี พิปูน ฉวาง ลานสกา ช้างกลาง ร่อนพิบูลย์ ทุ่งสง นาบอน ขนอม สิชล นบพิตำ ชะอวด ท่าศาลา จุฬาภรณ์), พัทลุง (อ.ตะโหมด ศรีบรรพต ศรีนครินทร์ กงหรา ป่าบอน ป่าพะยอม เขาชัยสน),  สงขลา (อ.เมืองฯ รัตภูมิ จะนะ หาดใหญ่ สะเดา สะบ้าย้อย นาหม่อม นาทวี),  ปัตตานี (อ.โคกโพธิ์), ยะลา (อ.ยะหา กาบัง บันนังสตา กรงปินัง ธารโต เบตง), นราธิวาส (อ.ศรีสาคร รือเสาะ จะแนะ),  ระนอง (อ.ละอุ่น เมืองฯ กะเปอร์), พังงา (อ.เมืองฯ ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง กะปง คุระบุรี ท้ายเหมือง), ภูเก็ต (อ.ถลาง), กระบี่ (อ.เขาพนม เกาะลันตา ลำทับ ปลายพระยา), ตรัง (อ.เมืองฯ นาโยง สิเกา ย่านตาขาว รัษฎา วังวิเศษ ห้วยยอด) และสตูล (อ.เมืองฯ ควนกาหลง ควนโดน ท่าแพ)

กอปภ.ก.จึงได้ประสานแจ้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง อุณหภูมิลง และน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมงพร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันที ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน รายงานว่า ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำเต็มความจุ จำเป็นต้องระบายน้ำเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของเขื่อน ในอัตราประมาณ 901 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงไปรวมกับน้ำที่มาจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ก่อนจะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก โดยได้ใช้ระบบชลประทานฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำส่วนหนึ่งผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ลงสู่คลองระพีพัฒน์ ตามศักยภาพของคลองที่รับได้ ก่อนจะลำเลียงน้ำลงสู่คลอง 13 และคลองในแนวเหนือ-ใต้ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง และอ่าวไทย ตามลำดับ เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก รวมถึงช่วยบรรเทาและลดผลกระทบในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยปริมาณน้ำดังกล่าวไม่ได้ผ่านเข้าสู่พื้นที่เทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานีแต่อย่างใด

พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า กองทัพเรือโดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ฐานทัพเรือกรุงเทพ (ศบภ.ฐท.กท.) ได้เตรียมกำลังรับมือกับมวลน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุนรวมไปถึงฝนจากร่องมรสุมช่วงเดือนตุลาคม 2565 โดยติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และประสานกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ในการวิเคราะห์ระดับน้ำจากปัจจัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้ประสานข้อมูลน้ำกับทางเขตกับทางชุมชน เพื่อทราบปัญหาจริง ตลอดจนจัดทีมเดินเท้าออกสำรวจพื้นที่เสี่ยงริมแม่น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่แม่นยำมาวางแผนในการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตในช่วงเดือนตุลาคม 2565

ในการป้องกันน้ำท่วมครั้งนี้ ศบภ.ฐท.กท.ได้ร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเขตบางกอกน้อยและบางกอกใหญ่ สนับสนุนกำลังพล เครื่องมือ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ในการอุด เสริม เขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองสาขาต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ซึ่งเป็นงานที่ยาก เนื่องจากพื้นที่เสี่ยงมีจำนวนมาก และเกิดช่องโหว่ใหม่ขึ้นตลอดเวลา แต่กองทัพเรือได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก และได้ระดมทรัพยากรจากหน่วยต่างๆ มาสนับสนุนทางเขตต่างๆ อย่างเต็มที่

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและอุทกภัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้มีข้อสั่งการกำชับส่วนราชการในพื้นที่ ให้จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของงาน มุ่งตอบสนองความเดือดร้อนและความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก นายกฯ ได้รับฟังแผนการปฏิบัติและการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยแล้ว ซึ่งได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้วบางส่วน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังน้ำท่วม โดยได้มีการเตรียมการและดำเนินการเป็นที่เรียบร้อย

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด และเนื่องจากบางพื้นที่ต้องอพยพประชาชนไปพักที่ศูนย์อพยพต่างๆ ที่ทางราชการจัดไว้ ทำให้ประชาชนต้องทิ้งที่อยู่อาศัยเพื่อความปลอดภัยในชีวิต นายกฯ ยังห่วงใยทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหมั่นตรวจตราดูแลอย่างเข้มข้น จึงฝากเตือนมิจฉาชีพอย่าฉวยโอกาสลักทรัพย์หรือขโมยตามบ้านเรือนผู้ประสบภัย กรณีนี้ผู้กระทำจะได้รับโทษหนักกว่าปกติ เพราะถือว่าเป็นการไปซ้ำเติมผู้ที่กำลังเดือดร้อน 

โดยจะได้รับโทษ ตามมาตรา 335 (2) ที่กำหนดว่า ผู้ใดลักทรัพย์ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใดๆ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

 “แม้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จะจัดกำลังออกตรวจอย่างเข้มงวดกวดขัน แต่ก็ยังพบผู้ที่ไม่มีจิตสำนึก ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่ทุกข์ยากเช่นนี้ หากพบการกระทำเช่นนี้ รัฐบาลยืนยันจะให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด” น.ส.ทิพานันกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง