รุกคืบยื่นตัดสิทธิ์‘พิธา’ย้อนปี62

"วิษณุ" คลี่ปมหุ้นไอทีวี “พิธา” ต้องฝ่าด่าน กกต.-ศาล รธน. ชี้โพรงเห็นทิศทางคดีได้จากคำวินิจฉัยเก่า ขณะที่ "เรืองไกร" รุกคืบยื่นหลักฐานเพิ่มเทียบ "ธัญญ์วาริน” หลุดเก้าอี้ ส.ส. มัดก๊อกสองจี้สอบย้อนหลังสมัคร ส.ส.62 “ครป.” ระบุตัวแปรการเมืองอยู่ที่ปลายทางคดีไม่ใช่ ส.ว.-ดีลลับ "เพื่อไทย" เฮ! รอดตายกระเป๋าเงินดิจิทัล

เมื่อวันจันทร์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐธรรมนูญระบุบทบัญญัติเกี่ยวกับการถือครองหุ้นมีเจตนารมณ์อย่างไรว่า ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้สั้นๆ เท่านั้น โดยไม่ได้บอกว่ากี่หุ้น และไม่ได้บอกว่าต้องเป็นสื่อขนาดไหน โอเปอเรตคือดำเนินการอยู่หรือไม่ แต่ถ้าดูคำวินิจฉัยเก่าๆ ของศาลรัฐธรรมนูญก็อาจเห็นทิศทางได้เหมือนกัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินเรื่องนี้มาแล้วหลายคดี

เมื่อถามว่า กรณีถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะต้องรีบทำให้เสร็จก่อนถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หรือเป็นเรื่องระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับศาลรัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นเรื่องของ กกต.กับศาลรัฐธรรมนูญ คือด่านที่ 1 กกต. ด่านที่ 2 ไปศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามย้ำว่า ถ้า กกต.เห็นด้วยก็ไปศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ หรือถ้าไม่เห็นด้วยก็สามารถปัดตกได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าใช่ เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องไต่สวนฉุกเฉินก่อน หรือให้เป็นไปตามกระบวนการ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นไปตามปกติ ไม่มีอะไรแปลกประหลาด แต่เมื่อศาลรับเรื่องก็มีสิทธิ์สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ อย่างเช่นเมื่อคราวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เลือกนายกฯ กันตอนนั้นอยู่ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. แต่ตัดสินออกมาในเดือน พ.ย. เมื่อถามว่าแต่กรณีนี้ กกต.จะต้องรับรองเป็นส.ส.ก่อนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าใช่ 

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางมาให้ถ้อยคำต่อ กกต.กรณีขอให้ตรวจสอบนายพิธา ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล กรณีการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ว่าเป็นการกระทำผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนายเรืองไกรระบุว่า วันนี้ยังได้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมเป็นกรณีคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญที่ 20/2563 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.อนาคตใหม่ในขณะนั้น มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร ส.ส.เนื่องจากถือครองหุ้นสื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง โดยศาลให้มีผลนับแต่วันสมัคร ส.ส.คือวันที่ 6 ก.พ.62

นายเรืองไกรระบุว่า โดยเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวยึดตามตัวบทกฎหมายเพียงว่า นายธัญญ์วารินถือหุ้นหรือไม่ และบริษัทยังประกอบกิจการ หรือมีความสามารถที่จะกลับมาประกอบกิจการได้หรือไม่ โดยไม่ได้มีการวางหลักต้องถือมากน้อยแค่ไหน โดยนายธัญญ์วาริน ถือหุ้นอยู่ใน 2 กิจการ ต่างจากนายพิธาที่ถือหุ้นไอทีวี แต่ต่อมาในปี 2564 กกต.ก็ได้ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้มาวินิจฉัยผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 รวม 4 คำวินิจฉัย และมีการสั่งดำเนินคดีอาญาด้วย ทำให้เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงนายพิธาถือหุ้นไอทีวีตั้งแต่ปี 2551 และปี 2562 นายพิธาเป็นผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่

นายเรืองไกรระบุว่า หากวันนี้ กกต.จะวินิจฉัยเรื่องการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ก็ต้องยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของ กกต. โดยจะต้องย้อนไปพิจารณาว่าการถือหุ้นไอทีวีดังกล่าวของนายพิธาก่อนปี 2562 และถือต่อเนื่องมานั้น เป็นเหตุให้นายพิธาสิ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ปี 2562 โดยต้องมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่นายพิธายื่นสมัครคือวันที่ 6 ก.พ.ใช่หรือไม่

 “การที่นายพิธาได้มาเป็น ส.ส.มีการโหวตกฎหมายต่างๆ ไป ไม่ได้มีผลทำให้กฎหมายเหล่านั้นต้องเสียไป แต่เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินเพิ่มผู้ช่วยผู้ชำนาญการรวมอีก 8 คนอาจจะมีปัญหาได้ จากข้อเท็จจริงนี้จำเป็นที่ กกต.จะต้องย้อนกลับไปตรวจสอบคุณพิธาเมื่อปี 2562 ว่าสิ้นสมาชิกภาพ ส.ส.หรือไม่ โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของ กกต.ที่ 1-4/2564 1, 2, 3 และ 9/2564 ที่ลงนามโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.เอง” นายเรืองไกร กล่าว

เมื่อถามว่า ได้ยื่นตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพของนายพิธาเมื่อปี 2562 ด้วยหรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า ถือเป็นการกระทำ 2 กรรม และเมื่อพบว่านายพิธายังคงถือหุ้นบริษัทไอทีวีในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 และในฐานะหัวหน้าพรรคที่เซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.เขตเกือบ 400 เขต และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ขอให้วินิจฉัยว่านายพิธาจะมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.หรือไม่ และในฐานะผู้ยินยอมให้พรรคก้าวไกลเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จึงนำมาตรา 98 มาบังคับใช้ด้วย

นายเรืองไกรยังกล่าวอีกว่า นอกจากร้อง กกต.โดยตรงตอนนี้แล้ว เมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ตนก็จะไปขอร้องให้ ส.ส.และ ส.ว.หรือสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อส่งคำร้องให้ตรวจสอบคู่ขนานไปกับการตรวจสอบของ กกต.ตามแนวทางที่เคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบสมาชิกภาพนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเมื่อปี  2551 จนนายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะคำพิพากษาว่าเป็นลูกจ้าง จากหลักฐานใบหักภาษี ภ.ง.ด.3 ไม่ได้ยึดตามพจนานุกรม เช่นเดียวกับกรณีของนายพิธา ก็มีหลักฐานเป็นใบ บมจ.006 ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด จึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักฐานที่ถูกต้อง ซึ่ง กกต.ควรจะต้องนำไปประกอบการพิจารณา  ส่วนผู้วินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ 

นายเรืองไกรยังกล่าวอีกว่า มีเอกสารเพิ่มเติมอีกคือ คำสั่งศาลปกครองและมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับบริษัทไอทีวี และการรายงานสถานการณ์จนถึงปี 2564 โดยการยื่นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทไอทีวียังดำเนินการกิจการอยู่  

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต.ด้วยเช่นกัน 

ที่รัฐสภา นายสมชาย เสียงหลาย ส.ว. ระบุว่า ต้องยอมรับความจริงว่าจำนวนของคะแนนเสียงไม่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ คะแนนเลือกตั้งเป็นการฟ้องให้เห็นโดยชัดเจน เมื่อถามว่า นายพิธาประกาศตัวเป็นว่าที่นายกฯ ยังไม่ใช่ตัวจริงใช่หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า เป็นแค่ข้อเสนอของคุณพิธาที่ identify ตัวเองว่าได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงยังไม่รู้ข้อสรุปว่าจะออกมาในรูปแบบไหน

ขณะที่นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า นายพิธาจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่พรรคเพื่อไทย แต่ขึ้นอยู่กับคดีหุ้นสื่อไอทีวี ว่าหลัง กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร และหากวินิจฉัยแล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ซึ่งจะเกิดก่อนการเลือกนายกฯ แน่นอน เชื่อว่าช่วงไม่กี่วันนั้นพรรคเพื่อไทยคงจะเสนอชื่อนายกฯ แทน แต่ทั้งสองพรรคคงเป็นรัฐบาลร่วมกันเหมือนเดิม ตัวแปรมีแค่นายกฯ มาจากพรรคไหนเท่านั้น มวลชนทั้ง 2 พรรคตัดสินใจแทนไม่ได้

 วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กกต.ได้มีการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา กรณีมีการยื่นร้องให้ กกต.ตรวจสอบนโยบายหาเสียงกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย ว่าเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ และหลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครตามมาตรา 73 (1) (5) พระราชบัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 หรือไม่ โดยที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาและมีมติตามที่สำนักงานเสนอว่า ไม่ควรรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียง เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วจึงไม่อยู่ในข่ายฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง จึงมีมติยกคำร้อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง