“จุรินทร์” สั่งลูกพรรคเข้าประชุมสภานัดพิเศษ 28 ก.พ. อย่างพร้อมเพรียง “ชลน่าน” ลั่นเตรียมสกัดทุกทางไม่ให้ พ.ร.ก.ยื้อกฎหมายอุ้มทรมานฯ ผ่าน ปูดพรรคร่วมแอบทำคำร้องยื่นศาล รธน.ตีความไว้แล้ว 19 เอ็นจีโอร่อนแถลงการณ์จี้พรรคการเมืองโหวตคว่ำ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 4 ครั้งที่ 31 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวันอังคารที่ 28 ก.พ. เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ว่าได้กำชับ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ให้เข้าร่วมประชุมสภาอย่างพร้อมเพรียง และจะเข้าประชุมด้วย เพราะเราทำดีมาตลอด โดยพรรคให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา
เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไรต่อเนื้อหาของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ที่ขยายเวลาการเริ่มบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ออกไป นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ต้องไปคุยกัน แล้ววิปรัฐบาลจะได้ส่งสัญญาณมาว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หาก พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา จะส่งผลกระทบกับรัฐบาล แต่บังเอิญว่ามาอยู่ช่วงที่รัฐบาลจวนเจียนจะหมดวาระพอดี จึงทำให้คนคำนึงถึงประเด็นนี้น้อยลง
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวในเรื่องนี้ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว เพราะเป็นการออก พ.ร.ก.ที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ตลอดจนละเมิดสิทธิประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ ซึ่งขาดการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ตลอดระยะเวลาที่สูญเสียไปอีก 7-8 เดือน โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งอันตรายมาก
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านอยู่ระหว่างการสังเกตว่าเสียงข้างมากจะเห็นอย่างไร เพราะแม้พรรคร่วมฝ่ายค้านที่เป็นเสียงข้างน้อยจะไม่อนุมัติ แต่หากเสียงข้างมากอนุมัติ พ.ร.ก.ก็ยังบังคับใช้ได้ ดังนั้นพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเตรียมการสังเกตเสียงข้างมาก หากมีแนวโน้มจะผ่านการอนุมัติ พรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะยื่นคำร้องต่อประธานสภาฯ ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.ดังกล่าวก่อนเข้าสู่กระบวนการอนุมัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
“เรามีข้อสังเกตว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลแอบทำคำร้องไว้อีกฉบับที่ชนกับคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย จึงกำลังดูเกมตรงนี้ว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลคิดอะไร หากคิดตรงกันกับ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ไม่เป็นอะไร” นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามว่า หาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ผ่านการอนุมัติ จะนำไปสู่ความรับผิดชอบของรัฐบาลในการลาออก จะเป็นเหตุให้นายกฯ ชิงยุบสภาหรือไม่ นพ.ชลน่านตอบว่า เขาคงหน้าไม่บางพอ จริงอยู่ว่าการไม่อนุมัติ พ.ร.ก.เป็นเรื่องใหญ่ และรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งในอดีตมีรัฐบาลลาออกเยอะมาก การแสดงความรับผิดชอบผ่านการลาออกหรือยุบสภาก็ถือเป็นจังหวะเวลาช่วงเหมาะพอดี แต่เขาอาจไปยุบสภาตามกำหนดวันที่ 15 มี.ค.ได้ มันไม่จำเป็นและไม่มีผลอะไรเลย
วันเดียวกัน องค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) 19 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR), กลุ่มด้วยใจ, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD, เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี HAP, ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน (ศสอ.), มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, มูลนิธิสายเด็ก 1387, มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR), คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (pro-rights), มูลนิธิรักษ์เด็ก และมูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ ส.ส.ไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าว
สำหรับเนื้อหาแถลงการณ์ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2566 ก่อนกฎหมายฉบับนี้จะมีผลวันที่ 22 ก.พ.เพียง 4 วัน ซึ่งสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ดังกล่าว ให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22, 23, 24 และ 25 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องบันทึกภาพและเสียงตลอดเวลาที่เข้าตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัวและขัง พร้อมกับแจ้งให้ฝ่ายปกครอง (อำเภอ) และอัยการทราบ ทำบันทึกการจับกุม สภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกจับและควบคุมตัวโดยละเอียด เพื่อให้ญาติและทนายความสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการซ้อมทรมาน การอุ้มหาย อุ้มฆ่า และการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบโดยเจ้าหน้าที่ โดย ครม.มีมติให้ชะลอการบังคับใช้ออกไปจนถึงวันที่ 1 ต.ค.2566 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยให้เหตุผลว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติการตามกฎหมายแจ้งว่ายังมีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับความพร้อมด้านงบประมาณการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนโดยตรง หากมีการใช้บังคับกฎหมายขณะที่หน่วยงานยังไม่มีความพร้อม อาจเกิดผลร้ายต่อสังคมเป็นอย่างยิ่งนั้น
19 องค์กรเอกชนเห็นว่า การตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวของ ครม.น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เนื่องจากเหตุในการออก พ.ร.ก.ตามมาตรา 172 ต้องเป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ร่าง พ.ร.ก.ตามมติ ครม. มิได้เป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะ ผบ.ตร.เคยออกคำสั่งที่ 178/2564 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กล้องติดตัวบันทึกภาพและเสียงขณะทำการตรวจค้นจับกุมและการสอบสวนมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว และการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป ก็มิใช่เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่ ครม.จะตราพระราชกำหนดเพื่อเลื่อนการบังคับใช้ออกไป
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เป็นกฎหมายที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันประชาชนจากอาชญากรรมที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ การกระทำทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการบังคับให้บุคคลสูญหาย การที่ ครม.เห็นชอบให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป แม้เป็นเพียงบางมาตรา แต่เป็นมาตราที่กำหนดมาตรการที่สำคัญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ โดยการตรา พ.ร.ก.ที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นั้น แสดงให้เห็นถึงความไม่เต็มใจของรัฐบาลในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศในเวทีนานาชาติอย่างยิ่ง
“ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรค และสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาไม่อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ตามที่ ครม.เสนอ ด้วยความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตย” แถลงการณ์ทิ้งท้าย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา
"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"
ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด
ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ
บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง
"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้