ปปช.ฟันโกงถุงมือยาง เชือดอดีตผู้ว่ากาฬสินธุ์

ป.ป.ช.ชี้มูลอดีตประธาน อคส.และพวก คดีโกงถุงมือยางแสนล้าน เดินหน้าคุ้ยต่อบริษัทเอกชนเอี่ยวฟอกเงิน เลขาฯ ป.ป.ช.ยันฟัน “ยรรยง” คดีข้าวถุง อ.ต.ก. ควันออกหูหามือปล่อยข่าวมติที่ประชุมรั่ว ขณะที่ อดีตผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ไม่รอด ร่ำรวยผิดปกติ

เมื่อวันพุธ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) พร้อมพวก ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีจัดซื้อถุงมือยาง จำนวน 500,000,000 กล่อง ระหว่างองค์การคลังสินค้า กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด มูลค่ากว่า 112,500,000,000 บาท

นายนิวัติไชยกล่าวว่า ทั้งนี้มีผู้ถูกกล่าวหา 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ขององค์การคลังสินค้า 2. กลุ่มเอกชนผู้ทำสัญญาซื้อถุงมือยางจากองค์การคลังสินค้า 3.กลุ่มเอกชนผู้ทำสัญญาขายถุงมือยางให้กับองค์การคลังสินค้า โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติการดำเนินการทางอาญาและทางวินัย ดังนี้ 1.การกระทำของ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า และนายเกียรติขจร แซ่ไต่ หัวหน้าส่วนงานการตลาดดิจิตอล รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการขายและจัดจำหน่าย องค์การคลังสินค้า

เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 มาตรา 11 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 มาตรา 8 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2561 

นายนิวัติไชยกล่าวต่อว่า 2.การกระทำของนายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 มาตรา 11 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 มาตรา 11 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83

3.การกระทำของนายมูรธาธร คำบุศย์ หัวหน้าส่วนงานการเงิน สำนักบริหารการเงิน องค์การคลังสินค้า มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2561 

นายนิวัติไชยระบุว่า 4.การกระทำของบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด และนายธณรัสย์ หัดศรี กรรมการบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด, นายศรายุทธ สายคำมี, น.ส.ปิยาภรณ์ รอดเจริญ, น.ส.พิชญศรส์ เศวตศุภวัฒณ์, น.ส.กันตา สิงห์ศักติ, นายอัยวัฏฐ์ เศวตนริทร์,  น.ส.สุภาวดี เอกรัตนากุล หรือจักรบดินร์, นายชิเนนทรธรณ์ หรือชเนนทร เลิศพิพัฒน์, นายก้องหล้า มฤคพิทักษ์,นางเฟื่องฟ้า วงศ์สินศิริกุล, นายอับดุลลา ปาทาน, นายราชาทีปซิงห์ ยอน, นางฉันทิศา หวง กรรมการบริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด, บริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด, ร.ต.อ.นพฤทธิ์ หรือ ณรภัทร สุขแจ่ม, นางนรากร รมศรี และนางปณาลี บุรณศิริ

เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86

นอกจากนี้ การกระทำของ น.ส.กันตา สิงห์ศักติ ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547

นายนิวัติไชยกล่าวว่า การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้อายัดไว้รวมเป็นเงินและทรัพย์สิน 550,643,514 บาท และที่ดินกว่า 33 ไร่ โดยขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลริบทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิดดังนี้ 1.เงินฝากของบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด และนายธณรัสย์ หัดศรี ในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รวมเป็นเงินจำนวน 315,946,014.79 บาท พร้อมดอกเบี้ย 2.เงินของบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด ที่สำนักงานวางทรัพย์จังหวัดนครปฐม จำนวน 14,697,500 บาท

นายนิวัติไชยระบุว่า 3.ที่ดินของบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด ตามโฉนดที่ดินตำบลท่าโรงช้าง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง 4.เงินจำนวน 200,000,000 บาท ที่บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด นำไปวางเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญากับองค์การคลังสินค้า ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำสั่งอายัดไว้ 5.เงินจำนวน 20,000,000 บาท ที่บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด จ่ายให้กับบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำสั่งอายัดไว้ และให้ส่งข้อมูลที่ได้จากการไต่สวนให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

เมื่อถามถึงการประสานข้อมูลเพื่อติดตามเงินส่วนที่เหลือ และการยึดอายัดทรัพย์สินผู้กระทำความผิดจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายนิวัติไชยกล่าวว่า ปัจจุบัน ป.ป.ช.มีการประสานงานกับ ปปง.อยู่ตลอดเวลาในเรื่องดังกล่าว มีการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไว้แล้วเบื้องต้นกว่า 500 ล้านบาท และที่เหลืออยู่ระหว่างติดตาม โดยข้อมูลของ ป.ป.ช.ปัจจุบันพบว่า เส้นทางเงินกรณีนี้มีการขยับตลอดเวลา โดยตอนนี้มีการโอนเงินจากการกระทำความผิดดังกล่าวไปไว้ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ แต่เข้าใจว่าเป็นการฟอกเงิน โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

วันเดียวกัน นายนิวัติไชยระบุถึงกรณีก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลนายยรรยง พวงราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ (อดีต รมช.พาณิชย์ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) กับพวก คดีกล่าวหาดำเนินการจัดจ้างผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพข้าวและบรรจุถุง โครงการข้าวสารช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยภายในประเทศขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในช่วงปี 2554-2556 โดยมิชอบหรือโดยทุจริต  ว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยืนยันมติอย่างเป็นทางการอีกครั้ง คาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะมีการแถลงข่าวแก่สาธารณชนต่อไป

 “นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.จะมีการตรวจสอบและติดตามว่าบุคคลใดมีการนำข้อมูลจากที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติอย่างหนึ่งอย่างใดไปให้บุคคลภายนอกด้วย โดยจะตรวจสอบทั้งหมดว่าข่าวหลุดไปได้อย่างไร” นายนิวัติไชยระบุ

นายนิวัติไชยระบุถึงกรณี ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายภุชงค์ โพธิกุฎสัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่า 10,045,000 บาท โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน

นายนิวัติไชยกล่าวว่า นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด น.ส.วราภัสร์ ลอยขจร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ กับพวก เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เพื่อเป็นการตอบแทนที่จะช่วยเหลือในการบรรจุเข้ารับราชการ

 “คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติว่าการกระทำของ น.ส.วราภัสร์ ลอยขจร และนายจักรินทร์ นิลแพทย์ มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/4 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 175) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง, น.ส.เอติพากร ธรรมยม มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 ประกอบมาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 175)” นายนิวัติไชยระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง