กกต.จ่อถกมติครม.อุ้มค่าไฟฟ้า

กกต.ได้รับหนังสือ ครม. ขอไฟเขียวอุ้มค่าไฟแล้ว จ่อบรรจุวาระเข้าที่ประชุม ย้ำเร่งไม่ได้ต้องเป็นไปตามคิว กกร.ชี้สินค้าส่อขยับรอบ 2 หลังต้นทุนค่าไฟพุ่งแรง หวั่นภัยแล้งซ้ำเติม เล็งร่อนหนังสือถึงนายกฯ รับมือ “พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ เม.ย.66 เพิ่ม 2.67% ชะลอตัวต่อเดือนที่ 4 ต่ำสุดรอบ 16 เดือน

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)​ ขออนุมัติงบกลางจำนวน 10,464  ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือลดภาระค่าไฟฟ้ารอบเดือนในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนว่า ขณะนี้สำนักเลขาธิการ ครม.ได้ส่งหนังสือกลับมายังสำนักงาน กกต.เรียบร้อยแล้วในช่วงบ่ายวันที่ 3 พ.ค. เบื้องต้นสำนักงานจะต้องตรวจสอบว่า ครม.ได้มีการทำตามเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ ทั้งตรวจสอบและวิเคราะห์เนื้อหาเหตุผล ความจำเป็น เพื่อประกอบความเห็นนำเสนอให้ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณา 

โดยสำนักงาน กกต.จะต้องนำไปบรรจุในระเบียบวาระการประชุม กกต. ซึ่งเป็นไปตามลำดับในวาระการประชุม   ไม่มีการเร่งหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ส่วนจะพิจารณาในสัปดาห์หน้าได้หรือไม่นั้น  ไม่ทราบ ต้องไปดูลำดับเรื่องพิจารณาที่อยู่ในวาระการประชุม กกต.ก่อนหน้ามีมากน้อยแค่ไหน ส่วนจะอนุมัติตามที่ ครม.เสนอหรือไม่ หรืออนุมัติวันไหน ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม กกต. ไม่สามารถให้คำตอบแทน กกต.ได้ 

ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ณ เดือน พ.ค. ยังคงการคาดการณ์เดิมว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.0-3.5% ตัวเลขการส่งออกติดลบที่ 1.0-0.0% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.7-3.2% ขณะที่เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยว ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 มีโอกาสแตะระดับ 30 ล้านคน ทำให้จีดีพีช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ขณะเดียวกันภาวะต้นทุนยังอยู่ในระดับสูง และอาจปรับตัวลงช้า ราคาในตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลัก ยังทรงตัวในระดับสูง และมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนยังไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกับในกรณีของประเทศไทย ที่ผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อส่งผ่านภาระต้นทุนต่อไปในระยะข้างหน้า ผลกระทบจากราคาสินค้าและต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยกดดันภาคธุรกิจและครัวเรือนต่อไป ทั้งนี้ ต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งที่อาจซ้ำเติมราคาอาหารภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงเห็นควรให้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยด่วนที่สุด เพื่อขอให้พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปี และระยะยาว

 “ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเฉลี่ยประมาณ 5-10% ค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ที่ปรับอยู่ที่ระดับ 4.70 บาทต่อหน่วย ส่งผลต่อราคาสินค้าบางประเภทที่ปรับขึ้นบ้างแล้ว อยากฝากเรื่องถึงกระทรวงพาณิชย์ให้ติดตามราคาสินค้าให้อยู่ระดับเหมาะสม ซึ่งที่กระทรวงพาณิชย์สามารถดูแลได้แน่นอนคือสินค้าควบคุม แต่สินค้าที่ควบคุมไม่ได้ อยากขอร้องให้ปรับราคาอย่างเหมาะสมต่อต้นทุนผู้ประกอบธุรกิจ และคำนึงถึงรายจ่ายของประชาชนด้วย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันสูงขึ้น มีการปรับราคาสินค้าแล้ว 1 ครั้ง และขณะนี้จะมีการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 2 จากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิต" นายเกรียงไกรระบุ

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเม.ย.2566 เท่ากับ 107.96 เทียบกับ มี.ค.2566 เพิ่มขึ้น 0.19% เทียบกับเดือนเม.ย.2565 เพิ่มขึ้น 2.67% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับจากธ.ค.2564 ที่อยู่ที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2.17% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในหมวดอาหารที่ราคาชะลอตัว และฐานราคาในเดือนเม.ย.2565 ที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง  ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 3.58% ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนเม.ย.2566 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.2566 และเพิ่มขึ้น 1.66% เมื่อเทียบกับเม.ย.2565 รวม 4 เดือนเพิ่มขึ้น 2.09%  

นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน พ.ค.2566 คาดว่าจะชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ไม่น่าจะถึง 2% อาจจะเห็น 1% กว่าๆ เพราะฐานราคาเดือนพ.ค.2565 ค่อนข้างสูง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมามาก ราคาสินค้าและบริการเริ่มทรงตัว และบางรายการชะลอตัวและลดลง และค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.2566 ปรับลดลงเหลือหน่วยละ 4.70 บาท ซึ่งมีส่วนช่วยให้เงินเฟ้อเดือน พ.ค.ไม่น่าจะสูงขึ้น และอาจจะทำสถิติต่ำสุดอีก แต่ต้องจับตาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ เช่น ก๊าซหุงต้มที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญ ปัญหาภัยแล้งกระทบต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ที่ระหว่าง 1.7–2.7% ค่ากลาง 2.2% โดยประเมินว่าเงินเฟ้อนับจากเดือน พ.ค.2566 เป็นต้นไป จะเริ่มลดลง และชะลอตัวลงต่อเนื่องถึงปลายปี ทำให้เงินเฟ้อลดลงกลับมาสู่กรอบเป้าหมาย แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สนค.ก็จะมีการทบทวนตัวเลขเป้าหมายเงินเฟ้ออีกครั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง