ประชุมเจ้าสัวโลกสุดคึก ธนินท์แนะเร่งพัฒนาคน

ไทยคึกคัก เจ้าภาพประชุมนักธุรกิจจีนโลก หวังเป็นสะพานเชื่อมเอกชนเชื้อสายจีนทั่วโลกกวาดเงินมาลงทุนในประเทศ ขณะที่เจ้าสัวธนินท์หนุนนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สร้างเศรษฐกิจร่วมกันในภูมิภาค ชี้ยุคใหม่เข้าสู่สงครามด้านการค้า ต้องพัฒนาเทคโนโลยี-เศรษฐกิจ และศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้ทัดเทียมนานาชาติ

เมื่อวันอาทิตย์ เวลา 11.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวเปิดและปาฐกถาในการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC)  ครั้งที่ 16 พร้อมด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี, นายเกา หยุนหลง รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน, นายธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายจุรินทร์กล่าวว่า วันนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 4,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก  การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักธุรกิจชาวจีนและนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจากทั่วโลก ใช้เวทีนี้เป็นโอกาสสำคัญในการพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจ การค้าการลงทุน เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน นักธุรกิจเชื้อสายจีนและนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลยังมีบทบาทเสมือนสะพานเชื่อมสำคัญระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับภาคธุรกิจเอกชนในนานาประเทศ

 “ปัจจุบันต้องถือว่าจีนก้าวมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก เป็นตลาดขนาดใหญ่ เป็นผู้ส่งออกสินค้าอันดับหนึ่ง และเป็นผู้นำเข้าสินค้าอันดับสองของโลก ทำให้เศรษฐกิจจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริมและเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับจีนในหลายมิติ ทั้งขับเคลื่อน FTA อาเซียน-จีน และผ่านความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีสมาชิก 15 ประเทศ มีไทยกับจีนอยู่ในนั้นด้วย” นายจุรินทร์ระบุ

นายจุรินทร์ระบุว่า ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งรัดขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าให้ลงลึกสู่ระดับมณฑลหรือระดับเมืองของประเทศคู่ค้า ที่เรียกว่า mini FTA ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ภายใต้รัฐบาลไทย ได้ลงนามกับประเทศคู่ค้าแล้วจำนวนทั้งสิ้น 7 ฉบับ มี 3 ฉบับลงนามกับจีน ประกอบด้วย 1.มณฑลไห่หนาน 2.มณฑลกานซู่ และ 3.เมืองเซินเจิ้นและในเดือน ส.ค. จะลงนามเพิ่มกับมณฑลยูนนานของจีนต่อไป                   

“ล่าสุดในปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลำดับดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การค้าระหว่างประเทศ จากลำดับที่ 37 มาอยู่ที่ลำดับ 29 ดีขึ้น 8 ลำดับ โดยมีจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งติดต่อกันถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2013 และด้านการลงทุนระหว่างประเทศ เลื่อนลำดับไทยให้สูงขึ้นถึง 11 ลำดับ จากลำดับที่ 33 เป็นลำดับที่ 22 โดยปี 2022 นักลงทุนชาวจีนมาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลไทยสูงถึงเป็นลำดับหนึ่งของโลก รัฐบาลไทยมุ่งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาสำคัญที่สอดคล้องกับจีน ทั้งการเปิดกว้างทางการค้าการลงทุน การเชื่อมโยงเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ตลอดจนการขยายความร่วมมือในมิติต่างๆ สอดคล้องกับข้อริเริ่ม Belt and Road ที่จีนได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2013” นายจุรินทร์ ระบุ

นายธนินท์กล่าวปาฐกถาพิเศษระบุช่วงหนึ่งว่า การประชุมครั้งนี้นักธุรกิจจีนจะต้องมองวิกฤตเป็นโอกาส ซึ่งการปฏิรูปด้านเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นสิ่งสำคัญมาก การพัฒนาอุตสาหกรรม โดยอดีตที่ผ่านมา ไทยได้รับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีชั้นสูงจากการลงทุนของญี่ปุ่น ที่เข้ามาลงทุนทั้งธุรกิจรถยนต์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไทยประสบความสำเร็จในวันนี้มาจากการลงทุนเทคโนโลยีชั้นสูงของญี่ปุ่นด้วย นอกจากนี้ จีนมีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีประชากร 1,400 ล้านคน ญี่ปุ่นใหญ่เป็นอันดับ 3 มีประชากรเป็นจำนวนมาก ซึ่งน้อยกว่าจีน แต่ยังสามารถสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยได้มากขนาดนี้ เชื่อว่าจีนก็สามารถทำได้เช่นกัน

"การลงทุนต้องมีการปฏิรูปเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมให้เกิดการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเราสามารถไปศึกษาเรื่องนี้ที่ประเทศจีนได้ โดยได้ตั้งกองทุนขึ้นมา และเข้าไปลงทุนในบริษัทที่มีนวัตกรรม ซึ่งเราก็มีแผนที่จะตั้งกองทุนเหมือนกัน ขณะเดียวกันปัจจุบันโลกของเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก เราจึงจำเป็นต้องศึกษาวิทยาการด้านต่างๆ จากสหรัฐอเมริกา และต้องนำทรัพยากรจากทั่วโลก ทั้งด้านบุคลากร เงินทุน  เทคโนโลยีและวัตถุดิบเข้ามาที่จีน” นายธนินท์ระบุ

นายธนินท์กล่าวว่า ซึ่งในวันนี้กล่าวได้ว่าจีนมีปัจจัยพื้นฐานในด้านต่างๆ เหล่านี้พร้อมที่จะพลิกโฉมการพัฒนา จากเดิมที่ใช้แรงงานราคาถูก เราจึงมีความมั่นใจในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งตนขอชื่นชมและหนุนนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนวางแนวทางไว้ เพราะเป็นการร่วมพัฒนาแบ่งปันเศรษฐกิจร่วมกันในภูมิภาค

“ทั้งนี้โลกยุคใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเศรษฐกิจ คือสงครามแข่งขันในด้านการค้า จึงต้องมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ บริการ และเทคโนโลยี รวมถึงต้องพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และความสามารถทัดเทียมระดับนานาชาติ แข่งขันได้อย่างไม่เพลี่ยงพล้ำในเวทีโลก ซึ่งในโลกอนาคตจะเป็นโลกของหุ่นยนต์และไบโอเทคโนโลยี แต่ไม่ต้องกลัวคนตกงาน เพราะหุ่นยนต์จะใช้แรงงานแทนคน  ส่วนคนต้องหันไปทำงานที่ใช้ทักษะสูงกว่านั้น” นายธนินท์ระบุ

ด้านนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน  กล่าวว่า สำหรับการลงทุนของไทยและจีนที่ต้องจับตาคือ เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เนื่องจากมี 3 ค่ายใหญ่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งที่ผ่านมาหอการค้าไทย-จีนได้มีการเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยชูจุดเด่นไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยเสนอสิทธิพิเศษทางภาษีให้กับภาคเอกชน คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้ารถยนต์อีวีจะเข้ามาแบ่งสัดส่วนในตลาดยานยนต์มากกว่า 50% การประชุมครั้งนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด โดยใช้โอกาสและศักยภาพของนักธุรกิจจีน เพื่อขยายความร่วมมือทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างในมิติต่างๆ เพื่อสร้างประชาคมของนักธุรกิจชาวจีนทั่วโลก และฟื้นฟูความเจริญของจีน

“ประเทศจีนและประเทศไทยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันมายาวนาน มีการทำการค้า การลงทุน และเชื่อมโยงสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังผลักดันอุตสาหกรรม 4.0 และการลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ดังนั้นการประชุมในครั้งนี้จะเป็นเวทีให้นักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลกได้มีโอกาสพบปะและแสวงหาความร่วมมือทางด้านการค้าการลงทุนร่วมกันในอนาคตต่อไป” นายณรงค์ศักดิ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมต.ใหม่ถวายสัตย์ เศรษฐานำเข้าเฝ้าฯ3พ.ค. แม้วควงสุวัจน์ทัวร์ภูเก็ต

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ "มาริษ" เป็น รมว.ต่างประเทศ "นายกฯ" เตรียมนำ รมต.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ 3 พ.ค.นี้