ศาลยกคำร้องยุบ3พรรค ศักดิ์สยามลุ้นต่อ20ก.ย.

ศาล รธน.ตีตกคำร้องยุบพรรค "ก้าวไกล-ประชาชาติ-เป็นธรรม"   แบ่งแยกดินแดน ไม่รับร้องปมอ้าง "วันนอร์" ไม่ให้รัฐสภาโหวตชื่อ "พิธา" เป็นนายกฯ รอบ 2 นัดถกสถานะ รมต. "ศักดิ์สยาม"  20 ก.ย. ศาลปกครองนัดชี้คดี "ธนาธร" ฟ้อง มท.เพิกถอนที่ดินราชบุรี 27 ก.ย. ตุลาการผู้แถลงคดีชงยกฟ้อง

เมื่อวันที่ 13 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมปรึกษาคดีกรณีที่นายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) พรรคประชาชาติ (ผู้ถูกร้องที่ 2) และพรรคเป็นธรรม (ผู้ถูกร้องที่ 3) ที่มีความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในหมวด 1 และหมวด 2 และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของบุคคลและกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์หรือแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ โดยสนับสนุนให้ดินแดนอันเป็นเขตอธิปไตยของราชอาณาจักรมีสิทธิปกครองตัวเอง หรือแยกตัวเป็นเอกราช ในลักษณะของการแบ่งแยกดินแดน   เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการของผู้ถูกร้องทั้งสาม หากเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่ไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 อีกทั้งข้อกล่าวอ้างเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารคำร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสามมีพฤติการณ์หรือกระทำการเกี่ยวข้องเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ สส.พรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นจำนวน 54 คน ขอให้วินิจฉัยว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รมว.คมนาคม ในขณะนั้นยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วน และยังคงเป็นผู้ถือหุ้น เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ทำให้นายศักดิ์สยามเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบ พ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ โดยศาลได้กำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันพุธที่ 20 ก.ย. เวลา 09.30 น.

นอกจากนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ นายบัณฑิต พุ่มทิพย์ ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 48 ว่า การกระทำของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมรัฐสภา มีคำสั่งให้ลงมติในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีมติว่าไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 41 เป็นการจงใจให้พรรคพวกของตนได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่

โดยศาลพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า   ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ผู้ถูกร้อง มีความมุ่งหมายและความประสงค์หรือการกระทำใดที่น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ

วันเดียวกัน องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลางออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  ประธานคณะก้าวหน้า ยื่นฟ้อง กระทรวงมหาดไทย กรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน และปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ขอให้เพิกถอนคำสั่งกรมที่ดินที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค.65 ที่เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 158-159 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

โดยตุลาการผู้แถลงคดีเสนอความเห็นว่าควรสั่งยกฟ้อง เนื่องจากก่อนรองอธิบดีกรมที่ดินจะมีคำสั่งเพิกถอน น.ส. 3 ก. จำนวน 59 ฉบับ ซึ่งรวมถึง น.ส.3 ก. แปลงเลขที่ 158-159 ของนายธนาธร  ได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญ การตรวจสอบเป็นไปตามหลักวิชาการแล้วพบว่าตำแหน่งที่ดินตามหลักฐาน น.ส. 3 ก. ทั้ง 59 ฉบับ  รวมทั้งที่ดินที่พิพาทอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2512 ทั้งแปลง ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงมีสถานะเป็นป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. มาก่อนที่จะออก น.ส.3 ก. เลขที่ 158-159 ให้กับนายอุดม กิตติอุดมพานิช และนายชัยณรงค์ บู่ศรี ที่เป็นเจ้าของที่ดินเดิมในปี 2521 เมื่อที่ดินทั้ง 2 แปลงตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร จึงเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ คำสั่งของรองอธิบดีกรมที่ดินจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนที่เจ้าหน้าที่ที่ดินออก น.ส.3 ก.ที่ดินทั้งสองแปลงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะถือเป็นการทำละเมิดต่อนายธนาธร ผู้ซื้อที่ดินที่เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินดังกล่าวมีการออก น.ส. 3 ก. โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 อ้างว่าตรวจสอบในสารบบที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 159 ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ไร่อ้อยมิตรผลฯ ซึ่งเป็นผู้ขาย กับนายสาโรจน์ วสุวานิช ผู้ซื้อต่างได้รับทราบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  อาจมีการเพิกถอน น.ส. 3 ก. ที่ดินบริเวณนี้ได้ โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้รับทราบและลงชื่อในบันทึกถ้อยคำฉบับวันที่ 12 ก.ย.28 ไว้

ต่อมานายสาโรจน์ได้ขายที่ดินให้นายธนาธร แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายธนาธรรับรู้ว่าที่ดิน น.ส.3 ก.ดังกล่าวอาจถูกเพิกถอนได้ แต่นายสาโรจน์ทำงานมีตำแหน่งบริหารในกลุ่มบริษัท  ไทยซัมมิทฯ ของครอบครัวนายธนาธร  ซึ่งโดยปกติวิสัยของพนักงานบริษัทต้องไม่หลอกลวง ปกปิดข้อเท็จจริงที่จะทำให้เกิดความเสียหายจากการซื้อที่ดินดังกล่าว ทำให้ไม่น่าเชื่อว่านายธนาธรจะซื้อที่ดินนี้มาโดยสุจริต ดังนั้นการที่รองอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอน น.ส.3 ก. แปลงที่พิพาท จึงไม่ถือเป็นการละเมิดต่อนายธนาธรและหน่วยงานรัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ ทั้งนี้ องค์คณะได้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 27 ก.ย.66 เวลา 10.00 น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง