รุมบี้กกต.คลายกฎเหล็ก เชื่อกลางพ.ย.เลิก‘ท่วม’

กอนช.รายงาน 29 จังหวัดยังท่วม คาดกลาง พ.ย.กลับสู่ภาวะปกติ "ชัยวุฒิ" เบรกม็อบต้านนายกฯ ลงพื้นที่สิงห์บุรี ชี้ชาวบ้านพื้นที่อุทกภัยขัดแย้งกันไม่ถึงขั้นเป็นปัญหา อย่าโยงการเมือง ยันมีงบเร่งเยียวยาประชาชน “จุรินทร์” บี้ กกต. พลิกกฎหมายหาช่องคนการเมืองช่วยน้ำท่วมคู่ขนานรัฐบาล "อุ๊งอิ๊ง" นำทีมเพื่อไทยช่วยน้ำท่วมอุบลฯ

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำประจำวันดังนี้  ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เร่งกำกับติดตามหน่วยงานด้านน้ำบริหารจัดการน้ำเชิงรุก ระบุสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย คาดเข้าสู่สภาวะปกติช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน พร้อมย้ำเทียบปริมาณฝนกับพื้นที่น้ำท่วมไม่เท่าปี 2554 แม้ฝนตกสูงกว่าค่าปกติถึง 21% และยังคงเน้นย้ำในการบูรณาการ โดยกำกับติดตามแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้แก่หน่วยงานปฏิบัติภายใต้ กอนช. เพื่อระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง ที่ได้เร่งระดมเครื่องจักรเครื่องมือ ใช้ทุกกลไกในการบริหารจัดการน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบอยู่ขณะนี้อย่างเร่งด่วน

สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 23-25 ต.ค.65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 ต.ค.65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ลมตะวันออกที่พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 68,448 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) (83%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 60,194 ล้าน ลบ.ม. (84%), ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 5,088 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,166 ล้าน ลบ.ม. (62%) ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปริมาณน้ำ 20,553 ล้าน ลบ.ม. (83%) โดยเขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก

สถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันมี 29 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 4 จังหวัด พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี, ภาคกลาง 10 จังหวัด ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสระบุรี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา, ภาคใต้ 3 จังหวัด ภูเก็ต สตูล และนราธิวาส

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองฯ  จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,563 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรัง 67 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยารวม 520 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เริ่มทยอยลดลง และกรมทยอยปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,602 ลบ.ม./วินาที ส่วนที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,960 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ 54 ลบ.ม./วินาที

ในส่วนแม่น้ำป่าสัก ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ได้ปรับลดการระบายน้ำอยู่ที่อัตรา 241 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ที่เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ปรับลดลงตามไปด้วย อยู่ที่ 496 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งตามศักยภาพของแม่น้ำแต่ละช่วง โดยกรมชลประทานจะเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

เบรกม็อบสิงห์บุรีต้าน 'บิ๊กตู่'

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีประชาชนในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีมีความขัดแย้งกันเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมว่า เท่าที่ทราบก็มีความขัดแย้งในทุกพื้นที่ที่มีน้ำท่วม เพราะประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำเกิดน้ำท่วมสูง เพราะมีคันกั้นน้ำก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาวางแผนกันใหม่ในเรื่องของการระบายน้ำเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับชาวบ้านมากจนเกินไป แต่ไม่ถึงขนาดเป็นความขัดแย้งที่ต้องเป็นปัญหา เป็นเรื่องที่ต้องเอาปัญหามาคุยกัน ตนอยากให้นายกรัฐมนตรีได้เห็นเลยว่าคันกั้นน้ำและการระบายน้ำเป็นปัญหาหนึ่งที่ประชาชนเดือดร้อนมาก ทำให้รัฐบาลต้องบริหารจัดการในเรื่องนี้มีการวางแผนที่จะปรับปรุงระบบต่างๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการสำรวจความเสียหายเพื่อเร่งเยียวยา ไม่ต้องห่วงเรามีงบประมาณอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะลงพื้นที่สิงห์บุรีในวันที่ 24 ต.ค. แก้ไขปัญหาน้ำท่วม จะไม่มีม็อบประชาชนในพื้นที่ใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า คงไม่ถึงมีการต่อต้าน จะต่อต้านเรื่องอะไร เพราะรัฐบาลลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ รับฟังปัญหาประชาชน รวมถึงการดูแลงบประมาณการช่วยเหลือต่างๆ เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาประท้วงกันหรือมาต่อต้าน ตนไม่อยากให้ใช้โอกาสนี้ทำสิ่งเหล่านี้ทางการเมือง เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนเดือดร้อน ถ้าเราเอาการเมืองมาเล่นกันในช่วงนี้จนทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย สุดท้ายคนที่เดือดร้อนก็คือประชาชนที่จะไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อยากให้นึกถึงคนส่วนรวม ไม่อยากให้เอาการเมืองมาเกี่ยวทุกเรื่อง

ทางด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาลโยนกันไปมาในการแก้ปัญหาน้ำท่วมว่า สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ไปโยนให้ใคร ซึ่งในส่วนของรัฐบาลมีผู้รับผิดชอบชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นใคร ซึ่งเห็นว่าผู้ที่รับผิดชอบพยายามทำหน้าที่อยู่ อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ถือเป็นหัวเรือใหญ่ซึ่งทำหน้าที่อยู่ และหลายหน่วยงานต้องเข้ามาช่วยกัน ทั้งจังหวัดและท้องถิ่นต้องเข้ามาช่วยกัน ความสำเร็จถึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะน้ำท่วมไม่ได้ขีดวงเฉพาะตามระเบียบราชการ ตามหน่วยราชการ ตามจังหวัด หรือการปกครองส่วนท้องถิ่น ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่สุดคือต้องแก้แบบบูรณาการ

ทั้งนี้ เห็นใจพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งในหลายพื้นที่ท่วมขังมาเป็นเวลานาน แต่สำหรับนักการเมืองก็มีข้อจำกัด เพราะผู้สมัคร ส.ส.ไม่สามารถลงไปในพื้นที่เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้ เนื่องจากติดกฎระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม จึงทำให้นักการเมืองหรือผู้ที่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ลงพื้นที่ลงไปช่วยเหลือไม่ได้ นอกจากไปเยี่ยมเยือนเท่านั้น แต่หากทำอะไรได้มากกว่าการเยี่ยมเยือนจะเป็นเรื่องที่ดี จะได้ช่วยกันคนละไม้ละมือ

ส่วนที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุเรื่องการไปช่วยเหลือได้ร้อง กกต.ไปรอบหนึ่งแล้วนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องอยู่ที่ กกต. ที่ต้องไปพลิกกฎหมายดูว่าจะสามารถทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพ ไปช่วยบรรเทาทุกข์ร่วมกับรัฐบาล หรือคู่ขนานไปกับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้หรือไม่

นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่นายอนุทินเสนอมาตรการการ “พักหนี้ 3 ปี เป็นการพักหนี้ แบบหยุดต้น ปลอดดอกเบี้ย คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยว่า ประชาชนในพื้นที่ต้องการเป็นอย่างมาก ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รวมตัวเลขพื้นที่เกษตรที่เสียหายด้านพืช ได้รับผลกระทบ 56 จังหวัด เกษตรกร 531,703 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 4,505,862 ไร่ จึงเป็นมาตรการที่จะทำให้เกษตรกร สามารถกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง นอกจากมาตรการเรื่องอื่นๆ ที่รัฐบาลได้มีมาตรการออกมา

บี้ กกต.หาช่องคลายกฎเหล็ก

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตนและพรรคภูมิใจไทยทุกคนพยายามเรียกร้องให้ กกต. ปลดล็อก ให้นักการเมืองเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจากน้ำท่วมหรือวาตภัย ในช่วง 180 วันก่อนเลือกตั้ง จะให้ไปดูชาวบ้านอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ กลับมาก็นอนไม่หลับ เพราะชาวบ้านเดือดร้อน จึงเป็นที่มาของนักการเมืองบางครั้งทนไม่ได้ ต้องให้ทีมงานหาคนไปช่วยเหลือ คือหมายความว่าหลังบ้านอีกแบบหนึ่ง ต่อหน้าอีกแบบหนึ่ง อย่างนี้เป็นเรื่องของการกระทำความผิดกฎหมาย เป็นความอึดอัดของนักการเมือง

"ผมคิดว่าทางภาคใต้อย่างกระบี่ ที่อำเภอเกาะลันตา แผ่นดินสไลด์และน้ำท่วม แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ถนนหนทางไปไม่ได้ ชาวบ้านถูกวาตภัยพายุพัดเรือล่ม  เรือหางยาวนำเที่ยวก็มีปัญหา ขณะที่จังหวัดภูเก็ตน้ำท่วมทั้งจังหวัด จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันที่ติดชายทะเลก็น้ำท่วมทั้งหมด เราไม่มีปัญหากับกฎ 180 วัน แต่วันนี้กฎหมายบังคับเรา ก็เข้าใจ นักการเมืองก็อยากปฏิบัติตามกฎหมาย แต่คราวนี้มันจะมีคู่แข่งเพื่อที่จะเอาจุดอ่อนอย่างนี้ไปร้องเรียนกันมา ก็เกิดความแตกแยกเกิดความบาดหมาง เป็นภาระหน้าที่ให้ กกต. ผมคิดว่าน่าจะมีการยกเว้นหรือไปแก้กฎหมายเพื่อที่จะให้เป็นกรณีตัวอย่าง การที่บอกว่าไม่ให้หาเสียง ไม่ให้ไปช่วยเหลือประชาชน มันฝืนต่อความเป็นจริงฝืน ต่อหลักธรรมชาติ และประเพณีไทยด้วย" นายสฤษฏ์พงษ์ระบุ

 น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมยังน่ากังวลในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ บางพื้นที่น้ำท่วมหนักกว่าปี 2554 และปี 2562 เช่น จังหวัดอุบลราชธานี ประชาชนต้องทนอยู่กับน้ำท่วมนานหลายเดือน บางพื้นที่บ้านเรือนท่วมจมบาดาลมาเกือบ 4 เดือนแล้ว แต่ยังคงไม่ได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐเท่าที่ควร มีแต่หน่วยงานท้องถิ่นที่ร่วมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามยถากรรม ซึ่งยังไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง โดยวันจันทร์ที่ 24 ต.ค.นี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะ รวมถึง ส.ส.อุบลราชธานี ของพรรค จะลงพื้นที่อุบลราชธานี เพื่อให้กำลังใจและสอบถาม รับฟังปัญหา ความทุกข์ร้อนของพี่น้องชาวอุบลฯ เพิ่มเติม

รองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีข้อจำกัดหรือถูกผูกมัดด้วยกฎเหล็กของ กกต. 180 วัน เหมือน ส.ส.และพรรคการเมือง จึงมีอำนาจสูงสูดของฝ่ายบริหาร สามารถสั่งการเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันที แต่กลับกลายเป็นว่าการลงพื้นที่น้ำท่วมของนายกฯ เป็นเพียงแค่ไปรับฟังการรายงานจากหน่วยงานเฉพาะหน้าเท่านั้น ไร้มาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนจากภาครัฐที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ปล่อยให้ประชาชนลอยคอรอความช่วยเหลือนับเดือน ดังนั้นขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เร่งเยียวยาช่วยเหลือประชาชนโดยด่วนและให้รวดเร็วกว่าในภาวะปกติ อย่าลืมว่าน้ำท่วมไม่ได้หยุดเสาร์-อาทิตย์เหมือนรัฐบาล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง