สะดุด!พิธาติดโควิด เลื่อนถกตั้งรัฐบาล26มิ.ย./พท.ปัด‘สุชาติ’ชิงปธ.สภา

วันแรกรับหนังสือรับรองและรายงานตัว ส.ส.หงอย “บิ๊กป้อม”  รายงานตัวแล้วก่อนบินไปเมืองผู้ดี  “ประยุทธ์” ยินดี ส.ส.ป้ายแดง อวยพรขอให้อยู่กันครบทุกคน “เพื่อไทย” ยัน 21 มิ.ย.เก้าอี้ประธานสภาฯ น่าจะจบหลังประชุมพรรค “สุทิน” ชี้ถอยให้ก้าวไกลเพื่อถอดสลักจัดตั้งรัฐบาล รีบปัด พปชร.จะส่งชื่อพ่อมดดำชิง “ศิริกัญญา”  โวทาบสภาสูงใกล้ได้ตามเป้า แต่เล็งหามือยกโหวตมากกว่า 376 เสียง “วิษณุ”  กางไทม์ไลน์คาด ครม.ใหม่ถวายสัตย์ฯ ปลายเดือน ก.ค. “เรืองไกร” ใช้สิทธิตามาตรา 82 ยื่น กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ “พิธา” 

เมื่อวันอังคารที่ 20 มิ.ย.2566 ถือเป็นวันแรกที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.) ได้เปิดให้​ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  ทั้งระบบแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ รวม 500 คน ที่ผ่านการประกาศรับรองจาก กกต.เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เดินทางมารับหนังสือรับรอง ส.ส. เพื่อไปรายงานตัวที่รัฐสภา โดย กกต.ได้จัดสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวก จัดโต๊ะแบ่งเป็นกลุ่มแบบแบ่งเขตตามรายภาคของจังหวัด 6 โต๊ะ และบัญชีรายชื่ออีก 1 โต๊ะ รวม 7 โต๊ะ

โดยนางรำพูล ตันติวณิชชานนท์  ส.ส.เขต 9 อุบลราชธานี พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) เดินทางมารับหนังสือเป็นคนแรก จากนั้นนายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ส.ส.เขต 1 นครพนม พรรคเพื่อไทย (พท.) มารับหนังสือเป็นลำดับที่ 2 ทั้งนี้เมื่อหมดเวลา 16.30 น. พบว่าในวันแรกมี ส.ส.มารับหนังสือรับรอง 92 ราย เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 78 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 14 คน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา  (ชทพ.) กล่าวว่า ตนและ ส.ส.ของพรรคจะเดินทางไปรายงานตัว ส.ส.วันพุธที่ 28 มิ.ย. พร้อมกันทั้งพรรค

นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า เลขาธิการพรรคจะเป็นผู้นัดหมายอีกครั้งว่าจะไปพร้อมกันในวันไหน

นายสุทิน คลังแสง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวว่า ส.ส.พรรคยังไม่ได้ไปรับเอกสารรับรองสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากพรรคจะมอบหมายให้ผู้แทนไปรับในวันที่ 21 มิ.ย. และรายงานตัวพร้อมกัน 22 มิ.ย.

รายงานจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แจ้งว่า ฝ่ายกฎหมายจะเป็นตัวแทนไปรับหนังสือรับรองในวันที่ 22 มิ.ย. แล้วจะไปรายงานตัวพร้อมกันในวันที่ 27 มิ.ย. 

ขณะที่นายฐิติเชฏฐ์  นุชนาฏ กกต.เข้าสังเกตการณ์บรรยากาศการเปิดให้ ส.ส.เข้ารับหนังสือรับรองการเป็น ส.ส. โดยระบุว่า การที่ กกต.มีมติประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. 500 คน เนื่องจากขณะนี้ขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนในสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในกรอบ 60 วัน จึงต้องประกาศรับรองผลไปก่อน ซึ่งการสอบสวนสำนวนคำร้องต่างๆ ยังดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ภายใน 30 วันที่ กกต.ประกาศรับรอง ถ้าผู้ใดเห็นคนที่ได้รับการรับรอง ส.ส.กระทำการไม่สุจริต  สามารถมาร้องเรียนต่อ กกต.เพื่อให้ตรวจสอบได้ หากสืบสวนแล้วเห็นว่ามีความผิด กระทำการทุจริต จะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสนอศาลพิจารณาต่อไป

ส่วนที่รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดให้ ส.ส.นำหนังสือรับรองจาก กกต.มาเข้ารายงานตัวเป็นวันแรกเช่นกัน โดย นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 4 พรรค พท. เป็นคนแรกที่เดินทางมารายงานตัว ตามมาด้วยนายภูมิพัฒน์รายงานตัวเป็นคนที่สอง

เด็กก้าวไกลลาออกไร้ผลทาง กม.

  สำหรับการรับรายงานตัวของ ส.ส.ชุดที่ 26 นั้น พบว่าบอร์ดนิทรรศการแนะนำตัว ส.ส.ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้จัดทำ ยังมีชื่อและรูปของ น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลำดับที่ 27   ทั้งที่ก่อนหน้านี้ น.ส.ณธีภัสร์แถลงขอลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อแสดงความรับผิดชอบในกรณีที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเมาแล้วขับ ซึ่งพบว่าการลาออกดังกล่าวตามขั้นตอนทางกฎหมายไม่ถือว่ามีผลใดๆ โดยจะมีผลก็ต่อเมื่อหลังจากที่ได้เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก ที่กำหนดให้ ส.ส.กล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุมสภาก่อน ส่วนกรณีจะเลื่อนลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น อาจจำเป็นต้องรอให้เลือกประธานสภาฯ และโปรดเกล้าฯ  ประธานสภาฯ แล้วเสร็จก่อน เพราะประธานสภาฯ ต้องเป็นผู้แจ้งเรื่อง กกต.

และเมื่อถึงเวลา 16.30 น. ปรากฏว่ามี ส.ส.เข้ารายงานตัวรวม 31 คน โดยคนสุดท้ายเข้ารายงานตัวคือ นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ทั้งนี้ ในช่วงเช้า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เขต 1 พรรค พปชร. เข้ารับหนังสือรับรอง ส.ส.ของตัวเอง และรับมอบหนังสือรับรองฯ แทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพราะติดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  

ด้าน พล.อ.ประวิตรกล่าวภายหลังประชุม ครม.ถึงประสบการณ์เข้าสภาเพื่อรายงานตัวเป็น ส.ส.ครั้งแรก ว่าเข้ามาแล้วเป็นมาตั้งแต่ปี 2551 เป็นรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2551 เมื่อซักว่าครั้งนี้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อครั้งแรก พล.อ.ประวิตรมีสีหน้าเรียบเฉยและปฏิเสธตอบคำถาม

ในเวลา 14.00 น. พล.อ.ประวิตรเดินทางมาถึงรัฐสภาอย่างอารมณ์ดีด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เพื่อรายงานตัวเป็น ส.ส. โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก่อนให้สัมภาษณ์ช่องทีวีรัฐสภา และได้ออกมาจากห้องรับรายงานตัว ส.ส. โดยโชว์ใบรับรอง ส.ส. และบัตรประจำตัว ส.ส.ต่อสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามถึงการแสดงความยินดีกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อป้ายแดงอย่าง พล.อ.ประวิตร ว่าได้รับรองก็ยินดีกับท่านไปแล้ว ยินดีทุกวันอยู่แล้วกับท่าน

“ผมยินดีกับ ส.ส.ใหม่ป้ายแดงทุกคน  ก็ขอให้อยู่กันให้ครบก็แล้วกัน เพราะหลายคนอาจจะมีปัญหาบ้างอะไรบ้างก็แล้วแต่ท่าน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่า อยู่การเมืองมานานพอสมควร มองสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไร โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็อยากให้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะปัญหามันเยอะแยะที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง อันนี้ก็สุดแล้วแต่รัฐบาลใหม่ที่ต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะการตั้งรัฐบาลถ้ามันช้าไปก็จะมีปัญหาต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อถามว่า ได้ข่าวหรือไม่ที่มีข่าวว่า พล.อ.ประวิตรจะเป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่ได้ข่าว จะเป็นได้อย่างไรยังไม่รู้เหมือนกัน ต้องไปว่ากันดูในกระบวนการการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งยังไม่รู้ เพราะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง บอกแล้วไงทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการในเรื่องทางการเมืองก็ว่ากันไปนะจ๊ะ ก็ยินดีกับทุกคน                    

ขณะที่ พล.อ.ประวิตรกล่าวตอบสั้นๆ เมื่อถูกถามว่ามีชื่อเป็นนายกฯ ว่า “ไม่รู้ ไม่ได้คุย” และเมื่อถามว่าได้พูดคุยกับพรรค พท.หรือไม่ พล.อ.ประวิตรนิ่งเงียบ ไม่ตอบคําถามก่อนเดินทางออกจากวงล้อมสื่อ

บิ๊กป้อมบินไปเมืองผู้ดี

 มีรายงานว่า หลัง พล.อ.ประวิตรเข้ารายงานตัวเป็น ส.ส.เรียบร้อย ช่วงดึกของวันที่ 20 มิ.ย. พล.อ.ประวิตรจะเดินทางไปอังกฤษพร้อมคนใกล้ชิดไม่กี่คน และจะเดินทางกลับในวันที่ 25 มิ.ย.ท่ามกลางการจับตาความเคลื่อนไหวถึงการจับขั้วตั้งรัฐบาลแข่งพรรค ก.ก. และมีกระแสข่าว พล.อ.ประวิตรจะมาเป็นนายกฯ

ร.อ.ธรรมนัสกล่าวถึงข่าวดีลลับต่างๆ  ว่าไม่เคยมีเรื่องพวกนี้ ในฐานะใกล้ชิดกับหัวหน้า และคุยกันทุกวันแล้วรับรองว่าไม่มีดีลอะไรทั้งนั้น ส่วนเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ นั้น เบื้องต้นจะมีการประชุม ส.ส.เร็วๆ นี้ ถึงเรื่องทิศทาง แต่เบื้องต้นคงเป็นมติพรรคมากกว่า

“มี 2 ประเด็น 1.การโหวตประธานสภาฯ เป็นเรื่องของ ส.ส.ก็เป็นสิทธิ์ของ ส.ส.ที่จะโหวตใครเป็นประธาน ส่วน 2.เรื่องนายกฯ เนื่องจากเป็นการโหวตของ 2 สภา ต้องเคารพว่ากำหนดว่าอย่างไร   แต่ทิศทางว่าจะเลือกใครนั้น หัวหน้าพรรคให้นโยบายอยู่แล้วว่าควรให้พรรคที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน เสียงข้างมากในการรวบรวมจัดตั้งรัฐบาล และโหวตนายกฯ ต่อไป แต่อย่าลืมว่าในสภามี ส.ส. 500 คน ดังนั้นพรรคไหนที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากและชนะโหวตที่จะเลือกบุคคลมาเป็นนายกฯ ก็ต้องเคารพกติกา”

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ปฏิเสธกระแสข่าวพรรคจะไปเติมเสียงให้กับ 8 พรรร่วมตั้งรัฐบาล ว่าไม่เคยทราบเรื่องนี้ เพราะ 8 พรรคร่วมเขาบอกว่าเสียงเขาพอกำลังเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล และไม่ได้มีใครเข้ามาพูดคุย

รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า ภายหลังประชุม ครม.เสร็จสิ้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ  ได้กางไทม์ไลน์คร่าวๆ ให้ที่ประชุมรับทราบว่า กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ครบ 100% ได้เร็ว ขั้นตอนต่อไป ส.ส.ต้องไปรายงานที่สภาระหว่างวันที่ 20-28 มิ.ย. เสร็จแล้วจะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา จากนั้นจะเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาฯ เบื้องต้นคาดว่าวันที่ 6 ก.ค. เสร็จแล้วประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมทั้งสองสภาเพื่อเลือกนายกฯ ซึ่งแล้วแต่ประธานรัฐสภาว่าจะเลือกนายกฯ ช่วงไหน เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นวันที่ 13 ก.ค.  หากทุกอย่างเรียบร้อยคาดว่าจะแต่งตั้ง ครม.ใหม่ในวันที่ 21 ก.ค. แล้วจึงถวายสัตย์ฯ ในช่วงปลายเดือน ก.ค. โดยทั้งหมดเป็นเพียงแค่กรอบเวลาตามกฎหมายยังระบุวันที่แน่ชัดไม่ได้ เพราะแล้วแต่ประธานสภาฯ

รายงานแจ้งอีกว่า นายวิษณุกล่าวอีกว่า ขอให้ ครม.ปัจจุบันเตรียมตัวด้วย เพราะ ครม.ชุดนี้ต้องไปรับเสด็จในพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เพราะต่อให้ได้นายกฯ คนใหม่แล้ว แต่ ครม.ยังต้องทำงานจนกว่า ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนถึงจะสิ้นสุดการทำงาน และจะเริ่มนับหนึ่งการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งจากวันนั้น ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เพียงสั้นๆ ว่า “เรายังต้องทำงานกันต่อจนถึงวันนั้น”

ขณะเดียวกัน ที่ห้องประชุมสุริยัน  หรือห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ซักซ้อมกระบวนการลงมติเพื่อเลือกประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ และนายกฯ ทั้งกระบวนการลงมติ การขานรายชื่อ ส.ส. และกระบวนการถ่ายทอดสดระบบการประชุม และหลังจากนี้เมื่อใกล้ถึงกำหนดจะมีการซักซ้อมเสมือนจริงอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีข้อผิดพลาดระหว่างการดำเนินการ

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการเตรียมข้อมูลที่จะส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ว่า ต้องมีทุกกระทรวง เขาเตรียมไว้หมดแล้ว เวลามาเขาก็ต้องส่งต่อ

 “ผมเข้ามาไม่มีใครส่งผมสักคนเลย ทั้ง 2 ครั้งไม่มีใครส่งสักคนเลย ก็ทำสิ  วันนี้ท่านก็รู้หมดอยู่แล้วนี่ ผมเห็นท่านก็มาพูดตรงโน้นตรงนี้ ก็เยอะแยะไปหมดแล้ว ในสิ่งที่เราทำ ดีบ้างไม่ดีบ้างก็แล้วแต่ท่าน ท่านเข้ามาก็ดูแลให้ดีก็แล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่า มีโอกาสที่นายกฯ จะส่งข้อมูลตัวเองให้เพื่อตำแหน่งนายกฯ ในครั้งต่อไปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “คุณก็ไปเรื่อยๆ กลับมาวกที่ผมอีก ไม่มี  ผมไม่ได้มีอะไรทั้งสิ้นในตอนนี้ เป็นเรื่องของผู้ที่เขามีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ว่ากันไปสิ”

ตั้งเป้าหาเสียงหนุนเกิน 376

ถามว่า ในฐานะรัฐบาลรักษาการต้องเตรียมอะไรหรือไม่ในช่วงโหวตนายกฯ ในสภา อาจเกิดความวุ่นวายข้างนอก ได้คุยกับตำรวจทหารหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เขาก็ต้องมีมาตรการอยู่แล้วในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย มีกฎหมายบ้านเมืองอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่อยากให้มันเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด ซึ่งไม่ดีเลยกับประเทศ  ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตามลงมาบนถนน มันไม่ควรอยู่แล้วในช่วงรักษาการในวันนี้

สำหรับการประชุมแกนนำ 8 พรรคร่วมในวันที่ 22 มิ.ย.นั้น ล่าสุด นายชัยธวัช ตุลาธน ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ก.ก. กล่าวว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ  ติดโควิดมา 2 วันแล้ว จึงเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนประชุมไปเป็นสัปดาห์หน้า ส่วนจะเป็นวันใด ขอหารือกับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง แต่เบื้องต้นได้แจ้งไปยังพรรค พท.แล้ว

รายงานแจ้งว่า มีการแจ้งว่าได้เลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 26 มิ.ย.

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวถึงการรวบรวมเสียง ส.ว.ว่าคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจได้เสียง ส.ว.เพิ่มมาเรื่อยๆ และอีกนิดเดียวจะถึงเป้าที่ต้องการ 376 เสียงแล้ว แต่อาจต้องทำเป้าเพิ่ม หากประธานสภาฯ ต้องงดออกเสียง และหาเสียงสำรองไว้เพื่อป้องกัน ส.ว.บางคนเปลี่ยนใจในอนาคต จึงต้องป้องกันไว้ก่อน และต้องทำให้เสียงสนับสนุนในอนาคตเกินเป้า

ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญาปฏิเสธกระแสข่าวพรรค ก.ก.ไปคุยกับนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นบุคคลที่เคารพของแกนนำพรรคภูมิใจไทย เพื่อรวมเสียงในการโหวตไม่จริง

ส่วนความคืบหน้าในการจัดตั้ง ครม.ใหม่นั้น ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) เป็นเจ้าภาพนั้น มีรายงานว่าได้โควตา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมีการวางตัวรัฐมนตรีไว้ 2 คน คือ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้า ทสท., นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการพรรค ทสท. รวมทั้งมีรายงานว่าคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะลาออกจากตำแหน่ง เพื่อหลีกทางให้ น.ต.ศิธา ทิวารี แกนนำพรรคได้รับตำแหน่งแทน

น.อ.อนุดิษฐ์ปฏิเสธประเด็นนี้ว่า ไม่มีการพูดคุยถึงโผ ครม. และยืนยันว่าคุณหญิงสุดารัตน์ไม่มีแนวคิดลาออกจากหัวหน้าพรรค ไม่เป็นความจริง เมื่อถามย้ำว่าเป็นไปได้กับตำแหน่ง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาหรือไม่ ว่าขึ้นอยู่กับข้อยุติของคณะกรรมการเจรจา ซึ่งหากคณะกรรมการเจรจาจะให้กระทรวงคมนาคมเราก็ยินดี และการจะได้กี่เก้าอี้ อยู่ที่คณะกรรมการฯ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวในเรื่องนี้ว่า พรรคประชาชาติเป็นพรรคเล็ก เราจะอยู่ตรงไหนก็ได้ที่เราสามารถขับเคลื่อนในสิ่งที่เราเห็นว่ามีความสามารถที่จะทำได้ ซึ่งเราเข้าไปทำงานไม่ได้ไปหาผลประโยชน์แต่อย่างใด

สำหรับความคืบหน้าในตำแหน่งประธานสภาฯ นั้น น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่มีการพูดคุย เพราะเป็นการพูดคุยของทีมเจรจา ส่วนกรณีกระแสข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัสจะเสนอชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. เป็นประธานสภาฯ นั้น มองว่าเป็นสิทธิที่จะเสนอได้ ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าจะเสนอใคร แต่เชื่อว่าหากตกลงกันได้ของคณะเจรจาของพรรค พท.และ ก.ก. สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นจริงก็ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ในสภา

21 มิ.ย.เพื่อไทยชัดเก้าอี้ประธานสภา

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค พท. กล่าวถึงปัญหาภายในพรรคที่เกิดความไม่พอใจของ ส.ส.ในพรรคที่ผู้ใหญ่พรรคไปยกเก้าอี้ประธานสภาฯ ให้พรรค ก.ก.ว่า เป็นการนำเสนอที่คลาดเคลื่อน ผู้ใหญ่พรรคออกมาพูดถึงหลักการ แต่ต้องเจรจาระหว่าง 2 พรรคเพื่อหาข้อสรุป โดยจะมีความชัดเจนในวันที่ 22 มิ.ย.

นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวว่า ที่พรรค พท.ระบุหลักการพรรคอันดับหนึ่งได้ตำแหน่งประธานสภาฯ และพรรคอันดับสองได้ตำแหน่งรองประธานสภาฯ 2 ตำแหน่งนั้น ไม่อยากให้มองว่าเป็นการแข่งขันหรือการยอมหรือไม่ยอม เพราะการแข่งขันจบไปแล้วตั้งแต่การเลือกตั้ง ตอนนี้เป็นเรื่องของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล  ร่วมกันทำงานอย่างสร้างสรรค์

 “ใครจะเป็นประธานสภาฯ คิดว่าในที่ประชุม ส.ส.พรรคที่โรงแรมเอสซีปาร์ค วันที่ 21 มิ.ย. คงได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันตามประสาพี่ๆ น้องๆ ซึ่งพรรค พท.เราทำแบบนี้ตลอดอยู่แล้ว เราไม่ได้ให้คนไม่กี่คนตัดสินอยู่แล้ว ส.ส.เองก็คงเห็นด้วยในเรื่องของการเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุย เรามีจุดยืนชัดเจนว่าพรรคเรายึดโยงกับประชาธิปไตย ยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก” นายเศรษฐากล่าว

ขณะที่นายสุทินกล่าวว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ขณะนี้พูดคุยว่าตำแหน่งดังกล่าวสมควรเป็นของพรรคใด ซึ่งเบื้องต้นเป็นของพรรคอันดับหนึ่ง คือพรรคก้าวไกล  ส่วนกรณีว่าพรรค พท.ยอมให้นั้น ต้องเข้าใจว่าเราอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้า หากยังตกลงเรื่องนี้ไม่ได้ก็จะติดอยู่ตรงนี้ เราอยากจะถอดสลักให้ เพื่อจะได้ตั้งรัฐบาลได้ ไม่เช่นนั้นก็จะติดอยู่เช่นนี้ไปไหนไม่ได้

นายภูมิพัฒน์กล่าวว่า เราต้องฟังผู้บริหารพรรค พท.ที่ได้ประสานงานกับพรรค ก.ก.ว่ามีเหตุผลอย่างไร และต้องฟังเสียง ส.ส.ของพรรคด้วยว่าจะลงมติกันแบบไหน โดยในวันที่ 21 มิ.ย.ในการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะต้องมีการลงมติกันภายในพรรคเพื่อให้ได้ข้อสรุปออกมา

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงข้อถามว่าพรรค พท.ให้พรรค ก.ก.ในฐานะพรรคอันดับ 1 ได้เก้าอี้ประธานสภาฯ ว่า เป็นเรื่องภายในของเขา ไม่ไปเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของพรรคอันดับต้นเขา 1 กับ 2 ก็ว่ากันไปสิ เขารวมกันจัดตั้งรัฐบาลไม่ใช่หรือ

ชงพรรคร่วมเดิมโหวตทิศเดียวกัน

เมื่อถามว่า ในส่วนของพรรค รทสช.การโหวตต้องเป็นมติของที่ประชุมพรรคใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องรอขั้นตอนที่เขาดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก่อนว่าเราจะไปทิศทางใด ในฐานะที่เรามีคะแนนเสียง 36 คน ไม่ได้มากมายนักตรงนั้น ก็ต้องฟังพรรคใหญ่ๆ เขาคุยกันก่อน

ถามว่า ขณะเดียวกันมีข่าวว่าขั้วรัฐบาลเดิมจะจับมือเสนอชื่อประธานสภาแข่งกับพรรค ก.ก. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็เป็นข่าวไง ข่าวโคมลอยโคมจมบ้างก็ว่าไป ถามย้ำว่ามีโอกาสหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่ทราบ เมื่อถามว่ากลไกทางสภาพรรค รทสช.สามารถเสนอได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ทราบ ก็ไปช่วยเสนอให้ในสภาด้วยแล้วกัน ก็บอกแล้วไงว่ายังไม่ได้คุยกัน ก็ให้เขาดำเนินการตามขั้นตอนของเขาไปก่อนสิ วันหน้าทางฝ่ายการเมืองเขาก็ว่ากันเองหลายพรรคด้วยกัน

นายธนกรกล่าวถึงการโหวตเลือกประธานสภาฯ รทสช.จะโหวตไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเข้าใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันจะพูดคุยกันด้วย เพราะทุกๆ  พรรคมีสายสัมพันธ์อันดีกับทาง รทสช. และที่ผ่านมาแต่ละพรรคได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ตลอดเวลา

เมื่อถามว่า จะนัดกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการหรือไม่ นายธนกรกล่าวว่า คิดว่าเป็นไปได้ เพราะหัวหน้าพรรคแต่ละพรรคก็มาประชุม ครม.เจอทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกฯ และหัวหน้าพรรค รทสช. คงมีการคุยกันบ้าง ส่วนการนัดกันอย่างเป็นทางการคิดว่าไม่แน่ แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี

เมื่อถามว่า รทสช.จะเสนอชื่อประธานสภาฯ แข่งหรือไม่ นายธนกรกล่าวว่า คงตอบแทนไม่ได้ ต้องประชุมพรรคก่อน

ส่วน พล.อ.ประวิตรกล่าวสั้นๆ ถึงกรณีพรรค พปชร.จะเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานสภาฯ หรือไม่ว่า ไม่รู้

ร.อ.ธรรมนัสกล่าวประเด็นนี้ว่า ทุกพรรคมีโอกาสเสนอหมด ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมาก  เช่น ยุคนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ พรรค พปชร.ก็เป็นคนเสนอ ส่วนรอบนี้ยังไม่ได้มีการคุยกัน ส่วนที่มีปรากฏชื่อนายสุชาตินั้น ก็ได้ยินมาพร้อมกับสื่อ แต่ยังไม่ได้พูดคุยกัน ซึ่งทุกอย่างเป็นไปได้หมด

รายงานข่าวจากพรรค พท.แจ้งในเรื่องนี้ว่า ถือเป็นข่าวปล่อยที่ตั้งใจทำลายพรรค พท.โดยตรง คนที่ปล่อยข่าวมีเจตนาหวังสร้างข่าวให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคม ว่าพรรค พท.มีดีลลับกับพรรค พปชร. ซึ่งเป็นการปล่อยข่าวลักษณะเดียวกันกับในช่วงการเลือกตั้ง สร้างกระแสว่าพรรค พท.มีดีลลับกับ พล.อ.ประวิตร เป็นความพยายามเสี้ยมให้พรรค พท.แตกแยกกับ ก.ก.ด้วย ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแน่นอน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการโหวตประธานสภาฯ  ว่าต้องดูว่าเสียงข้างมากเสนอชื่อใคร ถึงเวลาที่ประชุม ส.ส.ของพรรค ปชป.ว่ามีใครลงแข่งบ้าง แล้วพรรคจะลงมติทิศทางใด ตอบล่วงหน้าไม่ได้

จ่อเรียก ‘พิธา’ แจงข้อมูล

วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรค พปชร. กล่าวว่า ได้ส่งจดหมายทางไปรษณีย์ EMS ถึง กกต.โดยขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงหรือไม่ เพราะเมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว โดยผลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 ทำให้นายพิธามีสมาชิกภาพของ ส.ส. เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง คือวันที่ 14 พ.ค.2566 ดังนั้น จึงมีเหตุต่อเนื่องที่ต้องขอให้ กกต.ใช้ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาดำเนินการตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ ต่อไปว่า สมาชิกภาพของนายพิธาในฐานะ ส.ส.  สิ้นสุดลงตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ และขอให้ดำเนินการตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่โดยด่วน ด้วยการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของนายพิธาสิ้นสุดลงหรือไม่

นายฐิติเชฏฐ์กล่าวประเด็นนี้ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ขอให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการไต่สวนสืบสวนที่ กกต.ตั้งขึ้นเป็นผู้ดำเนินการก่อน  ซึ่งกระบวนการตรวจสอบต้องมีพยานเอกสาร หลักฐานครบถ้วนและเพียงพอที่จะเสนอต่อศาลได้ หากไม่ครบถ้วนศาลก็อาจไม่รับไว้พิจารณาได้ ดังนั้น กกต.ต้องดำเนินการด้วยความละเอียดและรอบคอบ รวมทั้งให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายผู้ถูกร้อง 

เมื่อถามว่า เอกสารที่มีอยู่ขณะนี้เพียงพอแล้วหรือไม่ จะต้องเรียกหรือขอเพิ่มเติมภายหลังอีกหรือไม่ นายฐิติเชฏฐ์กล่าวว่า ทุกอย่างต้องเรียกมา ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการประชุม บัญชีทรัพย์สินและหลักฐานการถือครองหุ้น  แม้ขณะนี้จะมีข้อมูลบางส่วนแล้ว แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้ความเป็นธรรมกับนายพิธา จำเป็นต้องตรวจสอบด้วยความละเอียดรอบคอบ แต่เชื่อว่าคณะกรรมการไต่สวนสืบสวนที่ กกต.ตั้งขึ้นมาจากผู้เชี่ยวชาญจะทำด้วยความรวดเร็ว และหลังจากนี้น่าจะเชิญนายพิธาและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง

นายวิษณุกล่าวถึงกรณี กกต.รับรอง ส.ส. แล้วช่องทางการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส. ตามมาตรา 82 กกต.สามารถทำได้เองหรือต้องรอให้ร้องก่อน  ว่าได้ทุกรูปแบบ ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญก็แล้วกัน มาตรา 170 กับมาตรา 82 ส.ส. ส.ว. กกต. ได้ทั้งนั้น โดยในส่วนของ ส.ส. ยื่นได้หลังปฏิญาณตนที่ พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่อาวุโสสูงสุดจะทำหน้าที่ประธานชั่วคราว และนำปฏิญาณตน

เมื่อถามว่า สมมติศาลสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ในช่วงโหวตนายกฯ ประธานสภาฯ จะมีทางออกอย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่าไม่ทราบ ไม่ควรไปแนะนำอะไรประธานสภาฯ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร

ขณะที่นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กล่าวถึงคดีระหว่าง สปน.กับไอทีวีว่า มีการฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องของค่าปรับ การเปลี่ยนผังรายการโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อ 10 ปีก่อน ส่วนเรื่องการปลุกผีไอทีวีเพื่อหวังผลเรื่องนายพิธานั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ สปน. เป็นเรื่องที่เขาฟ้องกันอยู่ และเราไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอะไรกับไอทีวีเลยจนเมื่อมีข่าว อย่าเอา 2 เรื่องไปผูกกันจนประชาชนสับสน คดีมีมาก่อน ไม่มีอะไรเพิ่มเติมจาก 2 ปีที่แล้ว สถานะอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น เพียงแต่เราก็รอและให้เวลาศาลพิจารณา

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงภาพรวมการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2566 ว่าข้อมูล ณ เวลา 16.45 น. ของวันที่ 20 มิ.ย.2566 มีผู้มายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.แล้ว 359 ราย รวมที่ขอขยายระยะเวลาด้วย ส่วนที่ขอขยายเวลาและยังไม่ได้ยื่น 16 ราย และอีก 5 ราย ยังไม่ได้ยื่น และไม่ได้ขอขยายเวลา ส่วนบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายพิธาที่ส่งมาทางไปรษณีย์นั้น ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้รับแล้ว ส่วนจะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเมื่อไหร่นั้น จะแจ้งให้ทราบอีกที แต่โดยกฎหมายแล้วต้องเปิดเผยต่อสาธารณะภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ยื่นทรัพย์สิน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง