คุกผวา ‘โอมิครอน’ สั่งคุมเข้ม ‘นักโทษ’ ต่างชาติพื้นที่เสี่ยง

ไทยติดเชื้อโควิดใหม่  4,079 ราย ตาย 39 ราย พบสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลกแล้ว 65 ประเทศ รายแรกของไต้หวันโผล่ อังกฤษฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 3  ป้องกันโอมิครอนได้ 75 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,079 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,044 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,974 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 70 ราย, มาจากเรือนจำ 19 ราย, เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,302 ราย อยู่ระหว่างรักษา 53,455 ราย อาการหนัก 1,115 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 315 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 39 ราย เป็นชาย 16 ราย หญิง 23 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 27 ราย มีโรคเรื้อรัง 10 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดใน จ.เชียงใหม่ 5 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,164,859 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  2,090,253 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,151 ราย

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. เพิ่มเติม 355,567 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งสิ้น 97,177,327 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 269,420,435 ราย เสียชีวิตสะสม 5,311,481 ราย

สำหรับ 10 อันดับจังหวัดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด กทม. 664 บาท, นครศรีธรรมราช 371 ราย, สงขลา 226 ราย,  สุราษฎร์ธานี 146 ราย, ชลบุรี 140 ราย,  สมุทรปราการ 130 ราย, ปัตตานี 107 ราย, เชียงใหม่ 88 ราย, ชุมพร 82 ราย และตรัง 78 ราย

ส่วนผลการดำเนินงานการรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยาน ตั้งแต่วันที่ 1-10 ธันวาคม 2564 มีต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศจำนวน 70,294 ราย พบผู้ติดเชื้อโควิด 116 ราย อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 0.17%

แต่เมื่อรวมนับตั้งแต่เปิดประเทศ (1 พ.ย.-10 ธ.ค.64) มีต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้ว 203,355 ราย ติดเชื้อโควิดรวม 287 ราย และระบบ Test & Go หรือระบบไม่กักตัว มีผู้เดินทางเข้ามามากที่สุด และพบผู้ติดเชื้อโควิดมากที่สุดเช่นกันจำนวน 68 คน

สำหรับอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด คือ 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 50,705,257 ราย 2.อินเดีย จำนวน 34,682,614 ราย 3.บราซิล จำนวน 22,184,824 ราย 4.สหราชอาณาจักร จำนวน 10,719,165 ราย 5.รัสเซีย จำนวน 9,956,679 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,164,859 ราย

สำหรับโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ระบาดแล้วใน 65 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ พบในทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ คือ 1.แอฟริกาใต้ 2.บอตสวานา 3.แซมเบีย 4.ซิมบับเว

พบติดเชื้อในประเทศ 20 ประเทศ ได้แก่ 1.ออสเตรเลีย 2.เบลเยียม 3.สหราชอาณาจักร 4.แคนาดา 5.โครเอเชีย 6.เดนมาร์ก 7.ฝรั่งเศส 8.เยอรมนี 9.ฮ่องกง 10.ไอซ์แลนด์ 11.อินเดีย 12.ไอร์แลนด์ 13.อิสราเอล 14.โมซัมบิก 15.นามิเบีย 16.นอร์เวย์ 17.โปรตุเกส 18.สิงคโปร์ 19.เกาหลีใต้ 20.สเปน

พบจากผู้เดินทางเข้าประเทศ 41 ประเทศ/พื้นที่ ได้แก่ 1.อาร์เจนตินา 2.ออสเตรีย 3.เบอร์มิวดา 4.บราซิล 5.ชิลี 6.คิวบา 7.ไซปรัส 8.สาธารณรัฐเช็ก 9.เอสโตเนีย 10.ฟิจิ 11.ฟินแลนด์ 12.กานา 13.กรีซ 14.อิตาลี 15.ญี่ปุ่น 16.จอร์แดน 17.คูเวต 18.ลัตเวีย 19.เลบานอน 20.ลิกเตนสไตน์ 21.ลักเซมเบิร์ก 22.มาเลเซีย 23.มัลดีฟส์ 24.เม็กซิโก 25.เนปาล 26.เนเธอร์แลนด์ 27.ไนจีเรีย 28.นอร์เวย์ 29.เรอูนียง 30.โรมาเนีย 31.รัสเซีย 32.ซาอุดีอาระเบีย 33.เซเนกัล 34.เซียร์ราลีโอน 35.ศรีลังกา 36.สวีเดน 37.สวิตเซอร์แลนด์ 38.ไทย 39.ตูนิเซีย 40.ยูกันดา 41.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สื่อต่างประเทศรายงานถึงสถานการณ์โควิด-19 ในไต้หวัน ล่าสุด ศูนย์บัญชาการโรคระบาดกลาง รัฐบาลไต้หวัน รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโอมิครอน รายแรกของไต้หวัน โดยผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนคนดังกล่าวมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศเอสวาตีนี ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของอังกฤษ เปิดเผยผลการฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วยโควิด-19 เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน จำนวน 581 คน พบว่าวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น มีประสิทธิภาพราว 75 เปอร์เซ็นต์ ในการปกป้องผู้ป่วยเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนที่เคยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มแรก

ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มแรก และฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 วัคซีนจะมีประสิทธิภาพ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรัฐมนตรีสาธารณสุขของอังกฤษเรียกร้องให้ประชาชนออกมารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยด่วน เนื่องจากเป็นวิธีป้องกันเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนได้ดีที่สุดในเวลานี้

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศแจ้งเตือนเรื่อง พบการระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน โดยเชื้อดังกล่าวมีศักยภาพสูงในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทำให้ติดเชื้อง่ายและอาจทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ได้ในอนาคต ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้เตรียมรับมือในกรณีที่เกิดการระบาดขึ้นในประเทศ โดยกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเติม ไปยังเรือนจำและทัณฑสถานทุกแห่ง ดังนี้

1.ให้เรือนจำและทัณฑสถานทุกแห่ง ยกระดับการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน โดยเฉพาะผู้ต้องขังต่างชาติเข้าใหม่ ที่มาจากพื้นที่ยืนยันพบผู้ติดเชื้อ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บอตสวานา มาลาวี เอสวาตินี โมซัมบิก ซิมบับเว เลโซโท นามิเบีย อิตาลี อังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ฮ่องกง อิสราเอล และออสเตรเลีย หรือประเทศอื่นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจคัดกรอง และแยกกักผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าวอย่างน้อย 21 วัน ออกจากผู้ต้องขังเข้าใหม่รายอื่น พร้อมตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ก่อนออกจากห้องแยกกักโรค และตรวจหาเชื้อในกลุ่มเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกๆ 7-14 วัน หากพบติดเชื้อจะได้รับการรักษาทันที

2.การคัดกรองญาติที่มาเยี่ยมในเรือนจำและทัณฑสถาน โดยเฉพาะผู้มีประวัติเดินทางกลับจากต่างประเทศ ให้แสดงผลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม ก่อนเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ไปยังญาติผู้ต้องขังที่กลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากพื้นที่ยืนยันพบผู้ติดเชื้อ เพื่อให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นในการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดดังกล่าว

3.จัดหาหน้ากากอนามัยให้กับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขังทุกราย พร้อมจัดเตรียมแอลกอฮอล์เจล หรืออ่างล้างมือ เพื่อใช้ประจำจุดในเรือนจําและทัณฑสถานให้เพียงพอต่อการใช้งาน

4.เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ต้องขัง และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกคน โดยปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานได้รับวัคซีนแล้วครบโดสแล้ว จำนวน 260,900 ราย หรือ 92.5% ของจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั้งหมด 282,204 ราย

5.ให้เรือนจำและทัณฑสถาน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่าย ถือปฏิบัติตามข้อสั่งการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในสถานที่ควบคุมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม (ศบค.ยธ.) และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ (ศบค.รท.) อย่างเคร่งครัด

นายอายุตม์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมราชทัณฑ์ยังคงดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาด และเชื่อว่าหากทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติตามมาตรการที่วางไว้ รวมถึงการปฏิบัติตามแนวทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  อาทิ การเว้นระยะห่างระหว่างกัน การหมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลอยู่เสมอ รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา จะช่วยให้สามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง