ตั้ง‘สุพัฒนพงษ์’ แก้ปัญหาจะนะ BRNเกาะขบวน

นายกฯ มอบ "สุพัฒนพงษ์"  นั่งประธาน กก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงนิคมอุตสาหกรรมจะนะ สั่งรับฟังความเห็นทุกฝ่ายให้ครบทุกมิติ ยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศและ ปชช.ในพื้นที่ “วิษณุ” แจงยิบ ครม.แค่รับทราบไม่ได้เห็นชอบ "เอ็มโอยู" ส.ส.ก้าวไกลซัด "ประยุทธ์" พูดจาไร้สัจจะ เมินข้อตกลงชาวจะนะ "บีอาร์เอ็น" โดดเกาะขบวน ทั้งออกแถลงการณ์-พ่นสีถนนใน 3 จว.ใต้ ประณามรัฐบาลสยามกดขี่ชาวปาตานี 

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 330/2564 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 64 แต่งตั้งนายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดยสั่งให้เน้นการตรวจสอบและรับฟังปัญหาให้ครบทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยต้องยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนในพื้นที่ 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีประชุมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 มีมติเพียงรับทราบรายงานผลการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอ โดย ครม.มอบหมายให้คณะกรรมการแก้ไขฯ  นำรายงานผลการหารือไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

 “นายกฯ รับฟังและห่วงใยทุกปัญหาของพี่น้องคนไทย รวมทั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ยืนยันว่าการลงไปในพื้นที่ของคณะทำงานชุดที่แล้ว เพื่อรวบรวมข้อมูลและเสนอรายงานผ่านคณะกรรมการตามขั้นตอน ให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงประเด็นต่างๆ ในพื้นที่ นายกฯ ยังเน้นว่า การดำเนินโครงการทุกอย่างต้องผ่านประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ทุกขั้นตอนต้องถูกต้อง สุจริต โปร่งใส และประชาชนต้องเห็นชอบเป้าหมายสูงสุด คือเพื่อการพัฒนาประเทศและประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์” นายธนกรกล่าว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับรัฐบาลหรือไม่ ว่าไม่มีอะไร อธิบายไปตามข้อเท็จจริงก็หมดเรื่อง เดิมเรื่องนี้ตนได้รับมอบหมายให้เป็นประธานรับผิดชอบให้ดูแลเกี่ยวกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ทั้งประเทศ ต่อมาการเมืองแรง และเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง จึงได้เปลี่ยนให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ดูแล เมื่อเกิดเรื่องที่จะนะ จึงตั้งคณะอนุกรรมการอีกชุดหนึ่งลงไปดูในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานลงไปดูเรื่องนี้ในพื้นที่ และตามบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู

จากนั้นได้นำทั้งรายงานผลการศึกษา และเอ็มโอยูเข้า ครม.เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 เป็นวาระรับทราบ โดยคำว่า ครม.รับทราบ แปลว่าการรับรู้เท่านั้น ไม่ใช่การอนุมัติ และเป็นเพียงการรับทราบรายงานการศึกษา แต่ขอไม่ดูเรื่องเอ็มโอยู เพราะไม่รู้ว่ารัฐจะทำตามได้หรือไม่ เนื่องจากทางคณะอนุกรรมการฯ ที่ไปเจรจายังต้องพูดคุยอีกเยอะ จึงให้ไปเจรจาให้จบก่อน แล้วค่อยนำเข้า ครม. ไม่ใช่เอาเอ็มโอยูมาปิดปาก ครม.

ครม.ไม่ได้เห็นชอบเอ็มโอยู

"เขาเอาเรื่องเอ็มโอยูเข้ามาด้วย แต่ครม.ไม่ได้เห็นชอบ และไม่มีประโยคที่บอกว่าเห็นชอบหรืออนุมัติตามเอ็มโอยูนั้น แค่รับทราบแค่ว่ามีการทำเอ็มโอยู แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะยังต้องเจรจากันต่อ ครม.จึงให้ไปทำต่อให้ ตอนที่เขานำเข้ามาตั้งใจว่าจะให้จบ แต่ ครม.บอกว่ายังไม่จบ ถ้าจะให้จบ ต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนจะมาถึง ครม. แต่หน่วยงานที่กล่าวมายังไม่ได้ดูเลย ฉะนั้นยังไม่ไปยุ่งกับเอ็มโอยู" 

เมื่อถามถึงความชัดเจนถึงผู้ลงนามแต่งตั้งให้ ร.อ.ธรรมนัสเข้าไปดูแลเรื่องนี้เป็นนายกฯ หรือ พล.อ.ประวิตร นายวิษณุกล่าวว่า พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง ส่วนที่นายกฯ ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ รมว.พลังงาน มารับผิดชอบเรื่องนี้แทน ร.อ.ธรรมนัส ก็จะดูเฉพาะเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะเท่านั้น

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีนายกฯ แต่งตั้งนายสุพัฒนพงษ์เป็นประธานกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโครงการนิคมฯ จะนะ ว่าตนไม่รู้ ตนไม่ได้ดูแล แต่มีการมอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรฯ ดูแล

ที่รัฐสภา น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยคณะ ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าว โดย น.ส.เบญจากล่าวว่า ประชาชนที่เดินทางมาจากจะนะ จ.สงขลา กว่า 50 คน เพื่อเข้าชุมนุมอย่างสันติให้รัฐบาลทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับชาวจะนะในการตรวจสอบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่กลับถูกสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามหลักสากล มีผู้ที่ถูกจับกุม 37 คน กรณีนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับผิดชอบ ต้องพูดให้ชัดเจน หลังนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อตกลงที่เกิดขึ้นเป็นข้อตกลงส่วนตัวของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรฯ กับชาวบ้าน นายกฯ ไม่ควรเบี่ยงประเด็น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯระบุว่าการทำ MOU เป็นการบันทึกความเข้าใจจะมีผลผูกพันรัฐบาลและทางกฎหมายในระดับหนึ่งด้วย

"กรณีนี้ต้องยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะพูดจาไร้สัจจะไม่ได้ ผลการประชุมครม.เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. มีรายงานความคืบหน้าในการจัดการแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่และมีการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต จ.สงขลา มติ ครม.ขัดและแย้งกับมติ ครม.ที่รับทราบไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.63" น.ส.เบญจากล่าว 

 ส.ส.พรรคก้าวไกลกล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้ต่อต้านความเจริญ แต่อยากเห็นการพัฒนาที่เห็นหัวพี่น้องประชาชน และดอกผลของการพัฒนา มีการจัดสรรและแบ่งปันให้กับประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้แบ่งปันให้กับกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลควรทบทวนมติครม.ครั้งนี้ 

ด้านนายประเสริฐพงษ์กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. กรมโยธาธิการและผังเมืองยืนยันว่ายังไม่มีการเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง ในทางหลักวิชาการเปลี่ยนสีผังเมืองได้ยาก หากรัฐบาลจะสั่งการให้เดินหน้าเรื่องนี้ ตนขอเรียกร้องนักวิชาการ ข้าราชการ ออกมาช่วยยืนยันในแง่วิชาการด้วยว่า ป่าชายหาดที่นั่นสมบูรณ์ เป็นเขตเกษตรชั้นดี มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ คนจะนะที่อยู่ในพื้นที่เขากินปลาตลอด เขาเลยฉลาด ไม่เหมือนคนจะนะ บางคนที่อ้างตัวว่าเกิดที่นั่น แต่คิดว่าน่าจะอยู่ที่กรุงเทพฯ นาน สมองเลยจะเสื่อม ความจำไม่ค่อยดี

"บีอาร์เอ็น"เกาะขบวนชาวจะนะ

นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังบริหารประเทศเพื่อประชาชนคนไทย หรือเพื่อประโยชน์ใครเป็นสำคัญกันแน่ ต้องเรียนรู้ได้แล้วว่าการบริหารประเทศต้องมีประชาชนเป็นหัวใจหลัก การวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเมืองเองก็เช่นกัน ต้องมีกระบวนการรับฟังที่เอาประชาชนมามีส่วนร่วมอย่างจริงใจ อย่าลุแก่อำนาจ ทำตามอำเภอใจเหมือนสมัยที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจมา เพราะยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติที่ผิดพลาด จะบั่นทอนโอกาส คุณภาพชีวิตคน  ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่เรียกคืนมาไม่ได้

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกว่า 70 คน เดินทางมาที่หน้ากระทรวงมหาดไทย เรียกร้องให้นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากให้การสนับสนุนการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยทางเครือข่ายฯ ได้ร่างหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีมาให้กับให้นายนิพนธ์ด้วย โดยมีตัวแทนจากศูนย์ดำรงธรรมเดินทางมารับหนังสือดังกล่าว

ช่วงเช้าเวลา 08.00 น. ตำรวจ ตชด.มว.ฉก.4101 (มลายูบางกอก) ได้ตรวจสอบพบว่า บนถนนสาย 410 บ้านพงยีไร หมู่ 1 ต.บันนังสาเร็ง อ.เมืองฯ จ.ยะลา มีคนร้ายได้ทำการพ่นสีบนถนน มีข้อความเป็นภาษามลายูว่า SAFE CHAKNA  KITAADALAH  SAU DARA  ความหมายเป็นภาษาไทยคือ “ปกป้องจะนะ” เจ้าหน้าที่จึงได้ปิดกั้นที่เกิดเหตุเพื่อทำการตรวจสอบหาหลักฐานว่าเป็นการกระทำของผู้ใด และมีความประสงค์อะไร ซึ่งต่อมาหน่วยงานความมั่นคง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้รับรายงานว่ามีการพ่นสีบนถนนด้วยข้อความดังกล่าวในหลายพื้นที่ใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งน่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ใช้เหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลของกลุ่ม "จะนะรักษ์ถิ่น" เพื่อให้หยุดโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ อยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และหน้าสำนักงาน UN ในขณะนี้

ต่อมาในเวลา 10.00 น. มีเพจของ ขบวนการบีอาร์เอ็น ถูกส่งแพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย โดยฝ่ายโฆษกขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น เป็นภาษารูมี (มลายู) มีใจความว่า “บ้านเกิดของเรา ปาตานีอุดมสมบูรณ์ และมีทรัพยากรมากมาย ปัจจุบันอยู่ภายใต้อาณานิคมสยามขนาดเล็กและกดขี่  ในอำเภอจะนะ พี่น้องเรากำลังต่อสู้เพื่อปกป้องที่ดินที่อยู่อาศัยและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ควรมีการทำรุนแรงจากรัฐบาลสยาม พวกเราบีอาร์เอ็นกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับพี่น้องเราในจะนะ และเราบีอาร์เอ็นยังประณามรัฐบาลสยามอย่างรุนแรงสำหรับการกระทำที่กดขี่และไร้มนุษยธรรมที่ละเมิดสิทธิของชาวปาตานี"

ทั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงได้มีการสั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้าน ทั้งในส่วนที่ กทม. และในพื้นที่ อ.จะนะ เพราะเกรงว่า จะมีมือที่สามสร้างสถานการณ์รุนแรงกับประชาชน เพื่อป้ายความผิดให้กับเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.จะนะ และ อ.เทพา เจ้าหน้าที่ ตชด.ภาค 4 เพิ่งจะมีการปิดล้อมจับกุม "แนวร่วม" ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอนทองเขาบรรทัด' สินค้า GI รายการที่ 3 ของตราด

รัฐบาลมุ่งเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นไทย ขึ้นทะเบียนทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดตราด เพื่อความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้า ยกระดับรายได้ชุมชน