ทรงเสียใจเหตุสะพานถล่ม ชัชชาติปัดสั่งเปลี่ยนแบบ

"ในหลวง-พระราชินี" ทรงเสียพระราชหฤทัยกับครอบครัวผู้ที่เสียชีวิต และทรงให้กำลังใจแก่ผู้บาดเจ็บ จากเหตุสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม พบผู้เสียชีวิต 2 บาดเจ็บ 13 ราย “ชัชชาติ” ปัดสั่งเปลี่ยนแบบ เชื่อสาเหตุเกิดจากความผิดพลาดในการก่อสร้าง สั่งเร่งรื้อถอนใน 3 วัน  ผบช.น.เร่งสอบหาสาเหตุ สอบปากคำพยานแล้ว 7 ราย พร้อมเรียกผู้รับเหมาเข้าสอบปากคำ

 จากกรณีอุบัติเหตุสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมาบริเวณหน้าห้างโลตัส  สาขาลาดกระบัง ถนนหลวงแพ่ง วันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิต  2 รายคือ นายฉัตรชัย ประเสริฐ วิศวกรคุมงานก่อสร้าง เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ  และนายอรัญ สังขรักษ์ อายุ 24 ปี คนงานของโครงการ เสียชีวิตที่โรงพยาบาล (รพ.) จุฬารัตน์ 9 ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีทั้งสิ้น 13 ราย

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม เวลา 13.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายจิตรพัฒน์ ไกรฤกษ์ รองอธิบดีกรมราชเลขานุการในพระองค์ เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคานสะพานข้ามแยกโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังทรุดตัว และเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลหัวเฉียว จำนวน 1 ราย, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต จำนวน 3 ราย และโรงพยาบาลลาดกระบัง จำนวน 2 ราย  

ในการนี้ เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใย และพระราชทานกำลังใจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปกล่าวแก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวได้รับทราบ การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ทรงรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ การได้รับพระราชทานพระมหากรุณาในครั้งนี้ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการเคลื่อนย้ายโครงสร้างที่ถล่มลงมา เพราะต้องรอรถเครนอีกคันที่มีน้ำหนัก 400-500 ตัน เข้าเคลื่อนย้ายโครงเหล็กคานปูนที่ถล่มลง สำหรับการจราจรยังปิดถนนหลวงแพ่งมุ่งหน้าถนนลาดกระบัง ส่วนถนนลาดกระบังมุ่งหน้าถนนหลวงแพ่งยังใช้ได้ตามปกติ

นายชัชชญา ขำจันทร์ ผอ.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า ได้มีการติดต่อผู้รับเหมาเข้าให้ข้อมูลแล้วบางส่วน และประสานกับตำรวจในการสอบสวนหาสาเหตุ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างละเอียด ส่วนซากรถยนต์ที่ติดอยู่ใต้ซากสะพาน คันที่ถูกทับแบนราบ พบว่าเป็นของผู้รับเหมา ซึ่งได้พบตัวและยืนยันแล้วว่าในรถไม่มีใครติดอยู่อีก ส่วนรถของประชาชน 2 คัน หนึ่งในนั้นเป็นของชาวเวียดนามที่ขับมากับผู้หญิงคนหนึ่ง พบว่ารถเสียหายเล็กน้อย แต่คนปลอดภัยดีทั้งหมด

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น และการสอบถามพยานผู้เห็นเหตุการณ์ คาดว่าระหว่างการดึงลวดเพื่อเชื่อมโครงสร้างสะพานเข้าด้วยกัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าอุปกรณ์ยึดตัวสะพาน (ลอนเชอร์) จะรับน้ำหนักไม่ไหวเกิดการพลิกตัวไปด้านซ้าย ทำให้ลวดที่ใช้ดึงสั่นสะเทือนและขาด เกิดเป็นเสียงระเบิด ทำให้เกิดการทรุดของสะพานในเวลาต่อมา กรณีนี้ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างตอม่อของสะพาน เนื่องจากมีการตอกเสาเข็มลงลึกถึงชั้นทราย และมีความแข็งแรง

ต่อมานายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วยทีมรองผู้ว่าฯ และสำนักการโยธา ร่วมกันแถลงข่าวว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบสาเหตุ สันนิษฐานว่าเกิดจากตัวโครงสร้างสะพาน (Box Segment) พังลงขณะดึงลวดอัดแรงส่งผลให้ Launching Truss เสียสมดุล และล้มพับทับ โครงสร้างสะพานบริเวณเสาที่ 83 และ 84 เสียหาย 1 ช่วงสะพาน พร้อมปฏิเสธว่า กทม.ไม่ได้เป็นคนสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบในการก่อสร้าง แต่ทางผู้รับเหมาได้แจ้งขอเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้การก่อสร้างเร็วขึ้น จากแบบเดิมการหล่อตัว Box Segment ทำในพื้นที่ แต่ขอเปลี่ยนแบบ Box Segment แบบสำเร็จ

"แต่ยืนยันรูปแบบดังกล่าวเป็นวิธีก่อสร้างที่มีการทำกันอยู่แล้ว มีการควบคุมตามหลักวิศวกรรม ไม่ได้มีความปลอดภัยน้อยลง แต่คาดว่าสาเหตุเกิดจากความผิดพลาดในการก่อสร้าง ส่วนบริษัทที่รับเหมายอมรับเพิ่งรับงานครั้งแรกกับทาง กทม.และประมูลตามขั้นตอน และเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 4 แสนบาท และเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งนอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ใน กทม.ไม่มีการก่อสร้างแบบในจุดเกิดอื่น มีเพียงการก่อสร้างสะพานทางเดินเชื่อมตรงย่านบางกะปิ"

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้คือให้บริษัทรับเหมาเสนอแผนการรื้อถอน โดยมีโยธา กทม.และวิศวกรรมสถานเป็นผู้พิจารณา โดยขณะนี้สั่งระงับการก่อสร้างทั้งหมดไว้ก่อน และตรวจสอบความแข็งแรงของตัว Launching Truss อีกตัวที่เหลืออยู่ คาดว่าจะต้องปิดการจราจรอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งในการขั้นตอนการรื้อถอนได้สั่งกำชับให้มีการเก็บหลักฐานต่างๆ ด้วย

สำหรับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมถึงทรัพย์สินความเสียหายต่างๆ ทาง กทม.และบริษัทผู้รับเหมาพร้อมรับผิดชอบและดูแลอย่างเต็มที่ เบื้องต้น ผู้บาดเจ็บ 13 ราย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์แล้ว

ด้าน พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)   ลงพื้นที่เกิดเหตุ เผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถเข้าตรวจสอบภายในซากสะพานที่ถล่มลงมาได้ เนื่องจากยังเป็นพื้นที่อันตราย เสี่ยงที่จะทรุดตัวลงมาได้ แต่ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สำรวจผู้ที่สัญจรในช่วงเวลาเกิดเหตุและประชาชนพักอาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ ว่ามีใครสูญหายหรือติดต่อไม่ได้บ้าง และได้มีคำสั่งให้จัดตั้งคณะพนักงานสอบสวนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 รวบรวมรายชื่อพยานและพยานเอกสาร เริ่มตั้งแต่การควบคุมงานก่อสร้างไปจนถึงการเทหล่อสะพานยกระดับ ว่ามีการแบ่งงานคนงานก่อสร้างอย่างไร วิศวกรที่มีการควบคุมดูแลได้ทำตามขั้นตอนหรือไม่ เพื่อนำไปสู่ประเด็นการสอบสวนถึงสาเหตุที่สะพานถล่มลงมา นอกจากนี้ ได้เห็นกล้องวงจรปิดที่ร้านสะดวกซื้อภายในปั๊มน้ำมัน ซึ่งเห็นภาพขณะเกิดเหตุได้อย่างชัดเจน เบื้องต้นคานรับน้ำหนักที่เป็นโครงสร้างเหล็กได้ทรุดตัว จึงทำให้คานปูนทรุดตัวตามลงมา จึงต้องส่งวงจรปิดให้กับผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบถึงสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป

พ.ต.อ.พรรณลบ สำราญสม ผกก.สน.จรเข้น้อย เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องแล้ว 7 ปาก มีทั้งพยานที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เห็นเหตุการณ์ สำหรับผู้บาดเจ็บ 8 ราย กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 4 ราย แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว 4 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตยังคงมีจำนวน 2 ราย โดยญาติได้ติดต่อเข้ารับศพที่สถาบันนิติเวชฯ โรงพยาบาลตำรวจแล้ว ส่วนเรื่องการดำเนินคดีนั้นอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมตั้งคณะทำงานสอบสวนเพื่อสอบปากคำแล้ว และได้ติดต่อผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อให้ไปสอบปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ทางผู้รับเหมาแจ้งว่าคงติดภารกิจการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและต้องเร่งกู้ซาก ต้องให้เวลาระยะหนึ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจวันฉัตรมงคล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีฉัตรมงคล พุทธศักราช 2567 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง