กกต.ติวเข้มเครือข่ายพีอาร์เลือกตั้ง กู้ภาพลักษณ์เรียกความน่าเชื่อถือ ยันทำดีแล้ว แต่ต้องปรับเรื่องสื่อสาร "แสวง" ร่ายยาวนิยามราษฎรที่ใช้แบ่งเขต คนไทยกับต่างชาติที่เข้าเงื่อนไข ไม่ใช่แม่บ้านแรงงานต่างด้าว ฉะคนปูดแกล้งโง่หรือหวังผลการเมือง “สมชัย” เตือนยื่นศาล รธน.ตีความดีกว่าโดนฟ้องย้อนหลัง
ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เวลา 08.15 น. สำนักงาน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดอบรมให้ความรู้ภาคีเครือข่ายประชาสัมพันธ์ระดับจังหวัด รุ่นที่ 4 พื้นที่ 26 จังหวัดภาคกลาง เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในแนวปฏิบัติ กฎหมาย กฎ ระเบียบที่ปรับปรุงเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและสถานการณ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ถูกต้อง เหมาะสมไปสู่ประชาชน โดยคาดหวังจะเพิ่มจำนวนประชาชนออกมาใช้สิทธิเพิ่มมากขึ้น ลดจำนวนบัตรเสีย
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวระหว่างเป็นประธานการเปิดอบรมว่า ใกล้จะมีการเลือกตั้ง นับถอยหลังในแต่ละวัน กกต.มีทำงานน้อยลง แต่ทุกอย่างอยู่ในแผน ยังอยู่บนเส้นทาง อาจจะเร็วกว่าแผนไปด้วยซ้ำ ถือเป็นเรื่องที่ดี กกต.ทำงานตามกฎหมาย แต่ว่าทำงานแต่ละอย่างออกไปไม่ได้ง่าย ไม่ราบรื่นอย่าง 2-3 วันที่ผ่านมา เราเจอ 2-3 เรื่องที่ต้องอธิบาย อาจจะขาดทักษะวิธีการหรือช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน เรื่องราษฎร เรื่องการแบ่งเขต ซึ่งที่จริงเป็นข้อเท็จจริง แต่คนรอบข้างที่เกี่ยวข้องเอาไปอธิบายโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง ทำให้คนสำคัญผิดทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงหลายประการ อย่างคำว่า “ราษฎร” เป็นราษฎรตามกฎหมายทะเบียน ซึ่งหลังประกาศจำนวน ส.ส.พึงมีแต่ละจังหวัด กกต.นำจำนวนราษฎรที่กระทรวงมหาดไทยประกาศมาคำนวณ แต่การประกาศสองครั้งหลัง มีการแยกผู้มีสัญชาติไทยกับผู้ไม่มีสัญชาติไทยออกจากกัน ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่เกิดปัญหา แต่ครั้งนี้เกิดปัญหาชวนสงสัย ขอยืนยันสำนักงาน กกต.และ กกต.ทำงานภายใต้กฎหมาย ไม่ได้คิดขึ้นเอง
ทั้งนี้ คำว่าราษฎรตามความเข้าใจของคนทั่วไปอาจจะถูก แต่ราษฎรตามกฎหมายที่นำมาใช้ มีคนบอกเอาต่างด้าว แรงงานมาคำนวณด้วย ขอชี้แจงว่าไม่ใช่ ราษฎรตามกฎหมายทะเบียนราษฎร คือ คนไทยแท้ๆ คือผู้ที่มีเลขประจำตัว 13 หลักในบัตรประจำตัวประชาชน ส่วนคนไม่มีสัญชาติไทยจะถือเป็นราษฎรมีสองเงื่อนไข ไม่ใช่คนที่เป็นแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่คนต่างด้าวจะได้รับเลข 13 หลักต้องเข้าเกณฑ์ตามกฎหมายไทย คือ พ.ร.บ.บัตรประชาชน และกฎหมายทะเบียนราษฎรเป็นเรื่องความมั่นคง โดยคนต่างด้าวประเภทนี้ถือเป็นประเภทที่แปด ไม่ถือสัญชาติไทย ได้รับอนุญาตให้อยู่ในเมืองไทยโดยถูกกฎหมาย และมีใบสำคัญคนต่างด้าวหรือคนที่แปลงสัญชาติ และเงื่อนไขที่สองมีทะเบียนบ้านในประเทศไทย ไม่ใช่แรงงานต่างด้าวที่มาทำงาน แม้จะเข้าเมืองถูกกฎหมายก็จริง แต่ไม่เข้า 2 เงื่อนไข จึงไม่ถือเป็นราษฎร แต่ต่างชาติที่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายทะเบียนราษฎร จึงมีสิทธิที่จะได้รับบริการ ทำงานให้บ้านเราเสียภาษี ซึ่งคนกลุ่มนี้นำมาใช้ในการคำนวณจำนวน ส.ส.เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง
“คนไทยก็ไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน ถ้าไม่เข้าเกณฑ์หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ราษฎรมีสองประเภทคือราษฎรตามกฎหมาย ไม่ใช่ราษฎรตามความรู้สึกนึกคิดของใคร เรื่องถัดมาเรื่องการแบ่งเขต เราทำตามกฎหมาย ไม่ได้บอกว่าแบ่งเพื่อให้คนพอใจ ยิ่งครั้งนี้เราแบ่งมีเกณฑ์ให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกันมากที่สุด เช่น กรุงเทพฯ มี 50 เขตการปกครอง มีเขตเลือกตั้ง 33 เขต เมื่อคำนวณเขตต้องมีการผ่าแขวง เหมือนโคราชก็ต้องผ่าอำเภอ ผู้สมัครในครั้งนี้น่าจะมีการแข่งขันเข้มข้น 5-6 พรรค หวังชัยชนะทุกพรรค ทุกคนมีฐานเสียงตัวเอง เราแบ่งตามกฎหมาย แต่ไม่รู้ว่าใครจะได้ประโยชน์ไม่ทราบ จะบอกว่าใครพอใจ ผมตอบไม่ได้ แต่ตอบได้ว่าเราทำตามกฎหมาย” นายแสวงระบุ
เลขาธิการ กกต.กล่าวถึงการตั้งคำถามถึงการขอเวลาจัดการเลือกตั้ง 45 วันว่าเป็นการขอเวลามากไป หรือขอเพื่อใคร ขอเพื่อช่วยใครนั้น ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีสาขาครบเพียงพอที่จะส่งผู้สมัครครบทุกจังหวัด ว่า กกต.คิดเพื่อพรรคการเมือง เพราะไม่มีพรรคใดสามารถส่งผู้สมัครได้ครบทั่วประเทศ และคิดเพื่อประเทศชาติ อยากให้การเลือกตั้งเรียบร้อย ขณะนี้เป็นไปตามแผนงานในการประกาศเขตเลือกตั้ง
ส่วนความน่าเชื่อถือของ กกต. ในสายตาของสังคมนั้น นายแสวงกล่าวว่า ความน่าเชื่อถือ บางครั้งเราพูดความจริง คนยังไม่เชื่อถือ คิดว่า กกต.ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ เชื่อว่าทำดีอยู่แล้ว แต่ต้องแก้ไขเรื่องการสื่อสารให้ดี ซึ่ง กกต.มีบทเรียนหลายเรื่องที่ผ่าน สิ่งไหนที่ต้องปรับปรุง เราต้องฟังความเห็นจากสังคม นั่นเรียกว่าการบริหารสังคมที่เปราะบาง มีความหวั่นไหวกับทุกเรื่อง สมมติฐานเกี่ยวกับตัว กกต.บางเรื่องทำให้เราทำงานยาก ซึ่งเป็นโจทย์ที่นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ การอยู่กับสังคมให้ได้รับความน่าเชื่อถือ อันดับแรกต้องทำงานให้ดีก่อน และการสื่อให้ดีขึ้น หวังว่าเมื่อทุกคนที่ผ่านการอบรมวันนี้จะนำความรู้ไปใช้เกิดกับสำนักงาน กกต.จึงอยากจะฝากในเรื่องความน่าเชื่อถือ และอีกเรื่องเป็นแนวโน้มที่ดีคือความร่วมมือ ครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เริ่มมีองค์กรต่างๆ ที่เห็นต่างกับ กกต.เข้ามาร่วมงานกับ กกต.มากขึ้นในการจัดการเลือกตั้ง
“เราตกอยู่ในที่นั่งลักษณะนี้ ทำไมเราต้องมาอธิบายเรื่องเหล่านี้ ครั้งแรกคนยังไม่เข้าใจทำท่าไม่อยากจะเข้าใจด้วยซ้ำไป เหมือนจะว่าแกล้งโง่ หรือดิสเครดิต หรือไม่เข้าใจจริงๆ ผมก็ไม่ทราบ แต่นี่คือสถานะของเราที่อยู่แบบนี้ ซึ่งผมไม่อยากเป็นหรอก แต่คนเป็นกรรมการ จะเก่ง-ไม่เก่งไม่สำคัญ อย่างแรกต้องน่าเชื่อถือทั้งผู้แข่งขันทั้งกองเชียร์ ถ้ากรรมการไม่เชื่อถือแข่งอะไรก็ไม่สำเร็จ และกรรมการต้องรับผิดชอบเมื่อจบงานเอง เราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ความน่าเชื่ออย่างหนึ่งเกิดจากการทำงานที่ดี แต่เราก็ทำดีอยู่แล้ว” เลขาธิการ กกต.ระบุ
ทางด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต. กล่าวว่า กกต.ยังมีโอกาสที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยคำว่าราษฎร ตามมาตรา 86 คืออะไร จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ กกต.ทำงานได้มั่นคงปลอดภัยมากขึ้น หากศาลตีความตาม กกต.ก็เดินหน้าตามตารางงานเดิมได้เลย แต่ถ้าศาลว่าไม่ใช่ กกต. ต้องถอนกลับมาเพื่อแก้ไขการแบ่งเขตเลือกตั้งตามจังหวัดที่ได้รับผลกระทบใน 6 จังหวัด และอาจจะทำให้ล่าช้าไปเพียง 2 สัปดาห์ แต่ยังทันกับการเลือกตั้ง ดีกว่าที่ว่าประชาชนผู้ถูกลิดรอนสิทธิ์ใน 3 จังหวัดที่ควรได้ แต่ไม่ได้ ส.ส.เพิ่ม อาจจะไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือร้องโดยตรงกับศาลรัฐธรรมนูญ และถ้าศาลระบุว่าผิดขึ้นมาจะเกิดการถอยหลังกลับ ในขณะที่ทุกอย่างเดินหน้าไปไกลแล้ว และมีผลการเลือกตั้งแล้วด้วย หากเกิดความเสียหายถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อร้ายแรง ถ้ามีการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้สมัครรับเลือกตั้งใน 40 เขตนั้น น่าจะเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท ต้องชดใช้ตามตัวบุคคล ไม่สามารถนำเงินราชการมาชดใช้ได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา
"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"
ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด
ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ
บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง
"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้