จับแก๊งจีนสีเทาอีก15ราย ศาลให้ประกัน‘เมียตู้ห่าว’

อัยการแถลงขอหมายจับเครือข่ายทุนจีนสีเทาเพิ่มอีก 15 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม "กลุ่มฟอกเงินอย่างเดียว-กลุ่มสมคบกันฟอกเงิน" ขณะที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ประกันตัวเมียตู้ห่าว หนีริบ 2 ล้านบาท  "ชูวิทย์" ยันเปล่าหิวแสง พูดแปลกงานนี้เป็นงานสุดท้าย

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ถ.แจ้งวัฒนะ นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน  พร้อมด้วยนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน และในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด  ร่วมกันแถลงความคืบหน้าคดี นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์  หรือตู้ห่าว กับพวก

นายกุลธนิตแถลงว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน แต่หลักฐานที่มีในตอนนี้ขอศาลออกหมายจับเพิ่มเติมแล้ว 15 ราย ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ชัดเจน เราจึงกล้าขอศาลออกหมายจับ แต่เราก็ยังมีการสอบสวนขยายผล โดยผู้ต้องหาชุด 15 คนที่ขอศาลออกหมายจับล่าสุด แต่ละคนความผิดจะแตกต่างออกไป แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มฟอกเงินอย่างเดียว 2.กลุ่มสมคบกันฟอกเงิน สมคบกันทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และองค์กรความผิดข้ามชาติ โดยขณะนี้เรายังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาอย่างน้อยอีก 1 ชุด ซึ่งคาดว่าจะขอศาลออกหมายจับได้อีกก่อนสิ้นปีนี้

ในส่วนของนายตู้ห่าว มีพยานหลักฐานชัดเจนแล้วว่าเข้าข่ายกระทำผิดฐานฟอกเงิน โดยจะมีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในเรือนจำภาย 1-2 วันนี้ ส่วนการตามยึดทรัพย์สินนั้นเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นมูลฐานในข้อหาฟอกเงิน ได้มีการแจ้งไปยังคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์ของ ป.ป.ส. โดยจะแยกส่วนต่างหากจากคดีอาญา เป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะยื่นขอให้ศาลยึดทรัพย์สินที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ส. เราในฐานะพนักงานสอบสวนอาจจะประสานข้อมูลเข้ามาในสำนวนได้ หากเมื่อเราแจ้งฟอกเงินแล้ว ในขณะนี้ไม่ต้องประสาน ปปง. เราสามารถแจ้งข้อหาได้เลย

กรณีที่ดีเอสไอแถลงว่าจะรับคดีของตู้ห่าวเป็นคดีพิเศษจากความผิดฐานฟอกเงิน เท่าที่ทราบจากข่าวว่ามีการไปร้องว่ามีการกระทำความผิด ให้ดีเอสไอสอบสวนในการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลนี้ เข้าใจว่าดีเอสไอก็กำลังพิจารณา ถ้าดีเอสไอเห็นว่าการกระทำของคนกลุ่มนี้เป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ดีเอสไอจะไม่มีอำนาจสอบสวน คดีจะต้องเสนอให้ อสส.พิจารณาว่าจะดำเนินการสอบสวนเอง หรือมอบหมายพนักงานสอบสวนที่ใดเป็นผู้สอบสวน ตอนนี้สถานะคดีถือว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักรแล้ว

ส่วนเรื่องการติดตามพยานหลักฐานที่อยู่ต่างประเทศ  ก็จะมีการขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ แต่ก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากต้องประสานงานมายังสำนักงานอัยการต่างประเทศเพื่อส่งไปประเทศที่เราขอพยานหลักฐาน ซึ่งเราพบว่าคดีนี้มีการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

เมื่อถามว่า ที่มีบุคคลนำเอกสารหลักฐานมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำให้ฝ่ายจำเลยอาจจะรู้ตัว แล้วจะกระทบต่อรูปคดีหรือไม่ นายกุลธนิตตอบว่า เป็นการสอบสวนอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มีระบุไว้ถึงการสอบสวนที่จะต้องใช้วิธีพิเศษ การที่มีการนำเอกสารมาเผยแพร่และกระทบรูปคดีทำให้เกิดความเสียหาย อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดขัดขวางกระบวนการสืบสวนสอบสวนตามมาตรา 26

ถามว่า ภรรยานายตู้ห่าวถูกแจ้งข้อหาใดบ้าง อธิบดีอัยการตอบว่า ขณะนี้ภรรยานายตู้ห่าวโดนตั้งข้อหาเฉพาะเรื่องฟอกเงิน แต่การสอบสวนยังไม่หยุด ถ้าภายหลังพบว่ามีส่วนร่วมกับยาเสพติดหรือองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ก็สามารถแจ้งข้อหาเพิ่มเติม โดยวันนี้พนักงานสอบสวนจะนำผู้ต้องหาไปยื่นคำร้องฝากขังศาลอาญากรุงเทพใต้ พร้อมคัดค้านการประกันตัว ส่วนผู้ต้องหาจะได้ประกันตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล กรณีนี้มีการจับกุมผู้ต้องหาหลายคนไม่พร้อมกัน ระยะเวลาการฝากขังจะครบกำหนดไม่เท่ากัน กรอบตอนนี้เราจะสรุปสำนวนส่งอัยการสูงสุดก่อนครบฝากขังครั้งที่  6 ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดจะครบกำหนดในวันที่ 8 ม.ค.66 ตอนนี้เรารวบรวมพยานมาได้นับร้อยปากแล้ว ส่วนจะขึ้นสู่ศาลเมื่อไรต้องพิจารณาอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าววันนี้กำหนดการเดิม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จะมาร่วมแถลงข่าวกับอัยการด้วย แต่เมื่อมาถึงกลับถอนตัวกะทันหัน  ก่อนที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ จะเข้าร่วมสังเกตการณ์การแถลงข่าวในครั้งนี้ คาดว่าเพื่อลดการเผชิญหน้าเนื่องจากกำลังตกเป็นประเด็นที่ถูกนายชูวิทย์กล่าวหา

โดยนายชูวิทย์ได้ฟังการแถลงข่าวของอัยการสูงสุด  ก่อนจะตั้งคำถามในช่วงท้ายของการแถลงเกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ และการประสานการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีปัญหา ซึ่งนายกุลธนิตกล่าวตอบว่า  อัยการไม่ได้รับสำนวนจากตำรวจมาเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมด เพื่อความถูกต้องครบถ้วน เพื่อคลี่คลายประเด็นสงสัยต่างๆ แล้ว และมีการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในอีกหลายส่วน ซึ่งปัจจุบันมีพยานมากกว่า 100 ปาก และมีการออกหมายจับเพิ่มเติมนอกเหนือจากสำนวนแรก ดังนั้นจึงยืนยันว่าจะดำเนินการสอบสวนต่อเนื่อง ขอให้ทุกคนมั่นใจในการทำงาน

ด้านนายชูวิทย์เปิดเผยหลังการแถลงข่าวว่า ที่ตนออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ยืนยันไม่ได้หิวแสง และไม่ได้หวังผลทางการเมือง โดยตนจะเรียกร้องงานนี้เป็นงานสุดท้าย แม้ไม่ได้มีหน้าที่ในเรื่องนี้ แต่ก็ใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชน

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ภายหลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังนายสิทธิไพบูลย์ คำนิล อายุ 49 ปี, นางพัชรินทร์ อิทธิวัฒนา อายุ 51 ปี ผู้ต้องหาที่ 1-2, นายสิทธิกร ประภาจรัสวงศ์ อายุ 56 ปี, นางสุรัสวดี ทองเพิ่มพลอย อายุ 43 ปี ผู้ต้องหาที่ 4-5 และ พ.ต.อ.หญิง  วันทนารีย์ กรณ์ชายานันท์ ภรรยาของนายชัยณัฐร์ หรือตู้ห่าว ผู้ต้องหาที่ 1-9 หลังจากนั้นพวกผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว

โดยศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว พ.ต.อ.หญิง วันทนารีย์, นายสิทธิกร  ประภาจรัสวงศ์, นางสุรัสวดี ทองเพิ่มพลอย ผู้ต้องหาที่ 4-5 ระหว่างสอบสวน โดยตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท  และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล โดยให้แจ้ง ตม.ทราบด้วย หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งถือว่าผิดสัญญาประกันระหว่างปล่อยชั่วคราว  กรณีผิดสัญญาประกันให้ปรับ 2 ล้านบาท

ส่วนนายสิทธิไพบูลย์ คำนิล และนางพัชรินทร์ อิทธิวัฒนา ผู้ต้องหาที่ 1-2 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาแล้ว เห็นว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาผู้ต้องหาที่ 1-2 ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและฟอกเงิน อันเป็นความผิดที่มีอัตราโทษสูง หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่เอกสารประชาสัมพันธ์ชี้แจงกรณีที่มีเอกสารบันทึกข้อความกราบบังคมทูลถวายฎีการ้องทุกข์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยแพร่ในช่องทางโซเชียลมีเดียว่า "ตามที่มีการเผยแพร่ข้อความผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ระบุว่า ได้มีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอความเป็นธรรม โดยกล่าวหาว่ามีการบริหารงานภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่สุจริต โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และมีฝ่ายการเมืองคอยควบคุมสั่งการ นั้น

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอชี้แจงต่อสาธารณชนว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในการดำเนินคดีนั้น จะมีการดำเนินการในรูปแบบของคณะพนักงานสืบสวนหรือคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ แล้วแต่กรณี ไม่ใช่การดำเนินการโดยลำพังของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษคนใดคนหนึ่ง​ และในการบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิบัติงานของกรม อาจเกิดความไม่เข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้บริหารได้ อันเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหน่วยงานราชการ ซึ่งที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง  ไม่ได้มีปัญหาการปฏิบัติงานในภาพรวม".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์