ตัดแต้มปมล้อรถไฟฟ้า

คมนาคมเรียก EBM คุย เผยสาเหตุล้อ "น้องเก๊กฮวย" หลุด เพราะเบ้าลูกปืนล้อแตก เป็นดีเฟกต์มาจากโรงงาน ต้องตรวจยกล็อต สั่งเร่งหาสาเหตุเชิงลึกก่อนเปิดปกติ 6 ม.ค.นี้ พร้อมหารือคลัง หาแนวทางตัดแต้มเอกชน ก่อนขึ้นแบล็กลิสต์-ตัดสิทธิ์ร่วมประมูลครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีเหตุการณ์รถไฟฟ้าสายสีเหลืองล้อหลุดหล่นลงมาใส่รถแท็กซี่ที่วิ่งสัญจรอยู่บนถนนเทพารักษ์ กม.3 ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการนั้น ทันทีที่ทราบข่าว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปถึงพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบสาเหตุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากการสอบถามบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง เปิดเผยถึงสาเหตุในเบื้องต้นพบว่าเกิดจากเบ้าลูกปืนล้อแตก ทำให้ล้อหลุดหล่นลงมา โดยขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้เข้าศูนย์ซ่อมบำรุงแล้ว และในส่วนของรถไฟฟ้าไม่ได้เป็นอะไร สามารถวิ่งให้บริการได้ตามปกติ

โฆษกรัฐบาลกล่าวอีกว่า วันที่ 3 ม.ค. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเรียกบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน เข้ามาชี้แจงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมหารือบทลงโทษกับบริษัทผู้รับสัมปทาน กรณีเกิดเหตุการณ์หรืออุบัติเหตุต่อการเดินรถไฟฟ้า เตรียมออกกฎคาดโทษตัดสิทธิ์การสัมปทานครั้งต่อไป 

“ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยต่อการเดินทางของประชาชนบนรถไฟฟ้า ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ล้อรถไฟฟ้าหลุด ยืนยันว่าระบบเทคโนโลยี​ของรถไฟฟ้าได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล ขอให้ประชาชนมั่นใจ รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมจะตรวจสอบพร้อมชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุ” โฆษกฯ ย้ำ

 ด้านายสุริยะเผยว่า การตรวจสอบหากพบว่าเป็นความบกพร่องของเอกชนในเรื่องของการบำรุงรักษาไม่ดี หรือมีความรับผิดชอบไม่เต็มที่ ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำสมุดพกสำหรับตัดคะแนนบริษัทเอกชน หรือพิจารณาขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์ ห้ามไม่ให้บริษัทที่ถูกตัดคะแนนร่วมประมูลโครงการของรัฐบาลที่มีในอนาคต เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาหลักเกณฑ์ภายใน 2 เดือน

 “เชื่อว่าการจัดทำสมุดพก หรือการตัดคะแนนดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการทุกรายอยากที่จะรักษาธุรกิจของตัวเองไว้ เพราะบริษัทที่เข้ามารับงานส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ หากถูกแบล็กลิสต์ไปจะกระทบต่อธุรกิจโดยตรง อาจถึงกับล้มละลายได้เลย เพราะฉะนั้นหากมีกฎเกณฑ์ออกมาชัดเจน เอกชนก็จะมีความรอบคอบและความใส่ใจมากขึ้น” นายสุริยะกล่าว

ส่วนนายสุรพงษ์เผยว่า ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ที่มีการใช้งานเดินรถไปเพียง 62,000 กิโลเมตร (กม.) คิดเป็น 20% จากปกติที่สามารถใช้งานเดินรถได้ 320,000 กม. ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุง (Maintenance Log) พบว่ามีการซ่อมบำรุงตามรอบวาระโดยสม่ำเสมอ แบ่งเป็นวาระประจำวัน วาระประจำสัปดาห์ และวาระตรวจละเอียดทุก 15 วัน

 นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้สั่งการให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับความปลอดภัย แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.งดใช้ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ใช้ชุดแคร่ล้อ (Bogie) ในล็อตเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุ 2.ตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงร่วมกับผู้ผลิต เพื่อดำเนินการแก้ไขและป้องกันให้ถูกจุดต่อไป

3.เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบเบ้าลูกปืนของล้อต่างๆ เพิ่มเติมจากการตรวจตามวาระปกติ ก่อนนำขบวนรถไฟฟ้าขึ้นมาให้บริการประชาชน ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จวันที่ 8 มกราคม 2567 โดยคาดว่าจะพิจารณาเปลี่ยนชุดล้อช่วงล่างจากโรงงานใหม่ที่มี track record ให้หมดภายใน 6 เดือน หรือภายในเดือนมิถุนายน 2567 ส่วนแผนระยะยาวจะเร่งรัดการออกพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. เพื่อใช้ในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสามารถกำหนดบทลงโทษ และการชดเชยแก่ผู้โดยสารและผู้ได้รับผลกระทบ ภายในเดือนธันวาคม 2567

"ขณะที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบนั้น เบื้องต้นได้นำขบวนรถที่ได้รับการตรวจสอบว่ามีความมั่นคงปลอดภัยมาให้บริการจำนวน 6 ขบวน โดยปกติวิ่ง 21 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวน ซึ่งมีการปรับรูปแบบการให้บริการโดยมีความถี่ทุก 30 นาที จนถึงวันที่ 6 มกราคม 2567 ที่จะมีการตรวจสอบจนครบและทยอยปรับความถี่ในการให้บริการจนเป็นปกติ (ทุก 5-10 นาที) ภายในวันที่ 8 มกราคม 2567 ทั้งนี้จะให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฟรีโดยไม่คิดค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ถึง 6 มกราคม 2567 และหากเกิดข้อผิดพลาดในการเก็บค่าโดยสารไปแล้ว สามารถเรียกขอเงินคืนได้ทันที” นายสุรพงษ์กล่าว

ขณะที่นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยถึงการนำรถไฟฟ้าโมโนเรลมาใช้ในประเทศไทย เหมาะสมหรือไม่ว่า ยังไม่อยากให้ตัดสินว่ารถไฟฟ้าโมโนเรลดีหรือว่าไม่ดี เนื่องจากทุกระบบมีจุดบอบบาง รถเฮฟวีเรลก็เคยเกิดเหตุกับระบบอาณัติสัญญาณมาแล้ว ดังนั้น เราต้องใช้เหตุการณ์ดังกล่าวในการเพิ่มความระมัดระวังในส่วนที่เคยเกิดเหตุให้มากๆ ต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง