เข็น‘วันนอร์’ปธ.สภาสยบร้าว

เพื่อไทย-ก้าวไกลสรุปแล้ว “ตาอยู่” วันนอร์คว้าเก้าอี้ประธานสภาฯ ไปกิน “พิธา” ยกเหตุผลเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลราบรื่น แล้วผลักดันตัวเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ พร้อมเคาะรองประธานคนที่ 1 โควตา ก.ก. ส่วนคนที่ 2 เป็นของ พท. เตรียมดันนิรโทษและกฎหมายปฏิรูปกองทัพ 3 ฉบับเป็นหลัก ทั้ง พ.ร.บ.กลาโหม-อัยการศึก-กอ.รมน. ไม่เอ่ยอ้างถึงมาตรา 112 “ชลน่าน” ย้ำพรรคไม่มีแตกแถว และไม่เสนอชื่อชิงแน่

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2566 ถือเป็นเส้นตายของการตกลงเรื่องรายชื่อชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งล่าสุดพรรค พท.ได้ข้อสรุปว่าจะเสนอชื่อคนกลาง คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) ชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของพรรค เพื่อยุติปัญหากับพรรค ก.ก.

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมพรรค พท. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวกรณีนี้ว่า ขอประชุม ส.ส.ก่อน และหลังจากนั้นจะรวบรวมไปที่คณะกรรมการบริหารพรรค  (กก.บห.) ซึ่งจะให้ กก.บห.เป็นผู้ตัดสิน ยังไม่ได้สรุปอะไร ส่วนกรณี กก.บห.จะเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์นั้น ยังพูดแบบนั้นไม่ได้ เพราะถือว่าเราพยายามหาทางออกที่คิดว่าดีที่สุด อย่างน้อยที่สุดจุดยืนของเราคือต้องรักษารัฐบาลประชาธิปไตยไว้ และต้องรักษาเจตจำนงของพี่น้องประชาชนว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และอยากเห็นความร่วมมือกัน

“ถ้าเรายึดมั่นผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ยังไงก็คุยกันได้และตกลงกันได้ ทางออกมีเสมอ ทั้งนี้วันนี้ก็ต้องชัดเจน เพราะวันที่ 4 ก.ค.จะเข้าสู่กระบวนการตามหลักประชาธิปไตย จะมีการโหวตประธานสภาฯ แล้ว”

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหนึ่งในคณะเจรจาพรรค พท.ยอมรับว่า พรรคมีแนวทางจะเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์เป็นตัวกลางชิงตำแหน่งประธานสภาฯ และเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างพรรค ก.ก.และ พท.ได้ โดยได้ทาบทามนายวันมูหะมัดนอร์ไว้ในเบื้องต้นแล้ว

นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรค พท. และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงนายวันมูหะมัดนอร์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ในการดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า เป็นคำถามที่ลำบากหากให้ตอบ  เชื่อว่ามีการโยนชื่อมาหลายชื่อ และทุกชื่อที่มีการเสนอมามีความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นนายวันมูหะมัดนอร์ หรือที่พรรค ก.ก.เสนอมา หรือเป็นคนจากพรรค พท.ก็ตาม ทุกคนมีประสบการณ์ คงไม่เป็นธรรมหากจะให้ตอบว่าใครมีความเหมาะสมหรือไม่ แต่เข้าใจว่าเราพยายามกันทุกฝ่ายที่จะได้รัฐบาลจากฝ่ายประชาธิปไตย และต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน

 “อยากวิงวอนเช่นนี้ว่าเราอยู่ด้วยกัน จุดมุ่งหมายเดียวกัน นี่คือจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งสำคัญที่สุดของประเทศไทย จึงอยากวิงวอนว่าแม้ผลจะออกมาเช่นไรก็อยากให้ทุกฝ่ายยอมกันบ้าง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ” นายเศรษฐากล่าว

ต่อมาพรรค พท.ได้มีการประชุม ส.ส.พรรค โดยมีวาระหารือเรื่องของตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่ง กก.บห.พรรคได้เสนอแนวทางการเสนอชื่อคนกลางเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ แทน คือ นายวันหูหะมัดนอร์ ซึ่ง ส.ส.พรรคส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องกับแนวทางนี้

จากนั้นเวลา 11.00 น.ได้มีการประชุม กก.บห.พรรค  โดยที่ประชุมได้นำความคิดเห็นของ ส.ส.มาหารือกันและส่วนใหญ่เห็นพ้องกัน หลังจากนี้จะมอบหมายให้คณะกรรมการเจรจาของทั้งสองฝ่ายไปพูดคุยกันให้ได้ข้อสรุปก่อนในวันที่  4 ก.ค.จะมีประชุมสภานัดแรก และมีวาระในการโหวตเลือกประธานสภาฯ คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ข้อยุติที่พอใจ โดยจะมีการแถลงข่าวร่วมกับพรรค ก.ก.ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ เวลา 20.00 น.

พท.ฉุน ‘ด้อมส้ม’ ไม่ให้เกียรติ

มีรายงานว่า ในการประชุม ส.ส.พรรคได้มีสมาชิกหลายคนแสดงความไม่พอใจ กรณีกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค ก.ก.ตะโกนต่อว่าแกนนำพรรค พท.ทั้งขาเข้าและขาออก ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกล ขณะที่แกนนำพรรค ก.ก.ก็ปล่อยให้กลุ่มผู้สนับสนุนเหล่านั้นตะโกนต่อว่าและไม่มีท่าทีที่จะห้ามปรามแต่อย่างใด ทำให้มี ส.ส.บางส่วนลุกขึ้นแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า พรรค กก.ไม่ให้เกียรติ พร้อมทั้งเสนอให้เชิญนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ  พรรคก้าวไกลมาที่พรรคบ้าง แล้วปล่อยให้ถูกชกหน้า อยากรู้ว่าจะว่าอย่างไร รวมทั้ง ส.ส.บางคนลุกขึ้นมาต่อว่าพรรค ก.ก.ที่ใช้กระบวนการไอโอมาโจมตีพรรค พท.ว่าจะหักหลังพรรค ก.ก. แต่ กก.บห.พรรคระบุว่าไม่ติดใจกับการแสดงดังกล่าวของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค ก.ก. เพราะเป็นการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตย 

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท.ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคว่า มีข้อสรุปแน่นอน โดยจะเป็นแนวทางที่ดี คิดว่าประชาชนจะไม่ผิดหวัง มีความสุข โดยช่วงค่ำน่าจะมีแถลง ส่วนจะยึดโยงตามความเห็นของ ส.ส.พรรคจากในที่ประชุมหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่ทราบว่า กก.บห.จะคุยกันอย่างไร ทั้งนี้ขอให้รอฟัง กก.บห.พรรคแถลง แต่ยืนยันว่ามีข้อสรุปแน่ เพราะพรุ่งนี้ (4 ก.ค.) จะประชุมสภาแล้ว และเชื่อว่า กก.บห.พรรคของทั้งสองพรรคจะฟังเสียงของสมาชิกพรรคมากที่สุด

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงเรื่องตำแหน่งประธานสภา ฯ ว่าให้รอแถลงหลังเสร็จรัฐพิธี จะแจ้งรายละเอียดอีกที และยังไงก็ต้องเป็นข้อยุติที่ดีที่สุด

สำหรับ รร.แลงคาสเตอร์ที่จะใช้แถลงเรื่องประธานสภาฯ นั้น เคยเป็นสถานที่ที่ 6 พรรคซึ่งนำโดยพรรค พท.แถลงจับมือประกาศชัยชนะหลังการเลือกตั้ง 2562 และมีมติจะเสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) แคนดิเดตนายกฯ เข้าชิงเก้าอี้ แต่สุดท้ายกลับแพ้เป็นฝ่ายค้าน

ต่อมาเวลา 19.00 น. ที่ รร.แลงคาสเตอร์ ก่อนถึงเวลาแถลงข่าวประมาณ 10 นาที เจ้าหน้าที่โรงแรมได้มาเก็บป้าย  6 พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคประชาชาติ (ปช.), พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.), พรรคเสรีรวมไทย (สร.), พรรคเป็นธรรม (ปธ.), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) และพรรคพลังสังคมใหม่ (พ.ส.ม) ออกจากโต๊ะแถลงข่าว เหลือเพียงป้ายพรรค ก.ก.และ พท.เท่านั้น

มีรายงานว่า พรรค พท.ไม่พอใจที่พรรค ก.ก.ไปนัดแถลงข่าวในนาม 8 พรรคร่วมรัฐบาล โดยชวน 6 พรรคมาร่วมแถลงข่าว ทั้งที่เรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นการหารือเฉพาะ พท.และ ก.ก.เท่านั้น และก่อนการแถลงข่าวทั้ง 2 พรรคได้หารือกันแล้วจะแถลงร่วมกัน แต่ ก.ก.กลับแจ้งหมายกับสื่อมวลชนว่าจะแถลงร่วมกันทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาล  โดยแกนนำพรรค พท.ได้โทรศัพท์ไปแสดงความไม่สบายใจกับแกนนำพรรค ก.ก.ที่ชักชวนพรรคร่วมรัฐบาล ในที่สุดจึงตัด 6 พรรคร่วมรัฐบาลออกจากการแถลงข่าวดังกล่าว

ต่อมาเวลา 19.30 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ก.ก.และแคนดิเคตนายกฯ ได้เดินทางมาถึง รร.แลงคาสเตอร์ พร้อมยืนยันเรื่องนี้เป็นการประสานงานที่ผิดพลาด ซึ่งขณะอยู่ที่รัฐสภาได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาลและได้ชี้แจงไปแล้ว

นายชัยธวัชกล่าวเช่นกันว่า เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด ซึ่งไม่เป็นไร ทุกพรรคทราบและไม่มีการผิดใจกัน

ไม่พลิก ‘วันนอร์’ เป็นตาอยู่

ในเวลา 19.50 น. นายพิธาได้แถลงว่า เรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาฯ ตามที่พรรค ก.ก., พท., ปช., ทสท., สร., ปธ., พทล. และพรรค พ.ส.ม.ได้ประชุมหารือร่วมกัน โดยมอบหมายให้พรรค ก.ก.และ พท.ไปเจรจาตกลงร่วมกันนั้น บัดนี้ได้ตกลงร่วมกัน ดังนี้ 1.เสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ โดย ส.ส.จากพรรค ก.ก.เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ ส.ส.จากพรรค พท.เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 โดยพรรค ปช., ทสท., สร., ปธ., พทล. และ พ.ส.ม.พร้อมให้การสนับสนุนตามข้อตกลงนี้

2.บุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ พร้อมผลักดันวาระที่จะทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน 3.ข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาลเสนอและสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ อย่างสุดความสามารถ โดยดำเนินการตามข้อตกลงเอ็มโอยูที่ได้แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 22 พ.ค.66

และ 4.พรรค ก.ก.และพรรค พท.ยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม, ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก  และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่พรรค ก.ก.เสนอ

นายพิธากล่าวว่า พรรค ก.ก.และ พท.เชื่อมั่นว่าข้อตกลงเรื่องประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศ ตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนได้แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านการเลือกตั้ง

“ได้เจอกับนายวันนอร์ในงานรัฐพิธี พร้อมได้แจ้งมติ 2  พรรคและอ่านแถลงการณ์ร่วม 2 พรรคให้ฟัง นายวันนอร์บอกว่าให้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง และถ้าเป็นความต้องการของ 2 พรรคก็ไม่ปฏิเสธ เชื่อว่าหลังจากนี้บรรยากาศจะดีขึ้น  และจะทำให้การตั้งรัฐบาล 8 พรรคประสบความสำเร็จ เสียงของพรรคก้าวไกลจะลงมติไปทางเดียวกันในการโหวตประธานสภาฯ ไม่แตกแถว ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ 2 จะเป็นใครรอฟังการลงมติในวันที่ 4 ก.ค. ให้เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรคเป็นผู้เสนอ” นายพิธากล่าวและว่า บรรยากาศวันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี แสดงถึงความมีเอกภาพ การประนีประนอมกัน การเสียสละเพื่อไปถึงเป้าหมายจัดตั้งรัฐบาลและส่งตนขึ้นเป็นนายกฯ ส่วนตำแหน่ง ครม.เป็นกระบวนการที่ต้องเจรจากันต่อไป ตามจำนวน ส.ส.แต่ละพรรค ส่วนเสียง ส.ว.ที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ นั้น  ถ้า ส.ว.ยังยึดหลักการเสียงข้างมากเหมือนปี 2562 เป็นบรรทัดฐานก็ควรโหวตเลือกตนเอง โดยยึดเสียงประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่ถ้าเสียงไม่ถึงก็วางแผนไว้แล้วจะทำอย่างไร แต่ยังบอกไม่ได้จะมีขั้นตอนอย่างไรต่อไป

เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า ส.ส.ทั้งพรรค ก.ก.และ พท.จะไม่แตกแถว นายพิธากล่าวว่า พรรคได้กำชับเพื่อน ส.ส.ไปแล้ว ขณะที่ นพ.ชลน่านกล่าวเพิ่มเติมว่า พรรค พท.ได้มีมติในความเห็นเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว มีความมั่นใจว่า ส.ส.พรรคจะปฏิบัติตามข้อตกลงของทั้ง 2 พรรค และมติทั้ง 8 พรรคเหนียวแน่นมาโดยตลอด

ถามว่า ยืนยันหรือไม่ว่าใน 8 พรรคจะเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ คนเดียว นายพิธากล่าวว่ามั่นใจ เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจหรือไม่ว่าพรรค พท.จะไม่เสนอชื่อแข่ง นายพิธากล่าวว่า เชื่อใจในพรรคเพื่อไทย

ด้าน นพ.ชลน่านกล่าวว่า ยืนยันการโหวตประธานสภาฯ วันที่ 4 ก.ค.จะไม่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยโหวตสวนมติพรรคร่วม สมาชิกพรรคได้พูดคุยกันหมดแล้ว และยอมรับตามแนวทางที่พรรคพูดคุย จะไม่มีการเสนอชื่อสมาชิกพรรคเพื่อไทยเข้าไปแข่ง และพรรคอื่นก็ไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อสมาชิกพรรคเราไปแข่งเช่นกัน เราก็จะปฏิบัติตามข้อตกลง

ส่วนความคิดเห็นของพรรคการเมืองอื่นๆ นั้น นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการโหวตเลือกประธานสภาฯ ในวันที่ 4 ก.ค.ว่า พรรค รทสช.ไม่ว่าจะเป็นการโหวตเลือกประธานสภาฯ หรือนายกฯ ต้องรอมติของพรรค ทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งวันนี้มีชื่อของนายวันมูหะมัดนอร์ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นผู้อาวุโส มีความรู้ความสามารถ และที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่ได้ดี เหมาะสมเป็นประธานสภาฯ แต่ทุกอย่างต้องเป็นมติพรรคว่าจะเลือกใครเป็นประธานสภาฯ

“ในหลักการเราเคยบอกเสมอว่า จะไม่โหวตให้กับประธานสภาฯ ของพรรคที่มีแนวคิดการแก้ไขมาตรา 112  ซึ่งเป็นจุดยืนของพรรคมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แม้จะถูกเสนอชื่อมาเราก็ไม่โหวตแน่นอน เพราะฉะนั้นแล้วในส่วนพรรคอื่นๆ  เราก็ต้องดูและมีการพูดคุยกัน ซึ่งวันนี้มีชื่อใหม่ก็คือนายวันนอร์ ก็ต้องพูดคุยกันภายในพรรคว่า ส.ส มีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งคิดว่าอยากให้สภาเดินไปข้างหน้าด้วยความเรียบร้อยอยู่แล้ว และการจัดตั้งรัฐบาลจะได้เร่งรีบสมกับการรอคอยของประชาชน เพราะฉะนั้นตัวพรรคก็อยากให้การจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยและรวดเร็ว”

ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค รทสช.และแคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 2  ของพรรค โพสต์หนังสือลาออกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยยืนยันว่าเลือกที่จะอยู่เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ จนวินาทีสุดท้ายของท่านในตำแหน่งนายกฯ เพราะยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการให้เรียบร้อยเท่านั้น และไม่มีแผนซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไรตามที่วิเคราะห์วิจารณ์กันไปใหญ่โต และไม่สร้างภาพ

รทสช.ย้ำไม่โหวตพรรคแก้ 112

ต่อมานายพีระพันธุ์ให้สัมภาษณ์ย้ำอีกครั้งว่า ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.เรียบร้อยแล้ว เพื่อจะอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ และทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขาฯ นายกฯ โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 14 จะได้เลื่อนอันดับมาเป็น ส.ส.แทน โดยต้องรอให้มีประธานสภาฯ ก่อน

เมื่อถามถึงกรณีที่มีชื่อของนายวันมูหะมัดนอร์เป็นประธานสภาฯ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่เกี่ยวข้อง  เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่ต้องไปเจรจาและตกลงกัน ส่วนทิศทางการโหวตของพรรค รทสช.นั้น เรายังไม่ได้พูดคุย รอให้ชัดเจนก่อน แต่การโหวตต้องเป็นไปตามอุดมการณ์และนโยบายพรรค

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค รทสช. กล่าวว่า หลังร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาได้นัดหมายผู้บริหารพรรคและ ส.ส.ซึ่งจะทำหน้าที่โหวตเลือกประธานสภาฯ ในวันที่ 4 ก.ค.มาประชุมหารือกันเป็นการภายในคืนนี้ เพื่อกำหนดทิศทางในการเลือกประธานสภาฯ ให้ชัดเจน ว่าพรรคจะลงมติเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง โดยพรรคมีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่โหวตให้ประธานสภาหรือนายกฯ จากพรรคการเมืองที่มีวาระแก้ไขมาตรา 112 และหากนายวันมูหะมัดนอร์มีการแสดงวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าจะไม่แก้มาตรา 112 ตามที่พรรค ก.ก.เสนอ ณ วันนี้ก็ไม่ติดใจอะไร

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  กล่าวถึงแนวทางการเลือกประธานว่า ยังย้ำเหมือนเดิมเรื่องนี้อยู่ที่พรรค ก.ก.และ พท. ส่วนที่มีชื่อนายวันมูหะมัดนอร์นั้นไม่ขอวิจารณ์ อยู่ที่สองพรรคใหญ่ จะเป็นใครคนนั้นก็คือคนที่จะได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ เพราะคุมเสียงข้างมาก

“4 ก.ค. เวลา 08.30 น. จะประชุม ส.ส.พรรคที่สภา  แล้วจะได้ร่วมกันพิจารณาว่าจะมีมติอย่างไร ส่วนจะเปิดให้ฟรีโหวตหรือลงมติไปในทิศทางเดียวกันอย่างไรนั้น ต้องขอคุยกันก่อน” นายจุรินทร์กล่าว

นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. ในฐานะอดีตประธานสภาฯ กล่าวถึงกระแสข่าวจะเสนอนายวันมูหะมัดนอร์ว่า ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เชื่อว่าพรรคร่วมสามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะเป็นผู้ใด พรรคใด แต่ถ้ามองเรื่องตัวบุคคล นายวันนอร์เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์และเคยเป็นประธานมาแล้ว มีความสามารถ และเป็นบุคคลที่วางตัวเป็นกลาง ซึ่งเคยร่วมงานกันเมื่อครั้งที่เป็นฝ่ายค้านและเป็นนายกฯ ท่านก็เป็นประธานสภาฯ ที่ดีคนหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด

‘ชวน’ หวังประธานต้องมั่นคง

“ถ้าถามเรื่องตัวบุคคล นายวันนอร์เป็นคนที่มีความสามารถคนหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นในสภาคือ ประธานสภาฯ ต้องมีความมั่นคง ระบบนิติบัญญัติมีความเข้มแข็ง ยึดมั่นในหลักนิติธรรม ปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมา ซึ่งถ้าใครเข้ามาแล้วยึดหลักนี้เชื่อว่าจะสานงานต่อจากผมได้ เพราะมีข้อบังคับควบคุมอยู่”

เมื่อถามว่า ให้เปรียบเทียบความเหมาะสมในการเป็นประธานสภาฯ ระหว่างนายวันนอร์กับนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายชวนกล่าวว่า คนที่เตรียมตัวอย่างหนักมาโดยตลอด นอกจากนายสุชาติก็คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  หัวหน้าพรรค พท. เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา นพ.ชลน่านเตรียมตัวมาโดยตลอด และเคยถามพรรคเพื่อไทยว่าทำไมไม่สนับสนุน นพ.ชลน่านเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ก็ได้รับคำตอบว่า นพ.ชลน่านเตรียมตัวเพื่อเป็นประธานสภาฯ มาโดยตลอด แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนก็คงเป็นเรื่องของเหตุการณ์  ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนายสุชาติ นพ.ชลน่าน หรือนายวันนอร์ คนเหล่านี้ก็มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงเรื่องการโหวตประธานสภาฯ ว่า ในวันพุธที่ 4 ก.ค.  สมาชิกและ ส.ส.พรรคจะประชุมหารือกันที่สภา คงได้ข้อสรุปชัดเจนกันในช่วงเช้า และคงโหวตไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อถามถึงกรณีที่มีชื่อนายสุชาติขึ้นมา ทำให้ถูกจับตามองเช่นกันเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายวราวุธกล่าวว่า นายสุชาติเคยเป็นทั้งประธานและรองประธานสภาฯ เป็นนักการเมืองที่คร่ำหวอดในวงการการเมืองมานาน แต่ยังพูดไม่ทันขาดคำขณะนี้ก็มีชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ขึ้นมาอีกคนแล้ว ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ก็เป็นอีกหนึ่งผู้อาวุโสที่คร่ำหวอดทางการเมืองมานาน และมีประสบการณ์เป็นประธานสภาฯ มาด้วยเช่นกัน ดังนั้นคงต้องดูกันว่าแนวทางการทำงานนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งพรรคต้องหารือกันในพรรค และอาจต้องหารือกันข้ามพรรคด้วยว่าจะเป็นอย่างไร เช้าวันที่ 4 ก.ค.เราคงทราบผลว่าจะออกมาอย่างไร ตอนนี้ยังเร็วเกินไปว่าจะไปทางไหน เพราะไม่สามารถคอนเฟิร์มได้ว่าแคนดิเดตของแต่ละพรรคนั้นลงตัวแล้วหรือยัง เพราะอาจมีการเปลี่ยนเอานาทีสุดท้ายก็ได้

ส่วนความความเคลื่อนไหว พล.อ.ประยุทธ์นั้นเดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.30 น.ด้วยสีหน้าปกติ สวมชุดข้าราชการสีกากี โดยนายกฯ ใช้เวลาติดตามงานและเซ็นเอกสารบนห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้นเวลา 14.20 น.เดินทางออกจากทำเนียบฯ ไปบ้านพักเพื่อเปลี่ยนชุด ก่อนมาเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดประชุมรัฐสภา

ขณะบรรยากาศที่ทำเนียบฯ เจ้าหน้าที่กองการสถานที่ ยานพาหนะ และรักษาความปลอดภัย สำนักนายกฯ มีการลาดยางปรับผิวถนน บริเวณริมรั้วด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้าติดคลองเปรมประชากร ตั้งแต่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐจนถึงสะพานอรทัย ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา นอกจากนี้สำนักนายกฯ ยังได้เตรียมคู่มือข้าราชการการเมืองในรูปแบบคิวอาร์โค้ด เตรียมพร้อมสำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐบาลชุดใหม่ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ก้าวไกล' ไม่กังวลถูกยุบพรรค 'ชัยธวัช' บอกคุยลูกพรรคหลายรอบแล้ว

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาให้พรรคก้าวไกลแก้ข้อกล่าวหาในคดีล้มล้างการปกครอง ว่า คดีนี้มีความร้ายแรงมากกว่าคดีก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ