แห่ร้องขวาง ลดโทษคดีโกง สมศักดิ์ปัดเอื้อ

ยกขบวนขวางลดโทษคดีโกงจำนำข้าว “หมอตุลย์” ออกโรงร้อง "ประธานชวน" ขอตั้ง กมธ.ตรวจสอบเส้นทางอภัยโทษเอื้อประโยชน์คนผิด ขณะที่ “ส.ว.สมชาย” รับลูกเปิดช่องกฎหมาย พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ รับโทษ 1 ใน 3 ก่อน ด้าน "ศรีสุวรรณ" ร้องผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน.วินิจฉัย 5 พรฎ.อภัยโทษขัด รธน.หรือไม่ ซีกรัฐบาลปัดเผือกร้อนบุญทรงกันวุ่น “สมศักดิ์” เสียงแข็งไม่สนิทกัน “วิษณุ” แจงยิบได้สิทธิ์ลดต่อเนื่องตามหลักเกณฑ์ โฆษกศาลยุติธรรมชี้ช่องอำนาจอยู่ที่กรมราชทัณฑ์

เมื่อวันพุธ ที่รัฐสภา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน นำคณะกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับหนังสือ พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา โดยมีนายสมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อขอให้ตั้งกรรมาธิการตรวจสอบการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษผู้ต้องขังคดีทุจริตคอร์รัปชัน

นพ.ตุลย์กล่าวว่า ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษลดโทษรวม 4 ครั้ง กรณีนักโทษจำคุกในคดีโครงการรับจำนำข้าวมีหลายคนพ้นโทษไปแล้ว เนื่องจากมีการพิจารณาว่าเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมจึงได้รับการลดโทษ ส่งผลให้ประชาชนที่รักความเป็นธรรมยอมรับไม่ได้และคัดค้านอย่างรุนแรง เพราะมองว่าเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในประเทศ

“ซึ่งการลดโทษอย่างนี้ไม่มีใครรับได้ แต่การลดโทษเช่นนี้เหมือนเป็นการเอื้อการทุจริตเพื่อให้คนทำผิดได้ลดโทษโดยเร็ว จึงมายื่นต่อสภาและวุฒิให้ตรวจสอบขั้นตอนการลดโทษ ในการเอื้อประโยชน์ต่อคนทุจริตให้พ้นโทษโดยเร็ว เพื่อนำผลจากการตรวจสอบที่ได้ไปดำเนินการทางกฎหมายต่อไป" นพ.ตุลย์ระบุ

นายสมชายกล่าวว่า ตนเองจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในชั้น กมธ.ว่า กระบวนการในการเลื่อนชั้นนักโทษเป็นไปในลักษณะใด และเป็นอภิสิทธิ์ชนหรือไม่ เหตุใดคนไม่กี่คนใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนลดโทษเหลือเพียงไม่กี่ปี รวมถึงเห็นด้วยในการเสนอการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ในมาตรา 8 เรื่องคณะกรรมการราชทัณฑ์เดิมที่มาจากการแต่งตั้งเพียง 7 คนจาก รมว.ยุติธรรม ซึ่งควรมีภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากกว่านี้ ส่วนมาตรา 52 ควรเพิ่มวรรคท้ายเข้าไปว่า คดีทุจริตโกงชาติและอาชญากรรมร้ายแรงเป็นภัยต่อสังคม ต้องได้รับโทษ 1 ใน 3 ก่อนจึงจะเข้าสู่กระบวนการขอรับพระราชทานอภัยโทษ และทั้งหมดต้องรับโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของคำตัดสินที่ศาลได้พิพากษาไปแล้ว

ที่สำนักงาน​ผู้ตรวจการ​แผ่นดิน​ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการ​สมาคม​องค์การพิทักษ์​รัฐธรรมนูญ​ไทย​ ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และขัดแย้งกันนั้น ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (10) และมาตรา 63 หรือไม่ อันเนื่องมาจากเป็นการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งนี้ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 6 เม.ย.60 จนถึงปัจจุบันมี 5 ฉบับด้วยกัน

“โดยทั้ง 5 ฉบับได้มีการจัดทำบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าการจะอภัยโทษนั้น เมื่อไปตรวจสอบดูแล้วปรากฏว่ามีการอภัยโทษให้ผู้ที่ถูกจำคุกในกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการปราบปรามการทุจริต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลโดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จึงบรรจุบัญชีรายชื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตนี้อยู่ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษด้วย โดยสมาคมฯ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะสามารถเสนอเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยตีความว่า พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษทั้ง 5 ฉบับนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ในเบื้องต้น” นายศรีสุวรรณระบุ

วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านนายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวน ถึงพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เสนอลดโทษชั้นเยี่ยมให้นักโทษคดีทุจริตจำนำข้าวว่าผิดกฎหมายอื่นใด หรือผิดจริยธรรมหรือไม่ โดยทั้ง 2 คนใช้กลไกทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ดำเนินการบริหารโทษ (ลดโทษ) กับบุคคลที่ได้รับการลงโทษตามคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการจำนำข้าวที่กำลังถูกกระแสสังคมต่อต้านอยู่ขณะนี้

นายวัชระระบุว่า ทั้งนี้ขอให้ ป.ป.ช.เชิญนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ และพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มาให้ข้อมูลว่ามีการแก้ไขกฎระเบียบลดโทษให้นักโทษคดีคอร์รัปชันเกิดขึ้นในสมัยใด มีบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง และให้กันข้าราชการกรมราชทัณฑ์ชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยานเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาแล้วใครได้รับประโยชน์บ้างหรืออย่างไร ไม่ได้มีชื่อบัญชีไว้ก่อนล่วงหน้า เป็นไปตามกฎหมายและมาตรา หากใครเข้าเกณฑ์ก็ต้องได้ ขณะนี้รัฐบาลตั้งกรรมการคนนอกมาตรวจสอบแล้ว ถือเป็นสิทธิ์ของทุกคนตามรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม กรณีที่นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการอิสระมาตรวจสอบ ตนเองไม่ทราบเพราะเป็นกรรมการอิสระ ไม่ได้มาถามกระทรวง

นายสมศักดิ์ระบุด้วยว่า ตนเองกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ได้รับการลดโทษ ไม่ได้คุ้นกัน ไม่ได้ใกล้ชิดอะไร ขออย่ากล่าวอ้าง เพราะตนเองมีหลักการแนวคิดของตนเอง ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย เป็นไปตามระเบียบเมื่อมีกรรมการมาตรวจสอบแล้ว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ในกฎหมายจิ้มใครไม่ได้ เป็นเพียงคนวางหลักเกณฑ์ เมื่อหลักเกณฑ์ออกมาไม่ต้องดูหน้าอินทร์หน้าพรหม ใครเข้าหลักเกณฑ์ก็ได้รับการพิจารณา ยกเว้นนักโทษบางคนอาจได้ประโยชน์ไม่เหมือนกันตามความประพฤติ ใครเป็นนักโทษชั้นดีชั้นเลว โดยชั้นเลวเขาไม่ได้รับการลดโทษอยู่แล้ว แต่ชั้นดีหรือดีเยี่ยมจะได้ลดตามลำดับ

เมื่อถามว่า กรณีนายบุญทรงสังคมสงสัยได้รับโทษถึง 48 ปี เหตุใดตอนนี้เหลือเพียง 10 ปี นายวิษณุกล่าวว่า เป็นเพราะได้รับการลดโทษหนึ่งใน 3 ลงเรื่อยๆ ซึ่งนายบุญทรงได้รับการลดโทษมาถึง 3 ครั้งแล้ว ซึ่งคณะกรรมการอิสระชุดของนายเข็มชัย ชุติวงศ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้

ขณะที่นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องการลดโทษเป็นไปตามหลักการสากล ซึ่งในต่างประเทศก็มีหลักการลักษณะคล้ายๆ เช่นนี้ ซึ่งทำได้ ไม่เป็นความผิดในฐานะการใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ส่วนจะลดโทษมากหรือน้อยแค่ไหนนั้น เป็นอีกประเด็นที่จะต้องพิจารณาเรื่องของความเหมาะสมอีกที ว่าจะลดมากน้อยและจำนวนความถี่แค่ไหน ศาลจะมีอำนาจในการวางกำหนดโทษ ซึ่งเมื่อพ้นไปแล้ว ก็เป็นอำนาจราชทัณฑ์

“แต่อำนาจศาลของประเทศไทยก็จะไม่เหมือนบางประเทศ อย่างเช่นศาลในสหรัฐอเมริกา กฎหมายกำหนดไว้เลยว่าคดีนี้ศาลจะลดโทษได้เเค่ไหน แต่ประเทศไทยเรากฎหมายไม่ได้เขียนไว้เเบบนั้น จึงเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์” โฆษกศาลยุติธรรมระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง