โอมิครอนรายที่4 คนไทยจากคองโก สั่งติดตามใกล้ชิด

ไทยติดเชื้อใหม่ 4,203 ราย เสียชีวิต 49 คน สธ.พบโอมิครอนรายที่ 4 ชายไทยมาจากคองโก นายกฯ สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์ใกล้ชิด กระตุ้นประชาชนฉีดวัคซีน รัฐบาลจีนถวายวัคซีนซิโนฟาร์มอีก 2 แสนโดส พยาบาลโรงพยาบาลอุดรฯ ร้องสภาถูกเบี้ยวเงินเสี่ยงภัยโควิด

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,203 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,143 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,048 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 95 ราย มาจากเรือนจำ 42 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 18 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,939 ราย อยู่ระหว่างรักษา 60,415 ราย อาการหนัก 1,175 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 320 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 49 ราย เป็นชาย 26 ราย หญิง 23 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 39 ราย มีโรคเรื้อรัง 10 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 12 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,156,587 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,075,662 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,084 ราย

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทย วันที่ 8 ธ.ค. 462,006 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 96,341,748 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 268,091,864 ราย เสียชีวิตสะสม 5,294,905 ราย สำหรับ 10 อันดับจังหวัดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด ได้แก่ กทม. 853 ราย, นครศรีธรรมราช 281 ราย, สงขลา 192 ราย, ชลบุรี 170 ราย, ปัตตานี 154 ราย, เชียงใหม่ 142 ราย, สมุทรปราการ 142 ราย, สุราษฎร์ธานี 98 ราย, ปราจีนบุรี 96 ราย และประจวบคีรีขันธ์ 92 ราย ขณะนี้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ตอนนี้กระจายไปแล้ว 59 ประเทศ เพิ่มใหม่วันนี้ 3 ประเทศ ได้แก่ เอสโตเนีย คูเวต และลิกเตนสไตน์

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ติดตามสถานการณ์รายวันของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในไทยอย่างใกล้ชิด แม้ภาพรวมผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลได้รับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ โดยวางแนวป้องกันตามช่องทางการเดินทางเข้า-ออกประเทศและสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด มีการสุ่มตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยไข้หวัดที่เป็นกลุ่มก้อน และได้ทำการส่งตัวอย่างเชื้อที่พบจากผู้เดินทางหรือรายที่น่าสงสัยไปตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้การตรวจพบเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากภายนอกได้เร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถคัดกรองผู้ที่เข้าข่ายอาการป่วยได้อย่างทันท่วงที

ส่วนที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน รายที่ 2 และ 3 ของประเทศไทย ซึ่งเดินทางมาจากทวีปแอฟริกา พบว่ายังไม่ได้รับวัคซีน รวมทั้งขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ  ไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยนั้น ทั้ง 2 รายอยู่ระหว่างการคุมสังเกตอาการเพิ่มเติมอีก 7 วัน จึงขอฝากไปถึงประชาชนที่ยังลังเลไม่เข้ารับการฉีดวัคซีน ให้รีบเข้ามารับการฉีดวัคซีน เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันป้องกันตัวเองจากเชื้อโควิด ทั้งนี้ นายกฯ ต้องการให้ประชาชนเปลี่ยนความกังวลและความตกใจ ให้เป็นพลังป้องกันในการต่อสู้กับโรค โดยการฟังข้อมูลข่าวสารจากทางภาครัฐ มาตรการรับมือกับโรคและแนวทางป้องกันต่างๆ หากต้องการทราบข้อมูล สามารถสอบถามจากแหล่งที่ให้ข้อแนะนำที่เชื่อถือได้ เช่น กรมควบคุมโรค และหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยลดความตื่นกลัว และนำมาใช้ป้องกันโรคอย่างถูกทาง

ที่กระทรวง​สาธารณสุข​ (สธ.) นพ.ศุภกิจ ​ศิริ​ลักษณ์​ อธิบดี​กรม​วิทยา​ศาสตร์​การแพทย์ ​แถลง​ความ​คืบหน้าสถานการณ์​โค​วิด​-19 สายพันธุ์​โอมิครอนว่า ข่าวสารเกี่ยวกับเชื้อโอมิครอนค่อนข้างเยอะ ทำให้เกิดความวิตกกังวลสับสน ซึ่งขอให้ข้อมูลว่ากรมร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังเรื่องการตรวจรหัสพันธุกรรมมาโดยตลอด 1 พ.ย.-8 ธ.ค. ตรวจแล้วด้วย 2 วิธีคือ 1.การตรวจเฉพาะตำแหน่งเฉพาะยีนเป็นเบื้องต้น และ 2.การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว เพื่อการยืนยันสายพันธุ์ โดยในส่วนของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและการสุ่มตรวจคนที่อยู่ในประเทศไทย ตรวจทั้งหมด 1,649 ตัวอย่าง เจอเดลตา (อินเดีย)​ เกือบทั้งหมด 99% กว่าๆ มี 4 ราย เป็นโอมิครอน คิดเป็นประมาณไม่ถึง 1% ดังนั้นศัตรูในประเทศไทยคือเชื้อเดลตา

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า 4 รายดังกล่าวนั้น โดย 2 ราย เป็นหญิงไทยเดินทางกลับจากไนจีเรีย ยืนยันเป็นโอมิครอน รวมชายอเมริกัน 1 ราย ที่มาจากสเปน จึงสรุปเป็นโอมิครอน 3 ราย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์​ที่ผ่านมาได้รับตัวอย่างมาอีก 1 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างของผู้ชาย อายุ 41 ปี สัญชาติไทย เป็นเจ้าหน้าที่ของยูเอ็น เดินทางมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย​คองโก เข้ามาในระบบ Test & ​go เคยได้รับวัคซีนแอสตร้า​เซน​เนก้า​มาแล้ว 2 โดส ตรวจพบยีน 4 ตำแหน่ง เข้าข่ายเป็นเชื้อโอมิครอน กำลังตรวจสายพันธุกรรมทั้งตัว จะทราบผลใน 2-3 วัน ตอนนี้อยู่ระหว่างกักตัวและสอบสวนโรค ย้ำว่าทั้งหมดเป็นการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าชุดตรวจแอนติเจนเทสต์คิต​ (ATK) สามารถตรวจหาเชื้อโอมิครอนได้ เพราะโปรตีนที่ผลิตในการทำ ATK ไม่มีปัญหาที่โอมิครอนจะหลบหลีกได้ ทั้งนี้ จะต้องตรวจ ATK ให้ถูกต้อง

เพจเฟซบุ๊ก Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โพสต์รูปภาพวัคซีนซิโนฟาร์มพร้อมข้อความว่า รัฐบาลจีนถวายวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 แสนโดสแด่ราชวงศ์ไทย ส่งมาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 9 ธ.ค. โดยถวายแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยจนถึงขณะนี้จีนได้ส่งมอบวัคซีนให้ไทยแล้วทั้งหมด 50.35 ล้านโดส

ที่รัฐสภา นางนิลุบล ไชยโกมล  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ได้ยื่นหนังสือต่อนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เนื่องจากผู้บริหารโรงพยาบาลอุดรธานียังไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนจากการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นเงินตอบแทนพิเศษรายเดือน เดือนละ 1,500 บาท ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ต.ค.2563 ซึ่งตามข้อตกลงพยาบาลและบุคลากรโรงพยาบาลอุดรธานี จะได้รับ 1 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน นอกจากนี้จะมีเงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนสำหรับผู้ปฏิบัติงานตรง และผู้ปฏิบัติงานสนับสนุน และการเบิกจ่ายเงินค่าเสี่ยงภัย ตามมติ ครม.ที่ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว

ด้านนายสิระกล่าวว่า เรื่องนี้ได้รับรายงานมาว่า พยาบาลจำนวนมากในโรงพยาบาลไม่ได้รับ และแต่ละคนได้รับจำนวนไม่เท่ากัน โดยให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นผู้บริหารจัดการ แต่กลับมีข้อมูลว่ามีการจ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยให้กับพนักงานรักษาความปลอดภัย 13 คน ทั้งๆ ที่เป็นการจ้างเหมาจากบริษัทเอกชน หากเป็นข้อเท็จจริงจะต้องจัดการกับ ผอ.รพ.อย่างถึงที่สุด กมธ.กฎหมายจะตรวจสอบ และ ผอ.คนดังกล่าวต้องตอบให้ได้ว่าใช้ดุลยพินิจอะไรที่จ่ายเงินให้กับ รปภ. แต่กลับไม่ให้พยาบาล ทั้งนี้ ตนได้เรียนประเด็นนี้ต่อนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุขแล้ว โดยรัฐมนตรีแจ้งว่าจะเข้ามาตรวจสอบให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอนทองเขาบรรทัด' สินค้า GI รายการที่ 3 ของตราด

รัฐบาลมุ่งเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นไทย ขึ้นทะเบียนทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดตราด เพื่อความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้า ยกระดับรายได้ชุมชน