ลุ้นสภาสูงโหวต‘ประชามติ’

จับตา 21 ก.พ. สภาสูงโหวตญัตติเสนอ ครม.ทำประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “สมชาย” เผยรายงาน กมธ.ไม่มีการชี้นำ แต่เนื้อหาค้านชัด  “เปลืองงบ-คำถามไม่ชัด-กระทบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จุลพันธ์ไม่แปลกใจเพราะมีธงนำ รับสภาพต้องม้วนสื่อหากถูกตีตก

ในระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566  เรื่องด่วนที่น่าสนใจคือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ พร้อมรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้ ครม.ดำเนินการ (ตามข้อบังคับ ข้อ 39/2)

โดยก่อนลงมติดังกล่าว ที่ประชุมวุฒิสภาต้องพิจารณารายงานของ กมธ.สามัญพิจารณาญัตติดังกล่าว ที่มีนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นประธาน กมธ.ก่อน ซึ่งสาระสำคัญของรายงาน กมธ.ที่เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งระบุไว้ในส่วนของบทสรุปผู้บริหาร ว่าตามที่สภาพิจารณาและลงมติเห็นชอบกับญัตติที่มีสาระให้ส่งเรื่องต่อ ครม.เพื่อดำเนินการตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมคำถามประชามติแนบท้ายคือ ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนนั้น จากการศึกษาของ กมธ. พบจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือการทำประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรรัฐ กระทบต่อหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงอัตลักษณ์สำคัญของชาติ และคุณค่าร่วมกันของสังคมไทยที่พึงปกป้องรักษาไว้

ทั้งนี้ การศึกษาของ กมธ.ได้กำหนดกรอบการพิจารณา และสรุปผลศึกษาได้คือ 1.พิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เห็นว่าการพิจารณาความเหมาะสมของรัฐธรรมนูญ สิ่งสำคัญคือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ หากมีประเด็นที่ควรแก้ไข สามารถใช้วิธีแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสม ไม่ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนั้นในเหตุผลที่เสนอต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะมีที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ถือเป็นเหตุผลอันสมควรที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส่วนประเด็นคำถามประชามติที่ไม่ได้ระบุขอบเขตจัดทำไว้ชัดเจนเพียงพอ  อาจกระทบหลักการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว รวมถึงโครงสร้างสถาบันทางการเมือง ความมั่นคงของรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ ขณะที่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องกำหนดความชัดเจนที่เป็นหลักประกันว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สามารถตอบสนองความต้องการสังคมและประเทศ รวมถึงสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

2.ประเด็นญัตติและคำถามประชามติ  กมธ.เห็นว่าญัตติด่วนของสภาอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่กำหนดให้อำนาจรัฐสภาเป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ ส.ส.ร. ดังนั้นการออกเสียงประชามติจึงปรากฏองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด

“ญัตติของสภาไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การเสนอให้ ครม.พิจารณาให้มีการออกเสียงประชามติ เนื่องจากเป็นการตั้งคำถามที่ไม่มีสาระ ซึ่งแสดงถึงความบกพร่องในเนื้อหา เหตุจำเป็นวิธีการทำรัฐธรรมนูญใหม่แทนแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ขณะที่แนวทางจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ชัดเจนเพียงพอให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาสำคัญได้โดยสะดวก” รายงานของ กมธ.ระบุ

3.ประเด็นการออกเสียงประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไป กมธ.เห็นว่า แม้กฎหมายไม่มีข้อห้าม แต่เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาและสถานการณ์ปัจจุบัน โอกาสเกิดขึ้นจึงเป็นไปได้น้อย เพราะตามขั้นตอนกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่จัดการเลือกตั้งและออกเสียงประชามติต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แตกต่างกัน

4.ประเด็นผลกระทบและการดำเนินการภายหลังออกเสียงประชามติ กมธ. ระบุว่าการออกเสียงประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีการออกเสียงประชามติไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ต้องใช้งบรวมกันไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท หากประชาชนเห็นชอบกับคำถามประชามติต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยกร่างรัฐธรรมนูญอีกไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นภาระทางงบประมาณแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีประชาชน

กมธ.ยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณาของวุฒิสภาว่าญัตติขอให้ทำประชามติ ขาดสาระสำคัญชัดเจนเพียงพอต่อเรื่องที่จะขอทำประชามติ คำถามประชามติมุ่งหมายถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับปัจจุบัน โดย ส.ส.ร. ก่อให้เกิดการตีความหลายนัย เช่น องค์ประกอบของ ส.ส.ร. อำนาจ หน้าที่ หรือ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทั้งที่การเลือกตั้งไม่ทราบวิธีที่ชัดเจน คำถามประชามติเกี่ยวกับการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นซับซ้อน และต้องทำความเข้าใจจำนวนมาก หน่วยงานจึงควรมีเวลาเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ

นายสมชายยืนยันว่า การศึกษาของ กมธ.ไม่มีการชี้นำต่อการลงมติของ ส.ว. ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ และการศึกษาของ กมธ. เป็นการศึกษาทางวิชาการที่ศึกษาแล้วอย่างรอบด้าน เป็นกลาง และพร้อมให้ทุกหน่วยงานนำไปพิจารณาประกอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญในอนาคต

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้เสนอญัตติต่อสภาในเรื่องนี้ กล่าวว่า เพิ่งรับทราบว่าจะมีการลงมติในวันที่ 21 ก.พ.  ซึ่งรายงานของ กมธ.ที่มีนายสมชายเป็นประธานศึกษาประเด็นให้ความเห็นคัดค้านการเห็นชอบนั้น เป็นประเด็นที่ถูกตั้งธงไว้อยู่แล้ว ไม่รู้สึกประหลาดใจ

เมื่อถามถึงบรรยากาศที่เข้าชี้แจงใน กมธ.ดังกล่าวของ ส.ว.ในช่วงการศึกษาก่อนทำรายงานเป็นอย่างไร นายจุลพันธ์กล่าวว่า ตอนไปชี้แจงมีความชัดเจนในความรู้สึกส่วนตัว คือมีการเผชิญหน้าระหว่าง ส.ว.และ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมองว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้เกิดการประจันหน้ากันและกระทบกระทั่งกัน และยิ่งใกล้เลือกตั้งทำให้เห็นภาพการกระทบกันที่รุนแรง แต่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มองว่าเป็นช่องทางที่จะลดสถานการณ์ตึงเครียดในสังคมได้ เพื่อให้ประชาชนมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ

“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผ่านมามีเพียงฉบับเดียวที่ผ่านความเห็นชอบ คือเรื่องของจำนวน ส.ส.เพราะผู้มีอำนาจอนุมัติ อีกทั้งเป็นสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลเรียกร้อง แต่การออกแบบที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่การแก้ไขเพื่อประชาชนหรือทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย” นายจุลพันธ์กล่าว

ถามอีกว่า ถ้า ส.ว.โหวตตกญัตติดังกล่าวจะเดินหน้าอย่างไรต่อ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หาก ส.ว.โหวตค้านถือว่ากลไกจบแล้ว เพราะตามกฎหมายประชามติระบุว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา หากให้สภาเป็นผู้เสนอญัตติต้นเรื่อง เมื่อได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่ต้องส่งให้ ส.ว.ลงมติด้วย หาก ส.ว.ไม่เห็นชอบญัตติต้องตกไป อย่างไรก็ดี จากนี้เราต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ใช้เสียงประชาชนเป็นตัวตัดสินอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ส.ว.จอมบู๊’ดอดพบตร.แล้ว

ส.ว.จอมบู๊ "กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ" ดอดพบพนักงานสอบสวน สภ.โพทะเล หลังถูกตำรวจแจ้ง 3 ข้อกล่าวหาคดีเชื่อมโยงชายชุดดำบุกวัดบางคลาน ทำร้ายพระ ชาวบ้าน ไวยาวัจกรวัด แต่เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ไม่วางมือ‘บิ๊กตู่’ยังนำทัพรทสช.

ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ รวมไทยสร้างชาติเขย่าพรรค เดินหน้าเป็นสถาบันการเมือง "ธนกร" เผย "บิ๊กตู่" ยังอยู่นำพรรคต่อไป บนอุดมการณ์ปกป้องสถาบันหลักของชาติ ส่วน "บิ๊กป้อม" ฟิต จ่อลงพื้นที่กำแพงเพชร

สอน‘ก้าวไกล’ ‘สุชาติ’ชี้อย่าเห็น‘ประธานสภาฯ’เป็นของพรรค

ยังซัดกันนัวเนีย "สุชาติ" อบรมก้าวไกล ตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ใช่ของพรรคการเมือง ใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้ วอนอย่ากล่าวหาสภาในทางเสียหาย เพราะเหมือนกับตำหนิการทำหน้าที่ของตัวเองด้วย "ณัฐวุฒิ" เตือนอย่าคิดว่าการต่อสู้จบลงแล้ว

ปชป.ย้อนความคิดก้าวไกล แก้.112-เลิกโทษหมิ่นศาล!

ประชาธิปัตย์ปฏิเสธไม่มีดีลการเมืองตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย แจงเหตุผล "ชวน" เบรกร่างแก้ไข ม.112 ของก้าวไกล เพราะขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ย้ำไม่ไว้วางใจก้าวไกล ในอดีตเคยเสนอยกเลิกอัตราโทษจำคุกฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานและศาล ขณะที่มีการคุกคามข่มขู่ตุลาการ เอาชื่อผู้พิพากษา และข้อมูลส่วนตัวมาพูดบนเวทีปราศรัย