รบ.โอ่ผลงาน‘เศรษฐกิจ’ แบงก์รัฐเล็งโขกดอกเบี้ย

รัฐบาลโวตัวเลขเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจบอกไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง  จีดีพีกระฉูดกว่าบิ๊กโฟร์และอาเซียน 5 ประเทศ ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยก็ต่ำเอื้อการลงทุน “คลัง” โยน กบง.เคาะทั้งเรื่องค่าก๊าซ-น้ำมัน แบงก์รัฐจ่อขยับดอกเบี้ยหลังเอกชนปรับไปนานแล้ว

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ม.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า เมื่อเปรียบเทียบ 4 เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญ ยืนยันว่าไทยยังมีแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการติดตามและประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และกำชับทุกหน่วยงานเร่งเดินหน้าตามนโยบายทางเศรษฐกิจที่ได้กำหนดไว้ ส่งเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุน ผู้ประกอบการ ส่งเสริม กระตุ้นทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศ

นายอนุชากล่าวต่อว่า การเปรียบเทียบเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญตัวแรก  ได้แก่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ซึ่งพบว่าในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง อยู่ที่ 4.5  % และสูงกว่ากลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง 4   สหรัฐอเมริกาที่โต 1.9%, สหภาพยุโรป 2.3%, ญี่ปุ่น 1.5 % และจีน 3.9% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยก็ต่ำกว่าสหรัฐฯ ยูโรโซน และค่าเฉลี่ยของ 5 ประเทศในอาเซียน (สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย) โดยในปี 2564 อยู่ที่ 1.2% ในขณะที่ในเดือน พ.ย.2565 อยู่ที่ 5.5% และ ธ.ค.2565 อยู่ที่ 5.9%

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 และค่าเฉลี่ยของอาเซียน 5 ประเทศ โดยของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำ เอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยในปี 2564 อยู่ที่ 0.50% เดือน พ.ย.2565 อยู่ที่ 1% และ ธ.ค.2565 อยู่ที่ 1.25% และสุดท้ายดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI for Manufacturing) ภาคอุตสาหกรรมของไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 และค่าเฉลี่ยอาเซียน 5 ประเทศ และอยู่สูงกว่าระดับ 50 จุด ซึ่งบ่งชี้ถึงภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว

“นายกฯ เชื่อมั่นว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญเหล่านี้ แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงโอกาสและแนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังมีการเติบโต มีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุน รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างกลไกการทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ  ยั่งยืน และสมดุล” นายอนุชากล่าว

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เตรียมปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม LPG เป็น 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม จากปัจจุบันที่ 408 บาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้ ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ กบง. ที่จะไปบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งการปรับราคา LPG จะมีผลต่อต้นทุนของภาคขนส่ง โลจิสติกส์ ภาคธุรกิจ รวมถึงภาคครัวเรือน ดังนั้นการจะพิจารณาตรึงราคาต่อหรือไม่ กบง.ต้องไปพิจารณาความสมดุลระหว่างผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเงินกองทุนให้สมดุล

“ภาษีน้ำมันดีเซล ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลให้ 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 4 เดือน เพื่อช่วยดูแลสถานการณ์ราคาน้ำมัน และบรรเทาภาระให้กับประชาชน ส่วนราคาดีเซลจะสามารถปรับลงได้ 1-2 บาทต่อลิตรหรือไม่ กระทรวงการคลังได้ชี้แจงไป กบง.แล้ว โดยขึ้นอยู่กับ กบง.จะบริหารเงินกองทุนน้ำมันอย่างไร เพื่อให้ประชาชนยังได้รับประโยชน์มากที่สุด”นายอาคมระบุ

วันเดียวกัน นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐกล่าวว่า ในไตรมาส 1/2566 คาดว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ผ่านมาได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ เพื่อช่วยบรรเทาภาระประชาชน และช่วยให้ประชาชนได้มีเวลาปรับตัว หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย และส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อรักษาระดับส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์และแบงก์รัฐ

“ที่ผ่านมาแม้ว่า กนง.จะมีมติขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้ แต่สำหรับแบงก์รัฐยังไม่ได้ปรับขึ้น แต่หลังจากนี้ภายในไตรมาส 1/2566 จะเริ่มทยอยขึ้น แต่คงไม่มาก ประมาณครึ่งหนึ่งของอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นไป โดยปรับเพื่อรักษาระดับของส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างเงินกู้และเงินฝาก” นายฉัตรชัยกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายประชาสังคมฯ ยื่นหนังสือจี้ถก 'กาสิโนคอมเพล็กซ์' ให้รอบด้าน

เครือข่ายประชาสังคมฯ ยื่น กมธ.วิสามัญสถานบันเทิงครบวงจร หวังสภาพิจารณาอย่างรอบด้าน ลั่นคนเสียผลประโยชน์ที่แท้จริงคือ ปชช. ด้าน 'จักรพล' ย้ำ กิดการจ้างงานแน่