เล็งขยับดอกเบี้ย จ่อออกมาตรการ อุ้มปชช.ปลายปี

“แบงก์ชาติ” ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ชี้ 1% ยังไม่ใช่ระดับสูงสุด ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 3.3% ปีหน้า 3.8% น้ำท่วมไม่กระทบ ศก.มาก คาดไตรมาส 4 เงินเฟ้อทยอยลด ยันเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าผิดปกติ “คลัง” จ่อออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่าย ปชช.ช่วงปลายปี 65 ผุดมาตรการคนละครึ่งเฟส 6 แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด แจง 8.75 ล้านคนใช้สิทธิ์เฟส 5  ครบ 800 บาทแล้ว ยอดใช้จ่ายรวมพุ่ง 3.43 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันจันทร์ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting)  ครั้งที่ 3/2565 ว่า ภายใต้สถานการณ์ที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจน แต่ที่แน่นอนดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันที่ 1% ยังไม่ใช่ระดับสูงสุด และระดับปัจจุบันยังไม่ใช่ระดับ  Neutral Rate หรือจุดที่ดอกเบี้ยเข้าสู่สมดุล ดังนั้น ระยะข้างหน้าจะเห็นดอกเบี้ยขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขึ้นอยู่กับเงินเฟ้อและการตอบสนองด้านเศรษฐกิจขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร โดยหากแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นและนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าที่ประเมินไว้ อาจจะปรับดอกเบี้ยได้มากกว่า 0.25% ต่อปีได้ แต่หากมีความจำเป็นภายใต้ความเสี่ยงมากขึ้นก็อาจจะหยุดได้

โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพยายามดำเนินนโยบายการเงินให้ตลาดสามารถคาดการณ์ทิศทางได้ ไม่ต้องการจะเซอร์ไพรส์ตลาด แต่ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงนี้ อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกคาดเดาสถานการณ์ในอนาคตได้ยาก ดังนั้นการจะให้ผูกมัดลงไปชัดเจน ว่าจะต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะไม่เหมาะสมนัก

 “การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังขึ้นต่อไปอีกระยะ  แต่จะไปหยุดตอนไหนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นว่าจะเป็นอย่างไร และเห็นว่าคงอีกสักระยะกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ โดยประเมินว่าอาจต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่ง-2 ปี”  นายปิติกล่าว

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส  ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และปี 2566 จากแรงขับเคลื่อนของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.3% และปี 2566 ที่ 3.8% ซึ่งในปีนี้ภาคการท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 3  หลังจากที่มีการเปิดประเทศ คาดว่าทั้งปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 9 ล้านคน  และเพิ่มเป็น 21 ล้านคนในปีหน้า ขณะที่ผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง รายได้แรงงานฟื้นตัวและกระจายในหลายสาขามากขึ้น ซึ่งช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี

"อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ที่  ธปท.ประเมินไว้ที่ 3.3% นั้น ยังไม่รวมผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย แต่จากที่ประเมินในเบื้องต้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อุตสาหกรรมมากนัก ดังนั้นจึงเชื่อว่าภาวะน้ำท่วมจะมีผลต่อจีดีพีไม่มาก  ซึ่งขณะนี้ ธปท.ขอรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน” นายสักกะภพกล่าว

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะทยอยลดลงในช่วงไตรมาส 4/2565 โดยทั้งปีคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่  6.3% และปี 2566 อยู่ที่ 2.6% แต่ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมสินค้าหมวดพลังงาน-อาหารสด)  จะปรับเพิ่มขึ้นทั้งในปีนี้และปีหน้าตามการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้จะอยู่ที่ 2.6%  และปีหน้าอยู่ที่ 2.4%

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีการอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุหลักจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า อย่างไรก็ดีเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่เข้มแข็งจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูงนี้ ยังสามารถรองรับความผันผวนของค่าเงินที่เกิดขึ้นได้ โดย กนง.ได้ติดตามสถานการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด และพบว่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าอย่างผิดปกติ โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่าไป 12-13% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากต้นปีถึง 18%

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.เตรียมหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เพื่อเตรียมออกมาตรการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปลายปี 2565 ส่วนจะมีการออกมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 6 หรือไม่ เนื่องจากสำนักงบประมาณได้มีการตั้งงบประมาณวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงปลายปีหลังสถานการณ์น้ำท่วม โดยจะมีการดำเนินโครงการที่ใช้แล้วได้ผลในช่วงโควิด-19 เช่น เราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่งนั้น สศค.ยังไม่ทราบรายละเอียด หากเป็นข้อเสนอของสำนักงบประมาณ ก็ต้องไปดูวัตถุประสงค์ก่อนว่าต้องการที่จะออกมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 6 เพื่ออะไร

 “มาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 วัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 วงเงินรวม  1.5 ล้านล้านบาท โดย สศค.ยังไม่ทราบรายละเอียดโครงการระยะที่ 6 เพราะตอนนี้ยังติดตามการดำเนินงานตามมาตรการในระยะที่ 5 อยู่ หากจะมีการดำเนินการจริงก็คงต้องมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้ง” นายพรชัย กล่าว

สำหรับมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มีประชาชนที่ใช้จ่ายตามสิทธิ์ครบ 800 บาทแล้วจำนวน 8.75 ล้านคน คิดเป็น 36% ของผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด โดยยอดการใช้จ่ายสะสม ณ วันที่ 16 ต.ค.65 เวลา 23.00 น.  พบว่ามีการใช้จ่ายสะสมแล้ว 3.43 หมื่นล้านบาท จากผู้ใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 24.02 ล้านคน โดยแบ่งเป็นการใช้จ่ายจากประชาชน 1.74 หมื่นล้านบาท และรัฐสมทบ 1.68  หมื่นล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าการลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 ล่าสุด ณ วันที่  16 ต.ค.65 พบว่ามีประชาชนลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น  21.4 ล้านคน แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์  9.89 ล้านคน และลงทะเบียนผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียน 11.56 ล้านคน โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 31 ต.ค.65 ซึ่งคาดว่ายอดลงทะเบียนน่าจะอยู่ในระดับดังกล่าวเพราะตอนนี้เริ่มนิ่ง ส่วนผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการจะเป็นเท่าไหร่ คงต้องรอกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติให้เรียบร้อยก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง