จ้างงานขยายตัวหนี้พุ่ง ส่งออกร่วงต่อเนื่อง4ด.

“สภาพัฒน์” แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/65 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น ขยายตัว 1.5% การว่างงานลดลง 1.15% ส่วนหนี้ครัวเรือนไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 14.9 ล้านล้านบาท จับตาหนี้สินเชื่อยานยนต์ยังพุ่งไม่หยุด ส่งออก ม.ค.66 ทำได้มูลค่า 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.5% ขยายตัวติดลบ 4 เดือนติดต่อกัน มูลค่าต่ำสุดรอบ 23 เดือน เหตุเงินเฟ้อคู่ค้าพุ่ง ทำกำลังซื้อลด และการผลิตโลกหดตัว

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/ 2565 ว่า สถานการณ์การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขยายตัว 1.5% จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ส่วนอัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.15% ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน หรือคิดเป็นผู้ว่างงานจำนวน 4.6 แสนคน ลดลงทั้งจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน

สำหรับไตรมาส 4/2565 การจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัวเป็นผลจากการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น 3.4% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการค้าส่งและค้าปลึก ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับภาพรวมปี 2565 อัตราการมีงานทำและชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ผู้มีงานทำมีจำนวน 39.2 ล้านคน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวขึ้นจากปีก่อน

“หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 3/2565 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.9 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.9% จาก 3.5% ของไตรมาสก่อน โดยปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 86.8% ลดลงจาก 88.1% จากไตรมาสที่ผ่านมา” นายดนุชากล่าว 

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงทรงตัว โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ไตรมาส 4/2565 มีสัดส่วน 2.62% ต่อสินเชื่อรวม ดังนั้นจึงต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อ ความคืบหน้า การปรับโครงสร้างหนี้ และการมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม ส่วนสินเชื่อยานยนต์ หนี้ที่มีปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-49 ปี หรือวัยทำงาน มีปัญหาการชำระ มูลค่าหนี้เสียสัดส่วน 59.2% เทียบกับช่วงอายุอื่นๆ ซึ่งต้องมาช่วยกันดู เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป็นกำลังแรงงาน พยายามสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งต้องให้ความรู้ทางการเงินและสร้างความตระหนักในการก่อหนี้

ทั้งนี้ จากข้อมูลเครดิตบูโรพบว่า กลุ่มลูกหนี้ดีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนกลายเป็นหนี้เสียยังมีปริมาณมาก แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลง แต่มูลค่าหนี้เสียของกลุ่มดังกล่าวยังสูงถึง 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 และมีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 ล้านบัญชีจาก 4.3 ล้านบัญชีของไตรมาสก่อนหน้าซึ่งเกือบ 60% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มตลาดแรงงานปี 2566 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ที่คลี่คลายลง โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ 1.การจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกและโอกาสการหางานของเด็กจบใหม่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจกระทบต่อการจ้างงานในสาขาที่เกี่ยวข้องและเป็นอุปสรรคต่อการหางานของเด็กจบใหม่ 

2.ภาระค่าครองชีพของแรงงานจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และ 3. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว โดยสาขาโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร และร้านค้า ยังมีความต้องการแรงงานอีกประมาณ 10,000 ตำแหน่ง ใน 60 จังหวัด

ด้านนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ม.ค.2566 มีมูลค่า 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.5% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 700,127 ล้านบาท โดยการส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าเกษตร 2.2% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลด 3.3% และสินค้าอุตสาหกรรม ลด 5.7% และยังได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศคู่ค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อ และการผลิตโลกหดตัว ทำให้มีการนำเข้าลดลง

ทั้งนี้ แม้การส่งออกจะลดลง แต่สินค้าสำคัญหลายตัวยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ข้าว เพิ่ม 72.3%, ไขมันจากพืชและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เพิ่ม 124%, ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 50%, ผลไม้สด เพิ่ม 2.5% โดยทุเรียนสด เพิ่ม 53.3%, มะม่วงสด เพิ่ม 21.9%, มังคุดสด เพิ่ม 821% ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 7.6%, ยางพารา ลด 37.6%, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลด 4.8%,  น้ำตาลทราย ลด 2.3%, ไก่แปรรูป ลด 2.2%, อาหารสัตว์เลี้ยง ลด 11%

 ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่กลับมาเพิ่ม 9.2%, อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เพิ่ม 72.3%, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 16.4%, หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 44.9%, เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เพิ่ม 47.1% ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลด 21.2%, ผลิตภัณฑ์ยาง ลด 8.2%, อัญมณีและเครื่องประดับ ลด 3.8%, เม็ดพลาสติก ลด 30%, เคมีภัณฑ์ ลด 17.6%

 สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ภาพรวมยังคงลดลง โดยตลาดหลักลด 5.3% เช่น สหรัฐ ลด 4.7%, จีน ลด 11.4%, ญี่ปุ่น ลด 9.2%, CLMV ลด 11.1% แต่อาเซียน 5 ประเทศ เพิ่ม 2.3% สหภาพยุโรป เพิ่ม 2.2% ตลาดรอง ลด 3.1% เช่น เอเชียใต้ ลด 4.3% ทวีปออสเตรเลีย ลด 7.2% รัสเซียและกลุ่ม CIS ลด 46.4% แต่ตะวันออกกลาง เพิ่ม 23.7% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 14.7% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 1.5% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 6.1% และตลาดอื่นๆ เพิ่ม 17.4% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 18.6%

  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกในเดือน ม.ค.2566 ที่ขยายตัวติดลบ 4.5% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นับจากเดือน ต.ค.2565 ที่ลบ 4.4%, พ.ย.2565 ลบ 6% และ ธ.ค.2565 ลบ 14.6% และมีมูลค่าต่ำสุดในรอบ 23 เดือน ส่วนการนำเข้าที่สูงขึ้น ทำให้ยอดขาดดุลการค้ามีมูลค่า 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นยอดขาดดุลที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง