กมธ.พัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา ชี้ "ส.ว.จเด็จ" เจตนาดี มองการณ์ไกล ชง "รัฐบาลแห่งชาติ" หวังแก้วิกฤตเลือกนายกฯ แต่เป็นไปได้ยาก เตรียมร่อนหนังสือจี้ กกต.ส่งศาล รธน. หาข้อยุติปมหุ้นสื่อ "พิธา" หวั่นปล่อยสภาโหวตนายกฯ เสี่ยงเกิดความวุ่นวายในสังคม "3 พรรคเล็ก" ร้องศาล ปค. สั่งโมฆะเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เหตุไม่สุจริต
ที่รัฐสภา วันที่ 6 มิ.ย. มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นประธานคณะ กมธ. โดยภายหลังการประชุมนายเสรีแถลงว่า ที่ประชุมได้รับฟังความเห็นของนายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. ในฐานะรองประธาน กมธ. กรณีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และมองว่าเป็นการมองการณ์ไกล และไม่ใช่เจตนาร้าย แต่เป็นความหวังดีเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่อาจมีข้อขัดแย้งประเด็นคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ส.ส. การถือหุ้นสื่อ นโยบายที่มีประเด็นความมั่นคงต่างประเทศที่ให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง ปัญหาเศรษฐกิจ การบริหารการคลัง รวมถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีผลกระทบหมวด 1, หมวด 2 ที่กระทบต่อความมั่นคงและสถาบันเบื้องสูง ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาบ้านเมืองได้
นายเสรีกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นเรื่องนอกรัฐธรรมนูญ และ 18 ปีที่ผ่านมาเกิดข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ 8 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดี การสร้างความปรองดอง กมธ.มองว่าจะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับความเห็นพ้องจากทุกฝ่าย โดยมีแนวทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้คือ มาตรา 272 วรรคสอง ว่าด้วยการเห็นพ้องของที่ประชุมรัฐสภา 2 ใน 3 หรือ 500 เสียง ที่ร่วมเว้นบทบัญญัติใช้แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมือง หรือเปิดช่องให้นายกฯ คนนอก ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เว้นแต่พรรคใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเห็นชอบร่วมกันจะง่ายที่เกิดนายกฯ คนนอก ซึ่งกระบวนการที่ได้รับความร่วมมือร่วมใจนั้นไม่ต่างจากรัฐบาลแห่งชาติ
"กมธ.เห็นว่าโอกาสที่จะเสนออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง แต่การจะแก้ปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกพรรค ทุกฝ่าย ตามมาตรา 272 วรรคสอง ดังนั้นเป็นทางที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและคนมองข้ามไป แต่นายจเด็จมองเห็นอนาคต ต้องการให้เกิดความปรองดอง สามัคคี ไม่มีอะไรแอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น" ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กล่าว
นายเสรีให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กมธ.พิจารณาเรื่องร้องเรียนการถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ โดยที่ประชุมเห็นว่าเรื่องนี้มีหลายคนไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญที่จะแสดงให้เห็นนายพิธามีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญที่จะเป็นนายกฯ ต่อไปได้หรือไม่ ซึ่ง กมธ.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าจะส่งเรื่องแจ้งให้ กกต.และ กมธ. เพราะเป็นเรื่องที่ต้องหาข้อยุติโดยเร็วเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายพิธา เพื่อแก้ปัญหาอื่นที่จะตามมา และมีผลกระทบอีกจำนวนมาก
"ทาง กมธ.จะทำหนังสือแจ้งไปยัง กกต. เพื่อให้เร่งรัดในการที่จะตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธา และถ้าเห็นว่าสิ่งที่ได้ร้องเรียนกันนั้นเป็นเรื่องสำคัญและมีมูล กกต.ควรเร่งรัดในการเสนอเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาด เพื่อความชัดเจนในการที่จะแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ เพราะอย่างน้อยที่สุดการที่ศาลได้ตัดสินวินิจฉัยชี้ขาด ก็จะเป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศและของคนหมู่มาก หากรอไปจนถึงขั้นตอนของวุฒิสภาลงมติโหวตนายกฯ เกิดวุฒิสภาไม่เห็นชอบหรือไม่เห็นด้วย ไม่ว่าประการใดก็จะเกิดคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรื่องเหล่านี้ ก็จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง" นายเสรีกล่าว
ถามว่า ในที่ประชุม กมธ.เห็นว่านายพิธาขาดคุณสมบัติแล้วใช่หรือไม่ ปธ.กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า ถ้าดูตามหลักฐาน ข้อกฎหมาย และข้อบังคับของพรรคก้าวไกล มีมูลที่จะเห็นได้ว่านายพิธาขาดคุณสมบัติตั้งแต่เป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่สมัครรับเลือกตั้ง และถ้าขาดคุณสมบัติรับเลือกตั้ง ก็มีผลกับการไปรับรองผู้สมัครพรรคให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้เป็นข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏต่อสาธารณชนอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือ กกต.ที่รับผิดชอบในการรับเรื่องร้องเรียนต้องเร่งรัด แก้ปัญหาให้ปรากฏและให้ข้อยุติ และสรุปเนื้อหาทั้งหมดโดยเร็ว
"การเสนอตัวเป็นนายกฯ ถือว่าเป็นคุณสมบัติเดียวกันกับการเป็น ส.ส. เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติเชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ ตั้งแต่การเป็นสมาชิก สมัครรับเลือกตั้ง การเสนอชื่อเป็นนายกฯ เพราะฉะนั้นในรัฐธรรมนูญและข้อบังคับพรรคก้าวไกล ได้บัญญัติในเรื่องเหล่านี้ไว้แล้ว ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกัน" ปธ.กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กล่าว
ซักว่ามีข่าวนายพิธาขายหุ้นไปแล้ว จะมีผลหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ไม่ว่าจะโอนหุ้นด้วยวิธีใดก็ตาม ต้องดูว่าเขาโอนช่วงใด ถ้าโอนช่วงนี้ก็ไม่มีผล เพราะการที่มีคุณสมบัติที่จะเป็นนายกฯ ได้หรือไม่เริ่มตั้งแต่ตอนที่เสนอชื่อในบัญชีพรรคการเมือง ฉะนั้นถ้าถือหุ้นตั้งแต่เสนอชื่อในบัญชี และส่งให้ กกต. ถือว่ามีผลในทางกฎหมายแล้วว่าไม่มีคุณสมบัติ เพราะฉะนั้นนายพิธาจะมาขายหรือโอนหุ้นในตอนนี้ก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงตรงนั้นเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้านายพิธาโอนหุ้นไปก่อนหน้านี้แล้วมาสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคและไม่ได้ไปรับรองใคร แล้วถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ในช่วงนี้แล้วไปถอนหุ้นออกก่อน ก็ยังมีผลทางข้อกฎหมาย เพราะการเสนอชื่อในบัญชีไม่ได้มีผลตอนที่สภาจะลงมติ แต่มีผลตั้งแต่เสนอชื่อ ดังนั้นหากมาขายหุ้นตอนนี้ก็ไม่มีผลอะไร
ที่สำนักงาน กกต. นายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ผู้สมัคร ส.ส.เขต 7 จ.บุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าร้องเรียนต่อ กกต. หลังพบว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งนับคะแนนไม่ตรงกับความเป็นจริง รวมทั้งจำนวนบัตรเสียมากกว่าผลต่างคะแนนของผู้ที่ได้ลำดับที่ 1 และ 2 เป็นจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่บางหน่วยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
"ผมในฐานะผู้สมัคร จึงต้องการคำชี้แจงจาก กกต.ถึงกระบวนการทั้งหมด พร้อมขอเรียกร้องให้ กกต.สั่งนับคะแนนใหม่ และหากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งจริง ก็ขอให้สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่เขต 7 จ.บุรีรัมย์" นายพรรณธนูกล่าว
ส่วนที่ศาลปกครอง นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย และนายลิขสิทธิ์ ใสกระจ่าง หัวหน้าพรรคพลัง พร้อมทีมทนายความ เดินทางมายื่นคำฟ้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อสั่งให้การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พ.ศ.2566 เป็นโมฆะ และ กกต.จัดการเลือกตั้งในส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ โดยที่ กกต.ทั้ง 7 คนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่า กกต., เลขาธิการ กกต., สำนักงาน กกต. และกระทรวงการคลัง ร่วมกันจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่เป็นสุจริตเที่ยงธรรม
นายคฑาเทพกล่าวว่า วันนี้พวกเรา 3 พรรคเล็ก ได้แก่ พรรคเพื่อชาติไทย, พรรคพลัง และพรรคแรงงานสร้างชาติ มาเรียกร้องความเป็นธรรมจากการจัดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสของ กกต. ไม่ใช่ขี้แพ้ชวนตี เพราะเรามีหลักฐานทั้งเอกสารและพยานบุคคลชี้ชัดที่จะเอาผิด กกต.ได้ว่าจัดการเลือกตั้งไม่สุจริต เพราะ กกต.รู้ดีว่าทำอะไรอยู่ รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่ไม่ทำ ทำให้มีปัญหาคะแนนเขย่ง ดังนั้นพวกเรามีความเชื่อมั่นว่าผลการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องเป็นโมฆะ และต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ และหากว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ พวกเราจะเดินหน้าฟ้องเอาผิดทางอาญากับ กกต.ทั้ง 7 คนในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ พร้อมทั้งส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอีกทางหนึ่งด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พีระพันธุ์แพลม ลดราคาเบนซิน ยี้เงินเดือน2รอบ
“เศรษฐา” ยันไม่กังวลที่มาเงินแจกดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมศึกษาขยายพื้นที่เป็นเขตจังหวัด แต่กลัวอำเภอกันดารไม่ได้เกิด
นายกฯโอ่ผลงานไปสหรัฐ
"เศรษฐา" ฟุ้งความสำเร็จเช่าเหมาลำการบินไทยไปประชุมยูเอ็น
ตร.ไซเบอร์เตือน ขรก.เกษียณอายุ โจรออนไลน์จ้อง
โฆษก บช.สอท.เตือนข้าราชการเกษียณระวังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ แนะกฎเข้ม 9 ข้อ
ชัยธวัชประกาศท้าสู้ชนชั้นนำ
ก้าวไกลสุดคึก “ชัยธวัช” ประกาศยุทธศาสตร์ ท้าชนการเมืองของชนชั้นนำที่มีประชาชนเป็นแค่ไม้ประดับ
ฉุน!จี้ถามปมทักษิณ เศรษฐาไล่สื่อแกะเทปฟัง วิษณุชิ่งไม่ร่วมวงแก้รธน.
“เศรษฐา” ฉุนโดนซักปมตั้ง “ทักษิณ” นั่งกุนซือใหญ่ ยันไม่ได้พูด
‘นิด’หัวโต๊ะเคาะผบ.ตร. หลานอิ๊งค์ดีดเข้าทำ เนียบ
จับตา "นายกฯ เศรษฐา" ถก ก.ตร. 27 ก.ย. ตั้ง "ผบ.ตร." ขยาย "โผนายพล" ไปเดือน ต.ค. ด้าน "อุ๊งอิ๊ง" เตรียมเข้าทำเนียบฯ ถกกรรมการซอฟท์พาวเวอร์ เผยสนุกมาก ไอเดียกระฉูด ร่วมวง "พันศักดิ์-หมอเลี้ยบ"