ม็อบค้านเบี้ยอนาถา/โยนพมจ.เร่งแจง

เครือข่ายภาคประชาชนบุก   "คลัง-มท.-พม." ค้านจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบอนาถา บี้รัฐบาลยกเลิกระเบียบมหาดไทย คงสิทธิถ้วนหน้า "อนุกูล" สั่งพัฒนาสังคมฯ ทุกจังหวัดเร่งแจงคนชรายังได้รับเหมือนเดิม "จุรินทร์" ย้ำยังไม่มีนโยบายปรับลด "ก้าวไกล" จ่อชงร่าง  พ.ร.บ.สวัสดิการถ้วนหน้าเข้าสภา

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวย้ำถึงกรณีการปรับเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุว่า จนถึงขณะนี้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่เคยมีนโยบายที่จะไปลดเบี้ยยังชีพให้น้อยลง หรือไปลดปริมาณผู้สูงอายุหรือจำนวนผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพให้น้อยลง หรือเลือกจ่ายเฉพาะใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใดทั้งสิ้น  นโยบายยังคงเดิม คือจ่ายตามขั้นอายุ  600, 700, 800 และ 1,000 บาท เพราะฉะนั้นถัดจากนี้ไปผู้สูงอายุก็ยังคงได้รับเบี้ยยังชีพเช่นเดิม โดยปี 2567 ได้ตั้งงบประมาณไว้แล้วประมาณกว่า 90,000    ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามระบบการจ่ายเบี้ยยังชีพเดิมทุกประการ

นายจุรินทร์กล่าวว่า การออกระเบียบของกระทรวงมหาดไทยเป็นเรื่องของหน่วยปฏิบัติ แต่ระดับนโยบายมีแต่สั่งการให้ศึกษาแนวทางต่างๆ ว่าจะเพิ่มเบี้ยยังชีพให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เพื่อสอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพ ภาวะเศรษฐกิจ หรือกำลังเงินงบประมาณของแผ่นดินให้มากขึ้นได้อย่างไร

ที่รัฐสภา นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงคัดค้านระเบียบกระทรวงมหาดไทย ลดบำนาญประชาชน พร้อมสนับสนุนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญถ้วนหน้าว่า   กรณีของการประกาศระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ที่ออกมาเมื่อวันที่ 11 ส.ค. และบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น เป็นการหมุนกงล้อระบบสวัสดิการย้อนกลับจากที่ไทยควร จากมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้ากลับไปสู่ระบบสงเคราะห์ ที่ต้องพิสูจน์ความจนเพื่อได้รับการช่วยเหลือ ทั้งนี้ ปัญหาที่กังวลว่าจะมีเพิ่มตามมาคือเรื่องกฎเกณฑ์ที่จะต้องออกตามมาจากประกาศฉบับนี้ ซึ่งถ้าหากมีการใช้ฐานข้อมูลจากบัตรคนจน  ประเมินว่าจะมีผู้สูงอายุที่หลุดออกจากระบบ ไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุประมาณอีก 6 ล้านคน

นายเซียกล่าวว่า เตรียมจะยื่นร่าง พ.ร.บ.บำนาญถ้วนหน้า เพื่อเป็นก้าวแรกที่จะทำให้ระบบสวัสดิการของเราก้าวไปข้างหน้า และประเทศไทยจะเดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการ ด้วยการมี Universal basic income ให้ทุกคนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องพิสูจน์ความจนกันอีกต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.มาตรา 5 ของ พ.ร.บ. ยืนยันว่าบุคคลทุกคนที่มีอายุหกสิบปีขึ้นไปต้องได้รับบำนาญแห่งชาติ โดยไม่ตัดสิทธิ์ประโยชน์ของผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญตามกฎหมายอื่นหรือตามมติคณะรัฐมนตรี 2.จะต้องมีการกำหนดอัตราบำนาญแห่งชาติใหม่ทุกสามปี และ 3.ทุกคนต้องได้รับบำนาญต่อเดือนไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือตามที่เราเคยหาเสียงไว้ คือประมาณ 3,000 บาท และถ้าหากมีการปรับเส้นความยากจน ตัวเงินบำนาญตัวนี้ต้องปรับขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น. เครือข่ายสลัมสี่ภาค, เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair กว่า 100 คน ได้รวมตัวที่บริเวณข้างกระทรวงการคลัง พร้อมออกแถลงการณ์ร่วมเครือข่ายประชาชน 53 องค์กร 1,468 รายชื่อ ปกป้องสวัสดิการประชาชน คัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ภายหลังจากที่กระทรวงมหาดไทยมีการกำหนดเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

น.ส.กรรณิการ์ ปู่จินะ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุในแถลงการณ์ว่า  ขอคัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยมีข้อเรียกร้องร่วมกัน 5 ข้อ คือ 1.ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว และกลับไปใช้ระเบียบเดิม ไม่ต้องมีการพิสูจน์ความจน และตัดสิทธิ์การรับสวัสดิการซ้ำซ้อนไว้แล้ว 2.คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.)  ต้องออกมาปกป้องสิทธิ์ของผู้สูงอายุทุกคน ไม่ตอบสนองต่อหลักเกณฑ์ใหม่ 3.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องออกกฎหมายรองรับระบบบำนาญถ้วนหน้า ไม่ใช่ใช้หลักนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามมติคณะรัฐมนตรี 4.กระทรวงการคลังควรตัดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหารายได้ใหม่ๆ เข้ารัฐเพื่อใช้จัดสวัสดิการให้ประชาชนแบบถ้วนหน้า เช่น ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นต้น และ 5.รัฐบาลใหม่ต้องผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้น และต้องเป็นสิทธิ์แบบถ้วนหน้า โดยระบุในกฎหมายให้ชัดเจน

นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ กล่าวในการชุมนุมว่า เครือข่ายได้เคยมาเรียกร้องต่อกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา และปลัดกระทรวงการคลังยืนยันว่าเบี้ยสูงอายุจะได้เหมือนเดิม แต่ต่อมาวันที่ 12 ส.ค. กลับมีการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นการให้เบี้ยแบบไม่ถ้วนหน้า จัดสรรให้แบบอนาถา  จึงขอเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงการคลังออกมาพูดความจริง อย่าหลอกลวง ตระบัดสัตย์กับคนแก่ เขารอมาทั้งชีวิต

ต่อมาเวลา 10.30 น. ทางกลุ่มเครือข่ายผู้ชุมนุมเคลื่อนเข้ามาบริเวณประตู 4 โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของกระทรวงการคลังรีบเข้ามาคล้องโซ่ที่หน้าประตูใหญ่ พร้อมกับล็อกแม่กุญแจประตูเพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาได้ จนเกิดการยื้อหรือขย่มประตูกันอยู่ระยะหนึ่ง ส่งผลให้ผู้ชุมนุมบางส่วนเกิดความไม่พอใจเป็นอันมาก พร้อมกับกล่าวโจมตีด้วยถ้อยคำรุนแรง

ด้านนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการ We Fair ระบุว่า นอกจากมาที่กระทรวงการคลังแล้ว จะเคลื่อนตัวไปที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลปัญหานี้ เนื่องจากเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม

ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เครือข่ายดังกล่าว ได้ยื่นแถลงการณ์ข้อเรียกร้องให้กับนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. รวมทั้งได้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการนอนเลียนแบบการตาย ในกรณีหากมีการตัดเบี้ยคนชรา

ทั้งนี้ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม.  กล่าวกับเครือข่ายฯ ว่า พม.ยืนเคียงข้างผู้สูงอายุ และในฐานะที่ พม.เป็นฝ่ายเลขานุการใน กผส. ขอให้มั่นใจว่า พม.จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ที่จะปกป้องสิทธิผู้สูงอายุโดยไม่ทำให้ผิดหวัง อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุรายเดิมยังคงได้รับเบี้ยยังชีพเหมือนเดิม ส่วนผู้ที่กำลังจะลงทะเบียนรับสิทธิ์รายใหม่ ณ เวลาใด ยังคงได้รับสิทธิ์ตามเกณฑ์ระเบียบ มท.ฉบับเดิม เป็นไปตามบทเฉพาะกาลในระเบียบ มท.ฉบับใหม่ ที่กำหนดถึงเกณฑ์คุณสมบัติจะต้องเป็นไปตามมติ กผส. ซึ่งยังต้องรอรัฐบาลใหม่ที่จะกำหนดทิศทางนโยบาย เชื่อมั่นว่าทุกรัฐบาลให้ความสำคัญกับคนทุกช่วงวัย ที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน

นายอนุกูลให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วยว่า ได้เรียกประชุมอธิบดีทุกกรม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) และหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดกว่า 400 แห่ง ให้สื่อสารความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ถึงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ผู้สูงอายุทุกคนยังคงได้รับเช่นเดิม ไม่มีผลกระทบ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง