เมียนมาไม่อนุมัติ ยื้อส่ง41คนไทย! ค้างเติ่งที่เชียงตุง

เมียนมายื้อส่ง 41 คนไทยหนีตายจาก “เล่าก์ก่าย” กลับไทย ยังค้างเติ่งอยู่ "เชียงตุง" ขณะที่ “ตัวแทนวันนอร์” เผย 25 ตัวประกันไทยในมือ "ฮามาส" อาจได้รับการปล่อยตัวใน 2-3 วันนี้

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าในการช่วยเหลือคนไทยจากสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน บริเวณเมืองเล่าก์ก่าย 287 คน ซึ่งขณะนี้ 41 คนไทย จากเมืองเล่าก์ก่ายถูกเคลื่อนย้ายจากเมืองหนานเติ้ง มาส่งต่อให้กับกำลังทหารเมียนมา (ภาคทหารบกสามเหลี่ยม) ในพื้นที่ จ.เชียงตุง รัฐฉาน ตั้งแต่เวลา 22.30 น. ของวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา และเตรียมเคลื่อนย้ายจาก จ.เชียงตุง มาส่งต่อให้กับกองทัพบก (กองทัพภาคที่ 3) ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ผ่านช่องทางจุดผ่านแดนถาวร สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำแม่สายแห่งที่ 2 ในช่วงบ่ายวันที่ 16 พ.ย.นี้ แต่ปรากฏว่าช่วงเย็นได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝั่งเมียนมาว่าทางรัฐบาลเมียนมายังไม่มีคำสั่งให้ส่งคนไทยชุดดังกล่าวมาไทยแต่อย่างไร

ที่ด่านศุลกากร อ.แม่สาย พล.ต.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง ประชุมเจ้าหน้าที่เพื่อสรุปสถานการณ์ หลังตลอดทั้งวันได้ประสานงานรอรับคนไทยกลับประเทศ  แต่ยังไม่มีการส่งกลับแต่อย่างใด ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้ออกเดินทางในวันนี้แล้ว ประกอบกับมีรายงานว่า หลัง 18.00 น. จะเป็นช่วงเคอร์ฟิวในเชียงตุง  ไม่อนุญาตให้มีการเดินทางใดๆ

ทางด้านตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มมานูเอล ที่คอยประสานงานอยู่ในเชียงตุง ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสื่อมวลชนว่า   จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการอนุมัติคำสั่งให้ 41 คนไทยออกเดินทาง ซึ่งทุกคนพร้อมกลับบ้าน สภาพร่างกาย จิตใจปกติดี ตั้งแต่มาถึงเจ้าหน้าที่เมียนมาซึ่งเป็น ตำรวจก็พูดคุยซักถามตัวแทนคนไทยแค่ 2-3 คน เพื่อดูว่าข้อมูลที่เขาได้มาและจากคนไทยตรงกันหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่ยังไม่ให้เดินทางกลับแต่อย่างใด

 “ทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอที่จะได้กลับวันนี้ รออย่างมีความหวัง บางคนกำลังใจดี มีบางคนคิดว่ามองว่าเป็นการให้ความหวังหรือไม่ เพราะมีรถมารอรับสแตนด์บายรอตั้งแต่เที่ยง แต่ยังกลับไม่ได้”

นายจารุวัฒน์ จิณห์มรรคา รองประธานมูลนิธิเอ็มมานูเอล (IMF) เปิดเผยข้อมูลคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในเมืองเล่าก์ก่ายว่า มีการโฆษณาว่าผู้ที่เข้าไปทำงานจะได้รับค่าตอบแทนที่สูง ลักษณะงานเป็นการตอบแชต ก็หลงเชื่อ หลังจากตกลงที่จะไปทำงานได้มีการส่งตั๋วเครื่องบิน ปลายทางลงที่มานดะเล  โดยนายทุนชาวจีนเป็นผู้ออกค่าตั๋วเครื่องบินและพาสปอร์ตให้ จากนั้นจะมีนายหน้ามารับเดินทางไปที่เล่าก์ก่าย

 “แต่เมื่อไปถึงพบว่าไม่ได้ทำงานอย่างที่ตกลงไว้ จะมีคนส่งสคริปต์ ให้ท่องเพื่อมาต้มตุ๋นคนไทย ซึ่งมีขบวนการในการสอน มีล่ามแปล มีคนจีนอยู่ในนั้น ซึ่งใครไม่ทำงานดังกล่าวจะถูกกักขังและทำร้ายร่างกาย งดอาหาร หนักสุดคือเสียชีวิต“

สำหรับคนที่ทำงานไม่ได้ จะมีเงื่อนเพื่อให้กลับบ้าน คือจ่ายค่าไถ่ตัวเองในราคาคนละ 250,000 บาท หรือหาคนมาแทนตัวเองให้ได้ 4 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ส่วนคนที่ทำได้ก็ไม่ปล่อยให้กลับ โดยทั้ง 41 คนไทยจะอยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา ต้องให้สหวิชาชีพเข้ามาสอบสวน แต่ภาพรวมเป็นขบวนการค้ามนุษย์ที่มีการทำร้ายร่างกาย ซึ่งผิดกฎหมายอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ในพื้นที่อื่นมีคนไทยถูกหลอกไปทำงานลักษณะนี้อีกหรือไม่ นายจารุวัฒน์กล่าวว่า ใช่ ซึ่งเป็นเมืองที่กระทรวงการต่างประเทศประกาศรายชื่อไปก่อนหน้านี้ โดยทั้ง 41 คนหนีออกมาจากเล่าก์ก่าย มาเจอกับกองกำลังว้า ที่เมืองหลานปิง จึงได้ขอความช่วยเหลือ ปัจจุบันยังมีคนไทยที่ต้องการความช่วยเหลืออีกจำนวนกว่า 200 คน

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย  ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ   สภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมในวาระพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ได้แก่ อธิบดีกรมการกงสุล เป็นตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รองผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นตัวแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้ากรมยุทธการทหารบก ตัวแทนผู้บัญชาการกองทัพบก

โดยนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ. ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า   การประชุมคงมีหลากหลายประเด็นที่จะสอบถามตัวแทนหน่วยงานที่เชิญมา ว่าทิศทาง จะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือคนไทยให้ออกมาอย่างเร็วที่สุด ซึ่งตนก็ติดตามและทราบดีว่าจะมี 41 คนที่มาถึงเมืองไทย แต่เข้าใจว่าเมืองที่จัดมาอาจจะไม่ใช่เล่าก์ก่าย เบื้องต้นสำหรับการช่วยเหลือคนไทย ก็ยังกังวลว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร ต้องยอมรับว่าการเดินทางมีความยากลำบาก หากจะเดินทางมาเมืองไทยโดยตรง สถานการณ์ในเมียนมาก็มีความละเอียดอ่อนค่อนข้างสูง

 “ถ้าเราจะใช้ความสัมพันธ์หรืออะไรต่างๆ ที่เป็นไปได้ในการเจรจากันในการช่วยเหลือคนไทยที่ติดค้างอยู่ ก็คงมีความจำเป็นที่อาจจะขอผ่านทางนี้ได้หรือไม่ แต่ก็ต้องผ่านการเจรจา ผมก็อยากจะทราบใน 2-3 ข้อ คือ 1.ที่ผ่านมาติดอุปสรรคอะไรในการที่จะช่วยเหลือคนไทย เพราะต้องยอมรับว่าไม่ได้มีแค่คนไทยล็อตนี้ แต่ในอนาคตก็จะมีอีก อาจจะยังรอเวลาสถานการณ์ในเมียนมา แต่สถานการณ์ก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ   2.คงเป็นเรื่องของเราต้องทำอะไรที่จะช่วยกันเพื่อที่จะช่วยเหลือคนไทย และคงจะเป็นในส่วนของ กมธ. เราก็อาจจะต้องไปเจรจาหาทางพูดคุย ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเรารู้เรื่องนี้ เราพยายามพูดคุยกับหน่วยความมั่นคง ก็ต้องยอมรับว่ามันยังล่าช้าอยู่ ผมหวังว่าวันนี้เราจะได้รับคำตอบที่น่าพอใจ และเราก็จะแบ่งงานกันในการหาทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ติดอยู่” นายรังสิมันต์กล่าว

ด้านนายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวภายหลังการประชุมว่า หลายประเทศเริ่มมีการออกแถลงการณ์เตือนประชาชนของประเทศตนเองในการเข้าไปยังพื้นที่ชายแดน  โดยเฉพาะในหลายเมืองของเมียนมา ซึ่งมีการปะทะกันอย่างรุนแรงของทั้งชนกลุ่มน้อยและกลุ่มกองกำลังต่างๆ ซึ่งขณะนี้ก็มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้น จากการประชุมที่ จ.แม่ฮ่องสอน ร่วมกับตัวแทนสมาชิกสภาอาเซียนของหลายประเทศ และผู้สังเกตการณ์จากหลายประเทศในฝั่งตะวันตก ซึ่งเรามีความเห็นตรงกันจากข้อมูลรอบด้าน ที่อาจมีผู้อพยพที่ต้องการเข้าพื้นที่ตลอด 2,000 กม. ตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตกของประเทศไทย เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่  โดยจะมีการนำประเด็นหารือร่วมกันต่อไปในการประชุมของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีคนไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันนั้น นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาฯ และนายเลอพงษ์ ซาร์ยีด นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน ตัวแทนประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกจับกุม แถลงความคืบหน้าการช่วยเหลือตัวประกันไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับกุม โดยนายมุขกล่าวว่า คนไทยยังปลอดภัยอยู่ แม้จะยังมีการยิงจรวดและระเบิดตลอดเวลา ซึ่งฮามาสขอให้หยุดยิง แต่ท้ายที่สุดอิสราเอลไม่ยอมหยุด แต่โอกาสหยุดยิงมีความเป็นไปได้ เพราะโลกกำลังกดดัน เชื่อจะมีการปล่อยตัวเร็วๆ นี้

ด้านนายเลอพงษ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการประชุมมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ขอให้หยุดยิงภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อปล่อยตัวประกันและลำเลียงความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน ตนได้เช็กข่าวว่าเขาจะปล่อยตัว 50 คน โดยในจำนวนนี้เป็นแรงงาน 25 คน คณะทำงานของประธานสภาฯ ประสานไปว่าขอเป็นคนไทยทั้งหมด ซึ่งกลุ่มฮามาสบอกว่าจะปล่อยตัว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอีกไม่กี่วันเราจะได้รับข่าวดี คิดว่าไม่เกิน 10 วัน หรือเร็วที่สุดคือ 2-3 วันนับจากวันนี้จะปล่อยตัว เขาคงต้องศึกษาความปลอดภัยก่อนว่าจะปล่อยตรงจุดใด

 “ฮามาสให้ความสำคัญการเจรจาระหว่างประธานสภาฯ กับผู้นำชีอะห์ เพราะเป็นมุสลิมด้วยกัน พูดคุยเป็นภาษาเดียวกัน คือภาษาอาหรับ จึงมีน้ำหนักมากกว่า สามารถสื่อสารกันได้มากกว่า เราพูดคุยแบบขอร้องให้เห็นอกเห็นใจว่าเราไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่แรงงานต่างชาติไปทำงานในสถานที่ที่เป็นข้อพิพาท จึงจำเป็นต้องจับแรงงานต่างประเทศ เพราะเขาถือว่ารุกราน เขาอยากให้สื่อมวลชนสื่อสารว่าอิสราเอลไม่ได้ให้ความสำคัญมนุษยธรรมใดๆ   ขณะที่เขาดูแลตัวประกันอย่างดี” นายเลอพงษ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง