ด้ามขวานระอุ!บี้สอบ‘ประชามติ’แยกเอกราช

“บิ๊กตู่” กังวลขบวนการนักศึกษาแห่งชาติทำประชามติจำลองขอเป็นเอกราช เลขาฯ สมช.ลั่นทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย กอ.รมน.เร่งรวบรวมหลักฐานเอาผิด “วันนอร์” ประกาศประชาชาติไม่เห็นด้วย “วรวิทย์” แจงพัลวัน แค่ไปร่วมงาน “สมชาย” ชงเรื่องสอบเวที นศ. พร้อมจี้ กกต.สอบพรรคการเมือง-นักการเมืองหนุนหลัง เข้าข่ายผิด รธน. โทษยุบพรรค ด้าน 8 พรรคร่วมไม่เอาด้วย

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า ได้รายงานกรณีการจัดกิจกรรมของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ   ที่จัดอภิปรายเรื่องการกำหนดอนาคตตนเองกับสันติภาพปาตานี ที่มีการทำแบบสอบถามความเห็นที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกต้องกฎหมาย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รับทราบแล้วตั้งแต่วันที่จัดงาน โดย พล.อ.ประยุทธ์แสดงความเป็นห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเกิดการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก  จึงได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งตรวจสอบไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม  ควบคู่กับการทำความเข้าใจกับประชาชน

“การออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ และไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะบทบาทของ ส.ส.ที่เพิ่งจะผ่านการเลือกตั้งมา สามารถดำเนินการแทนได้อยู่แล้ว ด้วยการทำหน้าที่สะท้อนความต้องการ รวมทั้งปัญหาของประชาชน แล้วนำเข้าไปหารือเพื่อหาทางออกในสภาผู้แทนราษฎร” พล.อ.สุพจน์ระบุ

เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสำหรับพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะกฎหมายความมั่นคง ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้เกิดความสงบ ไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งยังสนับสนุนเรื่องวัฒนธรรม  ประเพณี อัตลักษณ์ ศาสนา และการศึกษาอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีกลไกการพูดคุยสันติสุขที่เปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนเข้าร่วม บรรดานักวิชาการ สามารถมาร่วมได้ โดยไม่จำเป็นต้องแยกตัวไปทำอะไรสุ่มเสี่ยงให้เกิดความแตกแยก ทั้งนี้ ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ สมช.จะมีการประชุมติดตามเรื่องดังกล่าว ก่อนสรุปรายงานเสนอต่อนายกฯ ตามลำดับ

ด้านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ออกแถลงการณ์ต่อการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้เข้าทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลเชิงลึกอย่างรอบด้านแล้ว พบว่าขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (pelajar Bangsa) เป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมือง จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวของนิสิตนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (right to self determination) ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง  และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อองค์กรเป็นขบวนการนักศึกษาแห่งชาติเมื่อ 31 พ.ค.66 โดยมีนายอิรฟาน อุมา เป็นประธานขบวนการนักศึกษาแห่งชาติคนปัจจุบัน

เนื้อหาแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า  สำหรับการจัดกิจกรรมเมื่อ 7 มิ.ย.66 พบว่าเป็นการเปิดตัวขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ โดยมีนักการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง นักวิชาการ รวมทั้งเครือข่ายนักศึกษาเข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมจำนวนหนึ่ง จากการตรวจสอบรายละเอียดของกิจกรรมพบว่า มีหลายประเด็นที่ล่อแหลมหมิ่นเหม่ และอาจเข้าข่ายต่อการละเมิดหลักกฎหมาย ขอยืนยันว่าภาครัฐได้ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของปวงชนชาวไทยทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา โดยไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

“แต่การแสดงออกดังกล่าวจะต้องไม่ไปละเมิดต่อหลักกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดนที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้ระบุไว้ว่า   ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการละเมิดกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดน และเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ  โดยปัจจุบันเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ตามความเหมาะสมต่อไป” แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุ

ประชาชาติไม่เอาด้วย

ขณะที่ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้เรียกประชุมคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ตลอดจนอัยการ เพื่อร่วมปรึกษาหารือ กำหนดแนวทางการดำเนินการต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการดำเนินการเป็น 2 ส่วนสำคัญ ดังนี้ 1.การสร้างความเข้าใจ ซึ่งต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชน หรือกลุ่มผู้เห็นต่างที่มีแนวคิดดังกล่าว ให้ล้มเลิกการกระทำ 2.ส่วนการดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ โดยจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ข้อมูลพฤติกรรม รวมทั้งข้อมูลความเชื่อมโยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ส่วนจะนำไปสู่การฟ้องร้องใครบ้างนั้น ขอเวลาให้คณะทำงานได้ดำเนินการ โดยจะมีการประชุมหารืออีกครั้งในสัปดาห์หน้า คาดจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้น

ส่วนท่าทีของฝ่ายการเมือง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งเรามีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายของบ้านเมือง จะต้องเคารพและจะแบ่งแยกดินแดนไม่ได้ ดังนั้น การจะไปทำประชามติในเรื่องดังกล่าวถือว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หรือผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ครั้งนี้ส่วนตัวไม่ทราบในรายละเอียดเรื่องดังกล่าวว่าจะดำเนินการกันอย่างไร แต่ตนในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง จะต้องเคารพกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่แนวทางของพรรคประชาชาติอย่างแน่นอน

นายวรวิทย์ บารู ว่าที่ ส.ส.ปัตตานี และรองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่ได้ไปร่วมงานเสวนาดังกล่าวด้วย ออกมาชี้แจงว่า ทางผู้จัดงานมีการทำหนังสือถึงพรรคประชาชาติเพื่อขอให้ส่งตัวแทนไปร่วมงาน ทางพรรคจึงส่งตนไป อย่างไรก็ตาม ตนเดินทางไปร่วมงานในช่วงบ่าย แต่งานจัดตั้งแต่เช้าแล้ว พอไปร่วมงานเสร็จก็เดินทางกลับตอนเย็น ไม่ทราบเรื่องเลยว่าตอนเช้ามีการจัดทำประชามติจำลอง มารู้เอาตอนที่เรื่องนี้เป็นข่าวในวันรุ่งขึ้นคือ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว และจากการไปร่วมงาน คนที่มาร่วมงานส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา พวกนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ที่อยู่ในห้องมีไม่เกิน 100 คน และคนภายนอกน่าจะไม่เกิน 30 คน เรียกได้ว่าคนน้อย 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ที่จะให้ปัตตานีแยกตัวเป็นเอกราชอย่างไร และทางพรรคมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร นายวรวิทย์ตอบว่า ประเด็นดังกล่าว มันไกลเกินไป ตนบอกตอนไปร่วมงานว่าการกำหนดอนาคตตัวเองเป็นกระบวนการสันติวิธี แต่มันไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย เพราะจากข้างนอกมันแทบไม่มีเลยสำหรับประเทศไทย มันไม่เหมือนกรณีของติมอร์ มันไม่ใช่ เพราะประเทศไทยไม่ใช่อย่างนั้น ตนว่าพลังมันไม่เยอะ มองว่าเป็นความพยายามของคนกลุ่มหนึ่ง ก็ไปบวกกับทางฝ่ายพรรคเป็นธรรม พูดง่ายๆ เขากำลังได้ที่อยู่ ที่มางาน คนหนึ่งก็เป็นรองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม แล้วก็มีกลุ่มของพวกนี้ที่เป็นมาแต่ดั้งเดิม ก็มีเชื้อมา ตนว่าฝ่ายความมั่นคงเขาจับทางได้ ไม่ใช่ว่าข้อมูลเขาไม่มี เขามีแน่ แต่บางทีเราก็ตื่นตระหนก

 “เรื่องนี้ยังห่างไกล ประชาชนไม่พร้อมที่จะไปถึงจุดนั้น คือสังคมชายแดนใต้จะมีกลุ่มแบบนี้ บวกกับการเมือง ที่มีแนวทางแบบนี้ แต่พรรคประชาชาติไม่ใช่แบบนี้ เราบอกไม่ได้ว่าเขาจะเล่นอย่างไร เราก็ไม่รู้ เพราะวันนี้เขาอาจกำลังรู้สึกว่าได้ใจ”รองหัวหน้าพรรคประชาชาติกล่าว  

วันเดียวกัน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้ออกมากล่าวเรียกร้องให้ กอ.รมน. รวมถึงหน่วยงานความมั่นคง ตรวจสอบกรณีที่คณะนักศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกาศเรื่องของการทำประชามติเพื่อแบ่งแยกดินแดน  หรือรัฐปาตานี  เมื่อ 7 มิ.ย. ที่ ม.อ.ปัตตานี เนื่องจากกรณีดังกล่าวตนเชื่อว่ามีนักการเมืองและพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง และขอเรียกร้องให้ กกต.ตรวจสอบนักการเมือง รวมถึงว่าที่ ส.ส.ของบางพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเวทีดังกล่าว และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลุกปั่นให้นักศึกษาดำเนินการเรื่องดังกล่าว

ชงสอบพรรคหนุนหลัง

“ผมมีคลิปที่นักการเมืองบางพรรคที่จัดเวทีปลุกระดม ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราว่าด้วยราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งคนที่ทำนั้นเข้าข่ายทำผิดเป็นกบฏ และเข้าข่ายยุบพรรค ซึ่งผมไม่ขอเอ่ยว่าเป็นพรรคการเมืองใด ขอให้ กกต.ดำเนินการตรวจสอบ” นายสมชายระบุ

ส.ว.รายนี้กล่าวอีกว่า การประกาศของนักศึกษา ตามคำประกาศ เขาไม่รู้ว่านั่นคือการทำผิดที่ความผิดสำเร็จแล้ว แต่เชื่อว่าเขาไม่รู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เพราะมีผู้ใหญ่ที่ปั่นหัวและอยู่เบื้องหลัง ส่วนการระบุว่ามีข้อเสนอให้ทำประชามติแบ่งแยกดินแดน เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ตนขอข้าราชการ หน่วยงานที่มีหน้าที่ อย่ากลัวนักการเมือง เพราะหากละเว้นจะเข้าข่ายมาตรา 157 แม้จะเคารพสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่ควรมีเรื่องแยกบ้านแยกเมือง เพราะจะทำให้ประเทศไปต่อไม่ได้ และคนในประเทศจะอยู่กันไม่ได้

 เขาระบุด้วยว่า กอ.รมน.ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบให้จริงจัง อย่าปล่อยให้บานปลาย กอ.รมน.มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้อำนวยการ รวมถึงแม่ทัพภาคที่ 4 ดังนั้น ต้องตรวจสอบ โดยเฉพาะการทำประชามติให้แบ่งแยกดินแดน ตนมองว่า พรรคการเมืองที่ยุยงให้เกิดเรื่องการทำประชามมติแบ่งแยกดินแดนไม่สมควรเป็นพรรคการเมือง ไม่สมควรได้เป็น ส.ส.  ทั้งนี้ อย่าอ้างความรักชาติ แต่เรื่องนี้คือเคารพพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย แต่หากยังทำเรื่องนี้ คนไทยจะสู้ถึงที่สุด และเป็นสงครามภายในประเทศ

“เรื่องภาคใต้นั้นไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำ หรือเรื่องชนชาติ คนที่ทำต้องขอโทษประชาชนคนไทย ผมไม่อยากให้นักศึกษาที่ทำเวทีติดคุกเพราะถูกผู้ใหญ่ปั่นหัว และข้อเท็จจริงเรื่องนี้คือการแบ่งแยกดินแดน ทั้งนี้ กมธ.จะติดตามและนำเอกสารหลักฐานที่ได้มาตรวจสอบ รวมถึงให้ กมธ.ความมั่นคงวุฒิสภาติดตามการทำหน้าที่ของ กอ.รมน. ส่วน กกต.นั้น ต้องติดตามพรรคการเมืองใดที่สนับสนุนการเงิน และเอาผิด หากนักการเมืองที่สนับสนุนเป็นกรรมการบริหารพรรคต้องยุบพรรค” นายสมชายย้ำ

วันเดียวกัน ที่พรรคก้าวไกล คณะทำงานย่อยพรรคร่วมรัฐบาล ว่าด้วยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ซึ่งเป็นคณะทำงานย่อยของพรรคร่วมรัฐบาลมีการประชุมนัดแรกที่พรรคก้าวไกล โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคร่วมมาอย่างพร้อมเพรียง หลังการหารือ 2 ชั่วโมง นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พูดถึงกรณีเปิดตัวขององค์กรนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยสัมผัสได้ว่ามีความกังวลของผู้คนที่มองปรากฏการณ์ทำกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มนี้ ซึ่งในนามของว่าที่รัฐบาลใหม่ กรอบที่เรายังยืนอยู่ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เรากำลังพูดถึงสถานภาพของรัฐเดี่ยวที่มองไปข้างหน้าและจะกระจายอำนาจ ให้อำนาจให้กับประชาชนท้องถิ่นมากขึ้น ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกไปของรัฐปัตตานี (ปาตานี) เพราะเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีพื้นที่ให้แสดงความเห็น ซึ่งการพูดคุย รับฟังความเห็นต่างๆ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาฯ เป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานของคณะทำงาน

นายรอมฎอนกล่าวว่า ไม่ห่วงว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่ส่วนตัวมองว่านี่คือหน้าตาที่แท้จริงของความขัดแย้ง และต้องการความกล้าหาญทางการเมืองภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ไปเผชิญปัญหา

ด้านนายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า ถ้าเป็นการทำประชามติเพื่อสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เราไม่สนับสนุน เพราะอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ แต่เราเปิดเสรีในการแสดงออกของประชาชน และไม่กังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์