ดีเอสไอค้นบริษัท‘เฮียเก้า’ จ่อฟัน2อดีตรมต.แรงงาน

"ดีเอสไอ" เตรียมส่งสำนวน "2 อดีต รมต.แรงงาน-2 ข้าราชการระดับสูง" ให้ ป.ป.ช.สอบต่อ  หลังพบหลักฐานโยงขบวนการค้ามนุษย์  หักค่าหัวคิวส่งแรงงานไทย 12,000 คนไปฟินแลนด์รวม 36 ล้านบาท เดินหน้าค้นบริษัท "เฮียเก้า" น้องชายต่างมารดาอดีต รมว.ดัง เอี่ยวขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน

เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2567 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า      คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำโดยกองคดีการค้ามนุษย์ ดีเอสไอ และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด     ในฐานะพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุด มอบหมายให้ร่วมสอบสวน มีมติร่วมกันให้กล่าวหากับอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรี 2 คน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน 2 คน รวมทั้งหมด 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157  ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 ทั้งนี้ จะเร่งสรุปสำนวนการสอบสวนส่งสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ต่อไป

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากดีเอสไอ โดยกองคดีการค้ามนุษย์ ได้สืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 81/2566 เนื่องจากดีเอสไอได้รับหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องแรงงานไทย เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในสาธารณรัฐฟินแลนด์ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในสาธารณรัฐฟินแลนด์ที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ในการเดินทางกลับประเทศไทย

 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พบว่า เป็นคดีความผิดที่ส่วนหนึ่งเกิดนอกราชอาณาจักร จึงเสนอสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 และอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนต่อไป และอัยการสูงสุดได้มอบหมายพนักงานอัยการมาร่วมสอบสวน ซึ่งมีการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานจากสาธารณรัฐฟินแลนด์ในความผิดฐานค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อมาทางการสาธารณรัฐฟินแลนด์ได้ส่งพยานหลักฐานสำคัญตามที่ทางการไทยร้องขอให้ดีเอสไอ

 จากการสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด และพยานหลักฐานที่ได้จากความร่วมมือระหว่างประเทศกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสาธารณรัฐฟินแลนด์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีขบวนการสมคบระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลธรรมดา ร่วมกันเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทผู้ประสานงานฝั่งไทยที่ทำหน้าที่ประสานงานกับบริษัทที่จะนำเข้าแรงงานของสาธารณรัฐฟินแลนด์ เป็นค่าหัวคิว หรือค่าดำเนินการ เฉลี่ยรายละ 3,000 บาท โดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทประสานงานฝั่งไทยได้นำมาเรียกเก็บจากคนงานที่ไปทำงานอีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายตามจริง  และปี 2563-2566 ซึ่งเป็นช่วงดำเนินคดีมีผู้อยู่ในข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมประมาณ 12,000 คน คิดเป็นเงินรวมประมาณ 36 ล้านบาท คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการได้มีมติกล่าวหาบุคคลดังกล่าว 4 คน และนำส่งสำนวนคดีพิเศษดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการต่อไป

 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า กรณีนี้เป็นใครที่ถูกเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา ต้องถามทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ  เป็นเรื่องระหว่างประเทศ การสอบสวนเป็นเรื่องของอัยการสูงสุดที่มีอำนาจในการสอบสวน และทางอัยการสูงสุดส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมาร่วมสอบสวน จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจฟินแลนด์ พบหลักฐานเส้นทางการเงิน แต่ตนไม่ทราบว่าเป็นใคร ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากท่านปลัดขึ้นมา

วันเดียวกัน พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคดีจับกุมขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำกำลังเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าตรวจค้นบริษัท โกลเด้น ชาวเวอร์ เทรดดิ้ง จำกัด เเขวงเเสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของนายหลี่ เซิ่งเจียว หรือเฮียเก้า น้องชายต่างมารดานักการเมืองชื่อดัง และ ในฐานะนายกสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยเอเชีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกออกหมายจับเกี่ยวข้องกับขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนรายใหญ่

จากข้อมูลดีเอสไอพบว่า เฮียเก้า เป็นนายทุนรายใหญ่ ลักลอบนำเนื้อหมู เนื้อวัว ตีนไก่ เข้ามา ก่อนที่จะสำเเดงเท็จเป็นสินค้าในไทย ก่อนนำส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เเละส่งขายในไทย  คดีนี้ยังเกี่ยวข้องกับข้าราชการ อดีตนักการเมืองหลายคน โดยจุดที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น เป็นสำนักงานนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมเด็ก ผลการตรวจค้นไม่พบเฮียเก้า พบเเต่ภรรยา ภรรยาบอกว่านายหลี่ หรือเฮียเก้าเดินทางออกจากประเทศไทยไปตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.66

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปฏิบัติการตรวจค้นภายในบ้านพักของนายหลี่ พบภาพถ่ายที่เจ้าตัวร่วมบันทึกกับข้าราชการตำรวจระดับสูงและนักการเมือง นอกจากนี้ นายหลี่ยังเคยได้รับโล่เกียรติยศจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในฐานะเป็นผู้ให้การสนับสนุนในการปรับปรุงห้องประชุมอเนกประสงค์ของกองบังคับการตำรวจนครบาล 9 เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2564 ในสมัยของ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา   ผบช.น.

รายงานข่าวระบุว่า ดีเอสไอได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาออกหมายจับ 4 หมายแก่ 4 บุคคล ในข้อหาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้นๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 243, หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244, นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย อันเป็นความผิดตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ประกอบมาตรา 68 และมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และข้อหาร่วมกันฟอกเงิน

รายชื่อ 4 บุคคลที่ถูกหมายจับศาลอาญาที่ 111-114 ลงวันที่ 9 ม.ค.67 ประกอบด้วย 1.นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือ เฮียเก้า น้องชายต่างมารดานักการเมืองชื่อดัง 2.นายหยาง ยาซุง 3.นายกรินทร์ บุตรชายของนายหลี่ และ 4.น.ส.นวพร เชาว์วัย ฝ่ายบริหารจัดการด้านบัญชีของนายหลี่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง