กทม.ถกบีทีเอส ไฟเขียวจ่ายหนี้ ค่าจ้าง2หมื่นล.

“ชัชชาติ” หารือ “บีทีเอส” ถกสางหนี้ "สายสีเขียว" เล็งชงสภา กทม.ไฟเขียวภายในเดือน ก.ค.นี้ จ่ายค่าติดตั้งระบบ 2 หมื่นล้านบาท รับเห็นใจเอกชน ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถ เงื่อนไขสัมปทานใหม่ต้องรอ ครม.หลังยอดหนี้พุ่งแตะ 5 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันจันทร์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ได้เชิญนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เข้าหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เบื้องต้นจากการหารือในครั้งนี้ กทม.จะขอชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 20,000 ล้านบาท เนื่องจากครบกำหนดชำระแก่เอกชนแล้ว โดยจะเสนอต่อสภากรุงเทพมหานครพิจารณาภายในเดือนกรกฎาคมนี้

 “ที่ผ่านมา กทม.มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา มีการประชุมแล้ว 5 ครั้ง เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ซึ่งจะต้องทำเรื่องนี้ให้เกิดความรอบคอบ คาดว่าสภา กทม.จะมีการเปิดประชุมสมัยหน้าในเดือน ก.ค.66 และจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ซึ่ง ปัจจุบัน กทม.มีงบประมาณพร้อมจ่ายประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท แต่จะพยายามนำมาใช้ให้น้อยที่สุด ซึ่งทุกคนเห็นรถไฟฟ้าสายสีเขียววิ่งให้บริการแล้ว สุดท้ายต้องดูว่าจะปฏิบัติตามสัญญาอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย” นายชัชชาติกล่าว

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กทม.ได้มีการทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ได้ทำหนังสือถึง มท.เมื่อต้นปี 2566 ทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้ 1.ให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าโครงสร้างพื้นฐานของโครงการ และค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เพราะตามกฎหมายมาตรา 44 ของ คสช.มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งไม่ได้มีการให้งบประมาณแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ทำให้กทม.มีข้อจำกัดในการใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการ

2.มูลหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M)  ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ อยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้จะถูกหักลบด้วยสัญญาสัมปทาน ปัจจุบันเรื่องนี้ยังค้างในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3.การโอนหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งกทม.ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ หากรับโอนมาจะกลายเป็นภาระ

ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอสฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการพูดคุยเพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นระยะเวลากว่า 4 ปีแล้วที่เอกชนรับภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว วันนี้ต้องเข้าใจว่าต้องจ่าย 2 ส่วน ทั้ง ค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ประมาณ 2.2  หมื่นล้านบาท และค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณครบกำหนดตามสัญญาวันที่ 29 พ.ค.66 ที่ต้องจ่าย จึงมาหารือเพราะถึงเวลาต้องชำระ ผู้ว่าฯ กทม.ยืนยันจะเสนอให้สภา กทม.พิจารณา ทำให้บริษัทมีความมั่นใจว่าจะมีเงินก้อนนี้เข้ามาก่อน

"ในส่วนค่าจ้างการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) เป็นเงินอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องใน ม.44 ต้องรอ ครม. ซึ่งไม่ทราบว่ารัฐบาลรักษาการจะทำอะไรได้บ้าง ขณะที่ ม.44 ที่ผ่านมาได้มีการเจรจาตกลงกันแล้ว แต่เสนอ ครม.มีการชักเรื่องเข้าออก 3-4 ครั้ง เพราะมีมุมมองว่ายังขาดเอกสารรายละเอียดต่างๆ แต่ช่วงนั้นจริงๆ มี รมต.คมนาคมแย้งอยู่ วันนี้ไม่อยู่แล้ว เชื่อว่าคมนาคมอาจจะเข้าใจดีขึ้น หากรัฐบาลรักษาการจะทำเรื่องนี้ให้จบ หรือไม่ทำก็รอรัฐบาลหน้า" นายคีรีกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง