เคี่ยวหนักรมต.ใหม่ ติงฉีกรธน.ผลาญงบ

"เศรษฐา" เคี่ยวหนัก รมต.ใหม่ เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมใต้-อีสาน พร้อมบินเยือนกัมพูชาที่แรก   กระชับความสัมพันธ์เพื่อนบ้าน ขณะที่  "อนุทิน" เลกเชอร์การเมืองไทยทูตอเมริกา   ขีดเส้นใต้รัฐบาลนี้เป็นของ ปชช. ไม่ได้จากผลพวงรัฐประหาร กระตุก "รัฐบาล-ฝ่ายค้าน" แก้ไข รธน.ล้มกระดาน ผลาญงบฯ 2 หมื่นล้าน ด้าน "วันนอร์" สยบข่าวไขก๊อก ปธ.สภาฯ ลั่นไม่ยึดติด เปรยไม่เกี่ยวเพื่อไทย ขณะที่ "ปดิพัทธ์" เกาะเก้าอี้แน่น โยนก้าวไกลชี้ขาดเอาตำแหน่งไหน  ศึก "กมธ." ต้องจบ เส้นตายส่งชื่อไม่เกิน 4 ต.ค.นี้

เมื่อวันพุธ เวลา 10.40 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เดินทางมายังกรมชลประทาน  ถนนสามเสน เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำหลังฝนตกหนักต่อเนื่อง  โดยการเดินทางมาครั้งนี้ไม่ได้มีการแจ้งกำหนดการล่วงหน้า ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ให้การต้อนรับ

นายกฯ ระบุว่า มาที่นี่เพราะมีความเป็นห่วงเรื่องน้ำท่วม ซึ่งเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาตนได้พบกับ สส.จังหวัดอุบลราชธานีหลายท่าน ซึ่งก็มีความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย และขอฝากเฝ้าระวังในทุกจุด และน่าจะหนักหนาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงปลายเดือน ต.ค.ถึงเดือน พ.ย. ก็จะต้องมีการเฝ้าระวังด้วยเหมือนกัน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องพายุที่กำลังจะเข้า   ตามมาด้วยสถานการณ์ภัยแล้ง หากประชาชนเดือดร้อนจากน้ำท่วม ก็ฝากให้ดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ลืมเหนื่อยๆ กันหน่อยในช่วงนี้ เราต้องวางแผนระยะกลางและระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ข้างหน้า ซึ่งตนก็จะติดตามและลงพื้นที่ไปดูด้วยกัน

 “ผมทราบอยู่ว่าทุกท่านมีภารกิจเยอะ รัฐมนตรีมาใหม่ก็คงเคี่ยวหนักอยู่ เราขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ถ้าหากมีการกำชับเพิ่มขึ้น ก็ขอให้เข้าใจกัน เพราะเราเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว เพราะประชาชนเดือดร้อน ก็ขอโทษแทนรัฐมนตรีด้วยที่เคี่ยวหนัก” นายกฯ กล่าว

ขณะที่นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐามีกำหนดการเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2566 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ รวมถึงกระชับมิตรภาพและความร่วมมือทุกด้านในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด รวมทั้งความมั่นคง และต่อยอดการพัฒนาร่วมกัน

เศรษฐาเยือนเขมรที่แรก

 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการครั้งนี้ นับเป็นการเยือนเพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ในประเทศอาเซียนครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับผู้นำในโอกาสที่ทั้งนายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเข้ารับตำแหน่งใหม่ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้หารือกับกัมพูชา

นายชัยกล่าวว่า เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ โดยมุ่งเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 และผลักดันการยกระดับจุดผ่านแดนไทย- กัมพูชาที่ยังคั่งค้าง รวมไปถึงการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางของทั้งสองประเทศ ผลักดันการท่องเที่ยวและการเดินทางข้ามแดน เพื่อให้มีการใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) สำหรับการเดินทางข้ามแดนทางบก อำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดน และไม่มีหนังสือเดินทาง สามารถขอเอกสารเพื่อใช้เดินทางข้ามแดนได้

 “นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นจะติดตามเรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดน เช่น แก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน การแก้ไขปัญหาคอลเซ็นเตอร์ รวมไปถึงความร่วมมือทางด้านแรงงาน ความมั่นคงทางพลังงาน ความสัมพันธ์ระดับประชาชน และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและวิชาการระหว่างไทย-กัมพูชา” นายชัย ระบุ

ที่กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังพบหารือกับนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่า ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องผู้อพยพเมียนมา ซึ่งอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย โดยสหรัฐได้ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยในเรื่องของการคัดกรองและตรวจสอบคุณสมบัติผู้อพยพที่จะเดินทางไปตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา และไม่มีการพูดคุยเพื่อให้ไทยรับผู้อพยพเพิ่ม ซึ่งสหรัฐอเมริกามีนโยบายช่วยเหลือผู้อพยพเป็นระยะๆ อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาได้มีการพูดคุยเรื่องสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทย นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลนี้ถือว่าเป็นรัฐบาลของประชาชนจริงๆ เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขอให้สหรัฐนึกถึงไทยในรูปแบบนี้ ไม่ใช่รัฐบาลที่มีผลพวงมาจากการรัฐประหาร ซึ่งทางทูตสหรัฐก็เข้าใจบริบทการเมืองในประเทศไทย

 “ไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมากเด็ดขาดที่จะจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองอันดับหนึ่งได้ 151 เสียง พรรคการเมืองอันดับสองได้ 141 เสียง ซึ่งผมได้บอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเส้นทางการเมืองของแต่ละพรรคเดินไป การที่พรรคได้รับคะแนนเสียงสูงสุดและไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อปี 2562 ก็เกิดขึ้นแล้ว เป็นเรื่องกลไกทางการเมืองที่จะลงตัวอย่างไร  ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ติดใจอะไร” นายอนุทินระบุ

นายอนุทินระบุถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยว่า ยังไม่ได้หารือกันภายในพรรคภูมิใจไทยว่าแนวทางการแก้ไขควรจะเป็นการแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตรา แต่วานนี้ (26 ก.ย.66) แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลประสานให้พรรคภูมิใจไทยจัดตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อหารือในเรื่องนี้ โดยพรรคภูมิใจไทย มอบให้นายศุภชัย ใจสมุทร นายประเบียนพรรค เป็นตัวแทนพรรค ซึ่งถือเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด

ห่วงแก้ รธน.ผลาญงบฯ

วันเดียวกัน ที่อาคารรัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการเลือกหัวหน้าพรรคว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนด รอจูนกันอีกนิด จูนเสร็จเมื่อไหร่ก็จะเลือก ขอเรียนว่าจะไม่ให้เรื่องของการเลือก กก.บห.ชุดใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องภายในพรรค กระทบต่อการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน หรือกระทบต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชน

นายจุรินทร์ระบุถึงข้อเสนอของนายวิษณุ เครืองาม ที่เสนอให้แก้มาตรา 256 เพื่อลดงบประมาณในการทำประชามติว่า  เรื่องนี้ก็อยู่ที่รัฐบาล ส่วนจะแก้อย่างไรนั้น ดูเหมือนประธานคณะกรรมการศึกษาฯ จะตั้ง ส.ส.ร. หากตั้ง ส.ส.ร. ก็แปลว่าจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการที่ยาวพอสมควร แล้วก็ตั้งธงว่าภายใน 4 ปี ซึ่งอันนี้ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ารัฐบาลตั้งธงจะทำถึง 4 ปี เพราะเห็นแถลงเป็นนโยบายเร่งด่วน

 “นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมว่าหากจะตั้ง ส.ส.ร. ก็ทำได้ อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล เพราะจะต้องมีการเสนอทำประชามติ และเสนอต้นร่างเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามขั้นตอนกระบวนการ แต่ถ้าสมมติว่ามีการทำใหม่ทั้งฉบับ ตั้ง ส.ส.ร. รัฐบาลก็ต้องเตรียมเงินไว้ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านไว้ด้วย ไม่ใช่ว่าผมจะค้านหรือไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลก็ต้องรู้ถึงภาระที่จะตามมา ซึ่งเป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องเตรียมไว้ด้วย เพราะการทำประชามติครั้งหนึ่งเท่าที่ กกต.ประเมิน ก็ประมาณ 3,000 กว่าล้าน” นายจุรินทร์ระบุ

ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ สว. และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการเริ่มต้นจากการทำประชามติและมี ส.ส.ร.นั้น จะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ถ้ารวมการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ด้วย จะใช้เงินครั้งละประมาณ 4 พันล้านบาท รวมๆแล้วเกือบ 2 หมื่นล้านบาท คุ้มกันหรือไม่ในสภาวะเศรษฐกิจของบ้านเมืองขณะนี้

 นายวันชัยกล่าวอีกว่า เมื่อสิ้นบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญและมาตรา 272 สิ้นผลไปแล้ว มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไรที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วควรพิจารณาให้รอบคอบทุกด้านทุกมุมว่าเรื่องใดจำเป็นเร่งด่วนมากกว่ากัน ระหว่างสถานการณ์ของบ้านเมือง และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าตัดความรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญปี 60 มาจากคณะรัฐประหารได้ นอกนั้นก็ไม่เห็นมีอะไร

"ดังนั้นหากรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นว่าประเด็นใดเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ควรจะแก้ไข ก็แก้เป็นรายมาตราไม่ดีกว่าหรือ  เป็นการประหยัดทั้งเงิน ประหยัดทั้งเวลา  แก้ได้ตรงจุดตรงประเด็น ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย”  นายวันชัยระบุ

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา  ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า ไม่มีประเด็นอะไร ตนเองได้รับมอบหมายก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่ถ้าทำไม่ได้เมื่อไหร่ ก็จะไม่ยึดติด

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยให้คำมั่นหรือไม่ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานสภาฯ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของพรรคเพื่อไทย เป็นหน้าที่ประธานที่จะพิจารณาว่าอยากทำหน้าที่ได้ประโยชน์อีกหรือไม่ ถ้าทำหน้าที่ไม่ได้ ตนเองก็ไม่ติดยึดตำแหน่ง

ก.ก.เอาเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม ประธานสภาผู้แทนราษฎรให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน หลังพรรคก้าวไกลได้เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่แล้วว่า ได้ฟังคำสัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรคก้าวไกลแล้ว ชัดเจนว่าจะขอรับรองตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน คงต้องรอให้พรรคก้าวไกลแจ้งผลการประชุมอย่างเป็นทางการ จากนั้นสภาจะดำเนินการขอเอกสารจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าได้มีการประชุมเรียบร้อยแล้ว และต่อไปจะเป็นขั้นตอนการเสนอเพื่อโปรดเกล้าฯ ขณะเดียวกันพรรคที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน จะต้องไม่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ถ้าทั้ง 2 กรณีนี้ลงตัว ก็สามารถเสนอเพื่อโปรดเกล้าฯ ได้

เมื่อถามว่า จะต้องแจ้งพรรคก้าวไกลหรือไม่ว่าจะมีความชัดเจนเมื่อไหร่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า การเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้มีระยะเวลา แต่พรรคก้าวไกลมีหน้าที่ต้องไปแจ้งกกต. หลังจากเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคภายใน 15 วัน เราจะได้ทราบข้อมูลจาก กกต.ว่าได้รับรายงานและตรวจสอบแล้วว่าถูกต้อง ทางสภาก็จะรอว่าเรื่องตำแหน่งรองประธานสภาฯ พรรคก้าวไกลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ถามว่า ทุกอย่างจะต้องแล้วเสร็จภายใน 15 วันหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เรียบร้อยเมื่อไหร่ก็สามารถเสนอได้ แต่ทางสภาอยากให้เรียบร้อยเร็วๆ  เพื่อเสนอโปรดเกล้าฯ เพราะบทบาทผู้นำฝ่ายค้านมีภารกิจจำนวนมาก ทั้งงานในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) อีกทั้งต้องเป็นกรรมการอีกหลายชุด       

วันเดียวกันนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ระบุถึงกรณีการเลือกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 35 คณะ ว่า ได้รับรายงานจากนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ว่า ได้เลือกประธาน กมธ.ทั้ง 35 คณะลงตัวเสร็จสิ้นแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถมาดำเนินการในสภาได้ เนื่องจากรายชื่อ กมธ.แต่ละคณะตามสัดส่วนยังไม่เรียบร้อย ก็ขอให้พรรคการเมืองที่ได้ กมธ.ตามสัดส่วน รีบส่งรายชื่อ กมธ. เพื่อที่จะได้มีการรับรองในที่ประชุมสภา และแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ รวมถึงจะได้เริ่มประชุมเพื่อเลือกตำแหน่งต่างๆ ใน กมธ.ต่อไป

เมื่อถามว่า ในวันที่ 28 ก.ย.ที่จะถึงนี้ หากยังตั้งไม่ได้ ต้องเลื่อนออกไปใช่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า หากเรียบร้อยก็ดำเนินการได้ แต่การตั้ง กมธ. จะอยู่ในวาระเรื่องอื่นๆ ซึ่งสามารถนำเสนอก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระได้ แต่ถ้าหากยังไม่เรียบร้อย ก็อยากให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ต.ค.นี้

'อ๋อง' เกาะแน่นรอชี้ขาด

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความชัดเจนในตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ว่า การตัดสินใจทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ตน และต้องฟังทางพรรคก่อน เพราะตนยังเป็นสมาชิกของพรรค ก.ก.อยู่ เมื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มีมติอย่างไรก็ต้องมีการพูดคุยกัน

เมื่อถามว่า ทางพรรคมีมติที่จะรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ จะกระทบกับนายปดิพัทธ์ และต้องตัดสินใจอย่างไร นายปดิพัทธ์กล่าวว่า แน่นอน เพราะเราไม่ได้ตัดสินใจทุกอย่างตามอำเภอใจ ทุกอย่างตัดสินใจตามมติพรรคและข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นต้องหารือกันว่าทิศทางใดดีที่สุดกับประเทศ ไม่ใช่ดีที่สุดแค่ตนเอง การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง แต่เป็นการตัดสินใจด้วยการสะท้อนเสียงประชาชนให้ได้มากที่สุด และมีผลประโยชน์ให้กับประเทศให้ได้มากที่สุด

ถามว่า มีข่าวว่าพรรค ก.ก.จะเก็บไว้ทั้ง 2 ตำแหน่ง โดยจะขับนายปดิพัทธ์ไปอยู่อีกพรรค นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ขอฟังจากปากหัวหน้าพรรคคนใหม่ก่อน เพราะตอนนี้เรารับข้อมูลจากคนอื่น อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจทั้งหมดไม่ได้มีการตัดสินใจด้วยความกดดัน หรือเป็นการตัดสินใจที่ไร้ทางเลือก แต่เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานว่าเราจะขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่สัญญากับประชาชนไว้อย่างไร ซึ่งคงจะมีการพูดคุยกันในเร็วๆ นี้

ด้ายนายกรุณพล เทียนสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคก้าวไกล  กล่าวถึงผลการประชุม สส.ของพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ในเรื่องของตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ของนายปดิพัทธ์ว่า ขณะนี้มีมติออกมาชัดเจนแล้วว่าพรรคก้าวไกล ต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อที่จะผลักดันประเด็นต่างๆ และขับเคลื่อนสภา  รวมถึงตรวจสอบรัฐบาล เพราะฉะนั้นจะมีการพูดคุยกับนายปดิพัทธ์ว่าเมื่อพรรคมีมติเช่นนี้แล้ว นายปดิพัทธ์ยอมรับกับมติของที่ประชุมอย่างไร

เมื่อถามว่า หากนายปดิพัทธ์ไม่ลาออก จะต้องมีการขับออกหรือไม่  นายกรุณพลกล่าวว่า ต้องอยู่ที่กรรมการบริหารพรรคว่าจะมีมติอย่างไร การพูดคุยยังไม่เริ่มขึ้น คงตอบได้ลำบาก

ถามว่าได้มีการพูดคุยหรือไม่ว่าจะรักษาทั้ง 2 ตำแหน่ง นายกรุณพลกล่าวว่า  มี แต่ด้วยรัฐธรรมนูญมีข้อกำหนดว่า พรรคที่มีผู้นำฝ่ายค้านไม่สามารถมีตำแหน่งประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ หรือรัฐมนตรีได้ เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญ กรรมการบริหารพรรคคงวางแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อยู่แล้ว

ถามอีกว่า เสียดายหรือไม่หากต้องขับนายปดิพัทธ์ออก นายกรุณพลกล่าวว่า ส่วนตัวแล้วสนิทกับนายปดิพัทธ์ ก็เสียดาย แต่เท่าที่เคยคุยกัน ไม่เกี่ยวกับการขับหรือไม่ขับ ตัวนายปดิพัทธ์เองไม่เคยเข้าพรรค ไม่เคยเข้าร่วมการประชุมของพรรค หรือแสดงความเห็นใดๆ ในนโยบายหรือญัตติของพรรคเลย ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องบอกว่านายปดิพัทธ์เป็นคนนอกของพรรคตั้งแต่วันที่รับตำแหน่งแล้ว

ด้านนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม (ปธ.) ระบุว่า วันนี้ พรุ่งนี้ เร็วๆ นี้ เราก็พร้อม ยังยืนยันคำเดิมว่า ประตูทุกบานยังเปิดให้คุณปดิพัทธ์ ที่จะมาเข้าร่วมงานกับพรรคเป็นธรรม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ โดดป้อง 'อุ๊งอิ๊ง' ปมแบงก์ชาติ อ้างแค่สะท้อนความต้องการประชาชน

นายกฯ ป้อง “อุ๊งอิ๊ง“ สปีชเวทีเพื่อไทย แค่สะท้อนความต้องการประชาชน ลั่น ไม่เคยบีบบังคับใคร เข้าใจความเป็นอิสระ เตรียมคุย ”รมว.คลัง“ หาทางทำงานร่วมแบงค์ชาติ