‘ปชป.’ตีกันพรรคร่วมรัฐบาล

เลือกตั้งซ่อมชุมพร-สงขลา ยังไม่ทันลงสนามสู้ศึก พรรคร่วมรัฐบาลทิ่มกันแล้ว รองหัวหน้า ปชป.อ้างธรรมเนียมการเมือง อยู่รัฐบาลเดียวกัน ต้องให้เกียรติพรรคร่วมฯ-เจ้าของพื้นที่ "บิ๊กป้อม" นัดถกแกนนำ พปชร.ลงมติจะลุยหรือหลบให้ ปชป.อังคารนี้ "จาตุรนต์" หมดราคา ซมซานคอตกกลับเพื่อไทย นัดเปิดชื่อพวกวิ่งขอกลับพรรค 14 ธ.ค.

ความเคลื่อนไหวในการเลือกตั้งซ่อมส.ส.พัทลุงและสงขลาเริ่มคึกคักมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส. 6 สมัย และอดีตรัฐมนตรี เขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม เรื่อง "มารยาททางการเมือง และ 4 เหตุผลกรณีพรรคร่วมรัฐบาลไม่ส่งผู้สมัครแข่งกันเองในการเลือกตั้งซ่อม" ซึ่งตรงกับความสนใจของสาธารณชนในขณะนี้ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 และสงขลา เขต 6

นายอลงกรณ์ระบุว่า "คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นมารยาททางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะหลีกทางให้พรรคเจ้าของที่นั่งเดิมส่งผู้สมัคร ส.ส. โดยไม่แข่งกันเองในการเลือกตั้งซ่อม ความจริงเหตุผลเรื่องมารยาททางการเมืองเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลอื่นอีกที่อธิบายว่าทำไมพรรคร่วมรัฐบาลชุดก่อนๆ ที่ผ่านมาจึงไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.แข่งกันเองจนถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมทางการเมืองสืบต่อกันมา ด้วยเหตุผล 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.เป็นการให้เกียรติกันและกันของพรรคร่วมรัฐบาลในฐานะพันธมิตรทางการเมือง 2.เป็นการรักษาที่นั่ง ส.ส.ซีกรัฐบาลในฐานะเสียงข้างมากในสภาเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล 3.เป็นการสร้างความสามัคคีและความเป็นเอกภาพของรัฐบาล 4.เป็นโอกาสโฆษณาผลงานสร้างความนิยมของรัฐบาลและชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่ถูกโจมตีจากฝ่ายค้าน ดังนั้น ในอดีตจะเห็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไปช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครของพรรคร่วมรัฐบาลที่ลงสมัครรับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการแสดงน้ำใจและช่วยสนับสนุนกันและกัน ทำให้เกิดความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์ของรัฐบาลผสม

รองหัวหน้าพรรค ปชป.ระบุว่า ทั้งนี้จะมีเกณฑ์พิจารณาว่าพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดจะได้สิทธิ์ในการส่งผู้สมัครชิงตำแหน่ง ส.ส.ที่ว่างลงในการเลือกตั้งซ่อม 1.กรณีเป็นที่นั่งเดิมของพรรคร่วมรัฐบาลจะให้สิทธิ์พรรคที่เป็นเจ้าของที่นั่งเดิมส่งผู้สมัคร 2.กรณีเป็นที่นั่งเดิมของพรรคฝ่ายค้านจะให้สิทธิ์พรรคร่วมรัฐบาลที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลได้สิทธิ์ส่งผู้สมัคร แนวทางเช่นนี้มิใช่เพียงฝ่ายรัฐบาลเท่านั้นที่ยึดถือปฏิบัติ แม้แต่ฝ่ายค้านก็ยึดถือปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่เช่นกัน เพราะเป็นโอกาสที่จะวัดความนิยม (Popularity) ระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลในอีกทางหนึ่ง

รองหัวหน้าพรรค ปชป.ระบุว่า ยิ่งในยุคที่เสียงรัฐบาลผสมเกินกึ่งหนึ่งไม่มาก แต่ละเสียงในสภาจะมีความสำคัญมากโดยพรรคร่วมรัฐบาลจะช่วยกันรักษาที่นั่งในการเลือกตั้งซ่อมไม่ให้ฝ่ายค้านช่วงชิงไปได้ เพื่อความมีเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะการส่งผู้สมัครแข่งกันเองจะตัดคะแนนเสียงทำให้อาจเพลี่ยงพล้ำฝ่ายค้านได้ง่าย การถือแนวปฏิบัติเช่นนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลผสม โดยรวมพรรคประชาธิปัตย์ยึดถือธรรมเนียมการเมืองเช่นนี้ตลอดมาด้วยการรักษามารยาทและให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาลทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อม ส่วนพรรคอื่นจะถือปฏิบัติหรือไม่ ที่ไม่ขอก้าวล่วง

พปชร.ยังไม่สะเด็ดน้ำชิง ส.ส.

ขณะที่ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลในการส่งคนเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้ยังมีความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายแรก พวกกลุ่มนายอนุมัติ อาหมัด หัวหน้าทีมภาคใต้ และ 14 ส.ส.เขตภาคใต้ของพรรคต้องการให้พลังประชารัฐส่งคนลงเลือกตั้งทั้งสองจังหวัด แต่อีกฝ่ายที่ข่าวว่านำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ยังไม่ค่อยเห็นด้วยมากนัก เพราะมองว่าอายุของสภาชุดนี้เหลืออีกแค่ประมาณ 1 ปี 3 เดือน จึงไม่ควรส่งคนลงทั้งสองเขต เพื่อเก็บสรรพกำลังไว้ทำศึกเลือกตั้งใหญ่ดีกว่า อีกทั้งเพื่อเป็นการรักษาบรรยากาศของพรรคร่วมรัฐบาลไม่ให้ต้องสู้กันหนักในการเลือกตั้งซ่อม อีกทั้งยังมีกระแสข่าวหากพลังประชารัฐไม่ส่งคนลงเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร กลุ่มลูกหมี นายชุมพล จุลใส อดีตส.ส.ชุมพร จะนำทีมทั้งนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นในเครือข่ายตัวเองย้ายมาพลังประชารัฐตามหลังกลุ่มธรรมเพชร ตระกูลการเมืองที่พัทลุง ที่เปิดตัวเข้าพลังประชารัฐไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งความเห็นที่ยังไม่ไปในทางเดียวกันดังกล่าว ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นัดกรรมการบริหารเคาะหาข้อสรุปในการประชุมกรรมการบริหารพรรควันอังคารที่ 14 ธ.ค.นี้ ท่ามกลางกระแสข่าวว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีการนัดคุยกันนอกรอบของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส กับกลุ่มนายอนุมัติ อาหมัด และกลุ่ม 14 ส.ส.ภาคใต้ก่อนในช่วงวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค.

วันเดียวกันนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และคณะผู้บริหารพรรค แถลงเปิดตัว พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ (ผู้กำกับหนุ่ย) ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 จ.ชุมพร และนายพงศธร สุวรรณรักษา หรืออาร์ม ทนายความด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 จ.สงขลา โดยนายกรณ์กล่าวว่า ทั้ง 2 คนเป็นนักการเมืองเลือดใหม่ เป็นคนท้องถิ่นมีคุณภาพ ไม่เคยลงสมัครที่ไหนมาก่อน แต่มาลงพรรคกล้า เพื่อความเปลี่ยนแปลงการเมืองใน 2 จังหวัดนี้ ขอโอกาสให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรค เพื่อให้การเมืองพ้นจากการผูกขาดของรัฐและอิทธิพลเดิม

ส่วนความเคลื่อนไหวในพื้นที่อย่างที่ชุมพร เบื้องต้นพบว่าพรรคพลังประชารัฐ มีผู้เสนอตัวเปิดตัวหาเสียงเพียงคนเดียวได้แก่ ทนายแดง นายชวลิต อาจหาญ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชุมพร เขต 1 สมัยที่ผ่านมา ที่ได้คะแนน 36,703 คะแนน แพ้นายชุมพล จุลใส หรือลูกหมี ที่ได้คะแนน 47,030 คะแนน แต่ถึงตอนนี้ทางพรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่ประกาศตัวอย่างเป็นทางการ สำหรับพรรคภูมิใจไทย มีผู้สมัครเสนอตัวชัดเจนแล้ว 1 คน คือโกหมู นายสมบูรณ์ หนูนวล อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชุมพร เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ที่ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแพ้พรรคประชาธิปัตย์ไป 6,000 คะแนน คาดว่าอาจจะถูกโยกมาลงเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ชุมพร เขต 1 เนื่องจากสมาชิกพรรคผู้สมัครที่ถูกวางตัวให้ลงเลือกซ่อมในพื้นที่ชุมพร เขต 1 ได้ไปลงสมัครเป็นนายก อบต.แห่งหนึ่งในอำเภอสวี และได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบต. เมื่อวันที่ 28 พ.ย.64 ที่ผ่านมา แต่พรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะส่งผู้ใดลงสมัครเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ ส่วนพรรคก้าวไกล มีนายวรพล อนันตศักดิ์ คนหนุ่มรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางสังคมและการเมืองมานานนับปี ไปประกาศตนเองผ่านทางเฟซบุ๊ก มีความประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 กับพรรคก้าวไกลแล้ว ตอนนี้รอผ่านกระบวนการพิจารณาจากทางพรรค

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมดังกล่าวว่า รอประสานไปยังคณะกรรมการระดับจังหวัดชุมพรและสงขลาของพรรค ซึ่งสัปดาห์นี้ทางคณะกรรมการคงมีความเห็นขึ้นมา หากคณะกรรมการมีความเห็นว่าพร้อมที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม พรรคก็จะส่ง

ขณะที่นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตามภารกิจ และรักษาการรองหัวหน้าพรรคดูแลภาคใต้ กล่าวถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมาระบุว่า เวลานี้ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประชาธิปัตย์ไม่เหมือนเก่าแล้ว ในฐานะผู้บริหารพรรคจะแก้ปัญหาอย่างไร ว่าต้องขอน้อมรับ นายชวนแนะนำอะไรมาก็ต้องนำไปแก้ไข ควมเห็นและข้อแนะนำของนายชวนเราต้องรับไปปฏิบัติ และต้องพยายามช่วยกันทุกฝ่ายเพื่อกอบกู้พรรคขึ้นมาให้ได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง สมาชิกพรรคทุกคนเป็นเจ้าของ ก็ต้องร่วมกันช่วยเหลือทำให้พรรคดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งที่พรรคอื่นไม่มี ที่สมาชิกทุกคนต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ และต้องยึดมั่นว่านี่คือแนวทางที่ถูกต้อง โดยประชาธิปัตย์ที่เหลืออยู่ วันหนึ่งอาจจะล้ม แต่ล้มแล้วก็ต้องลุกให้ได้ และทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยการกระทำ ที่ต้องทำให้เห็นว่าเราช่วยกันแล้วความเชื่อมั่นจะกลับมา

นายนิพนธ์ยังกล่าวถึงกรณีนายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง เขต 2 ในนามพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่ผ่านมามีข่าวว่าจะลงในนามพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเดิมมีการพูดคุยกันระดับหนึ่งแล้ว แต่พอมีเหตุการณ์ความไม่พอใจกัน ตอนหลัง ก็ไม่ได้มีการประสานกัน ซึ่งก็ถือเป็นการตัดสินใจของแต่ละคน แต่เราเชื่อมั่นว่า น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร อดีต ส.ส.พัทลุง ยังมีความมั่นคงกับพรรค และยังคิดว่าตระกูลธรรมเพชรยังอยู่กับประชาธิปัตย์ เพราะนายสุพัฒน์ ธรรมเพชร บิดาของ น.ส.สุพัชรี ก็อยู่กับประชาธิปัตย์มา 30 ปีแล้ว ยืนยันว่าไม่มีปัญหากับพี่น้องตระกูลธรรมเพชร เพราะคนนามสกุลเดียวกันอยู่คนละพรรคก็มีให้เห็นเยอะแยะ ในที่สุดก็อยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจให้ความไว้วางใจ

14 ธ.ค.เปิดชื่อหน้าเก่ากลับ พท.

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำเพื่อไทย จะกลับเข้าพรรคเพื่อไทยว่า พรรคจะแถลงข่าวเรื่องคนที่จะมาสมัครเข้าพรรคพท.ชัดเจนพร้อมกันทีเดียวในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ โดยเราได้ประสานและพูดคุยกับทั้งอดีตสมาชิกพรรคของเราที่มีโอกาสที่จะกลับมาทำงานร่วมกันอยู่หลายคน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับกลับมาอย่างดี ส่วนจะมีใครอย่างไรบ้าง อยากให้ติดตาม

อนึ่งก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวที่นายจาตุรนต์ และอดีต ส.ส.เพื่อไทยและอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ เช่น นายธเนศ เครือรัตน์ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ ประธานสโมสรฟุตบอลศรีสะเกษเอฟซี, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายประภัสร์ จงสงวน เป็นต้น จะเปิดตัวพรรคการเมืองตั้งใหม่ชื่อพรรคเส้นทางใหม่ที่ได้ชื่อพรรคจาก กกต. และมีการเตรียมการต่างๆ ไว้หลายอย่างแล้ว เช่น ได้อาคารที่ทำการพรรคที่นนทบุรีไว้เรียบร้อยแล้ว โดยตอนแรกเป็นการเตรียมตั้งพรรคช่วงยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง แต่เมื่อมีการใช้บัตรสองใบในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในพรรคเพื่อไทย เลยทำให้มีข่าวว่ากลุ่มนายจาตุรนต์เปลี่ยนแนวความคิด และมีข่าวเรื่องดีลการเมืองการย้ายกลับเข้าเพื่อไทยผ่านการเชื่อมต่อกับแกนนำพรรคกลุ่มแคร์ของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผอ.พรรคเพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จำนวน 2 ฉบับ ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 77 กำหนดไว้ โดยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่.…) พ.ศ. … ครบกำหนดการเปิดรับฟังไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา

ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่.…) พ.ศ.… จะครบกำหนดในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ก่อนที่จะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 131 (1) กำหนดไว้ โดยหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางสำนักงาน กกต.จะรวบรวมความคิดเห็นที่ส่งมาจากทุกช่องทาง เสนอเข้าที่ประชุมใหญ่ กกต. เพื่อพิจารณารับทราบ และส่งความคิดเห็นแนบไปให้คณะรัฐมนตรีต่อไป

ท่าทีของพรรคการเมืองต่อกรณีเดียวกันนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ พรรคคิดว่าจะสามารถเสนอต่อรัฐสภาวันอังคารหรือวันพุธนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง