‘เสรี’ปูดสกัดล่ารายชื่อ! สภาสูงชำแหละรัฐบาล

“เสรี” เผยล่าชื่อสภาสูงได้ 80 คนแล้ว เตรียมนัดถกอีกรอบจันทร์นี้     แฉมีข่าวสกัดไม่ให้สภาสูงร่วมเซ็นชื่อ  บอกรัฐบาลอย่ากลัวเพราะแจงดีก็ได้เครดิต ซูเปอร์โพลระบุความนิยมรัฐบาลใกล้จุดเดือด คนรักและคนชังเบียดๆ กัน      เตือนมีจุดเปราะบางหลายปมรอระเบิดการเผชิญหน้ากัน

เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2567 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)   การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงการรวบรวมรายชื่อ สว. จำนวน 84 คน เพื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า มี สว.ร่วมลงชื่อแล้ว 80  คน ซึ่งคาดว่าสัปดาห์นี้จะได้รายชื่อครบ และจะนำเข้าที่ประชุม กมธ.ในวันจันทร์ที่ 15 ม.ค. เวลา 09.30 น. เพื่อจะมาดูวิธีการ แนวทางที่จะอภิปราย และจัดคนอภิปราย ถ้าเสร็จเรียบร้อยก็สามารถยื่นต่อประธานวุฒิสภาได้ภายในสัปดาห์หน้า

นายเสรียังกล่าวถึงผู้อภิปรายว่า จะเปิดให้คนที่ลงชื่อเสนอญัตติได้อภิปรายก่อน เพราะในญัตติที่เสนอมามีหลายคนที่เสนอประเด็นมา เราก็จะมีเจ้าภาพแต่ละประเด็นแต่ละเรื่องที่เรากำหนดหัวข้อไว้ 7 หัวข้อใหญ่ ดังนั้น สว.คนไหนอยากอภิปรายหัวข้อไหนก็มาลงชื่อตามหัวข้อได้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ร่วมอภิปรายจำนวนมาก เพราะมืออภิปรายเรายังมีเยอะ ถ้าดูจากที่ สว.หารือ และตามกระทู้ในที่ประชุมวุฒิสภา

เมื่อถามว่า การอภิปรายครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ เพราะมีบางคนคิดว่าไม่น่าจะสำเร็จ นายเสรีกล่าวว่า ได้ยินแต่ข่าวมาว่ามีการเสนอเพื่อที่จะไม่ให้มีการลงชื่อในญัตติครบ ดังนั้นถ้าใครคิดจะมาแทรกแซงวุฒิสภา ก็อย่าได้เข้ามาแทรกแซงเลย    เสียหายเปล่าๆ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องประโยชน์ของการบริหารประเทศ และของประชาชน ถ้ารัฐบาลตอบได้ก็จะเป็นเครดิต เป็นความเชื่อถือของรัฐบาล  อะไรที่เป็นปัญหารัฐบาลก็แก้เสีย และทุกอย่างล้วนแต่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย  ไม่ควรที่จะเข้ามาแทรกแซงหรือหาวิธีที่จะไม่ให้การลงชื่อสนับสนุนญัตติครบ

“ทำทำไม กลัวอะไร เพราะญัตติดังกล่าวไม่ได้มีการลงมติไม่ไว้วางใจสักหน่อย ดังนั้นรัฐบาลก็ไม่ควรกลัวอะไร เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล และน่าจะตอบได้ ที่มีข่าวว่าอาจจะไม่ครบบ้าง ดูถูกเยาะเย้ยบ้าง ไม่เข้าใจการเมือง เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของวุฒิสภา ที่เป็นสภาพี่เลี้ยง เป็นสภาที่ต้องแนะนำ  และรัฐธรรมนูญเปิดช่องเอาไว้ว่า ให้เสนอในประเด็นสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ได้ไปล้มรัฐบาล ไม่ได้ไปทำให้รัฐบาลเสียหาย ควรจะสนับสนุน รัฐบาลสนิทกับ สว.คนไหน ต้องไปขอให้เขาลงชื่อในญัตติ ไม่ใช่มาสกัดกั้น” นายเสรีกล่าว

ต่อข้อถามว่า เมื่อยื่นญัตติแล้วจะสามารถอภิปรายได้วันไหน นายเสรี กล่าวว่า จะได้อภิปรายวันไหนเรากำหนดเองตอนนี้ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ประธานวุฒิสภาจะดำเนินการ เมื่อได้รับเรื่องแล้วจะต้องส่งเรื่องไปยังรัฐบาลให้รับทราบ เพื่อดูวันเหมาะสม แต่ก็ควรที่จะได้อภิปรายภายในเดือน ก.พ. หรือต้นเดือน มี.ค. เพราะสมัยประชุมจะหมดต้น เม.ย. และวาระ สว.จะหมดเดือน พ.ค.

  “รัฐบาลอย่าลากอย่าดึง แต่พยายามมาตอบ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับประชาชน และเป็นช่วงสุดท้ายของ สว.ชุดนี้อยู่แล้ว ไม่มีพิษ​ไม่มีภัย ไม่ได้ทำอะไรให้รัฐบาลเสียหาย เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะตอบไม่ได้ ทำไม่ได้ หรือไม่ยอมทำ นั่นแหละคือความเสียหาย” นายเสรีกล่าว

ก่อนหน้านี้ มีการเปิดเผยรายละเอียดของญัตติขอเปิดอภิปรายดังกล่าวของ สว. มีทั้งสิ้น 7 ประเด็น เช่น 1.ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน อาทิ การสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ ที่ยั่งยืนให้ประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาความยากจนที่ตั้งคำถามถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม,   สภาพปัญหาการทำนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สร้างภาระหนี้ให้ประชาชน, การแก้หนี้นอกระบบ ที่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาต้นตอในระดับครัวเรือน, การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมประมง, การสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ และ 2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน, การทุจริตคอร์รัปชัน ยาเสพติด, การลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์, การเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน จะรับมืออย่างไร เป็นต้น

วันเดียวกัน สำนักวิจัยซูเปอร์โพลเสนอผลสำรวจเรื่อง เปิดจุดยืนการเมืองของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,081 ตัวอย่าง  โดยเมื่อถามถึงจุดยืนการเมืองของประชาชนถ้าวันนี้เลือกตั้ง พบว่า สูสีกันมากระหว่าง 40.5% สนับสนุนเลือกรัฐบาล ในขณะที่ 39.3% ไม่เลือกรัฐบาล และ 20.2% กลางๆ ซึ่งเมื่อแบ่งออกตามเพศ พบว่า 43.7% ของเพศชาย มากกว่า 38% ของเพศหญิงสนับสนุนรัฐบาล ในขณะที่ 39.1% ของเพศชาย และ 39.2% ของเพศหญิงไม่เลือกรัฐบาล และ 17.2% ของเพศชายน้อยกว่า 22.8% ของเพศหญิง ระบุกลางๆ ไม่อยู่ฝ่ายใด

เมื่อแบ่งออกจากช่วงอายุ พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ส่วนใหญ่หรือ 78% ไม่เลือกรัฐบาล รองลงมาคือกลุ่มอายุ 20-29 ปี 49.7%, กลุ่มอายุ 30-39 ปี 34.9%,    กลุ่มอายุ 40-49 ปี 31%, กลุ่มอายุ 50-59 ปี 23.4% และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 25% ไม่เลือกรัฐบาล อย่างไรก็ตาม กลุ่มอายุ 50-59 ปี 59.7% สนับสนุนเลือกรัฐบาลมากกว่าทุกกลุ่ม รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 40-49 ปี 45.3%, กลุ่มอายุ 30-39 ปี 44.9%, กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 39.3%,  กลุ่มอายุ 20-29 ปี 32.1% และกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี เพียง 9.8% สนับสนุนเลือกรัฐบาลน้อยที่สุด

เมื่อแบ่งออกตามระดับการศึกษา พบว่า กลุ่มการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี 41.7% สนับสนุนเลือกรัฐบาลมากกว่ากลุ่มปริญญาตรี 39.9% และกลุ่มสูงกว่าปริญญาตรี 36.4% ในขณะที่กลุ่มการศึกษาปริญญาตรี 41% กลุ่มสูงกว่าปริญญาตรี 40.9% และกลุ่มต่ำกว่าปริญญาตรี 36.6% ไม่เลือกรัฐบาล 

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อแบ่งออกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า กลุ่มแม่บ้านและเกษียณอายุ 56.4% กลุ่มเกษตรกรรับจ้างทั่วไป 50% สนับสนุนเลือกรัฐบาลมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ในขณะที่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่หรือ 71% และกลุ่มคนว่างงานร้อยละ 47.6% ไม่เลือกรัฐบาลมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ

นอกจากนี้ เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือส่วนใหญ่หรือ 78.4% สนับสนุนรัฐบาลมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง 42%, กรุงเทพมหานคร 39.9%, ภาคใต้ 32.6% และภาคอีสาน 32% สนับสนุนเลือกรัฐบาลถ้าวันนี้เลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างในภาคใต้ 47.8% ไม่เลือกรัฐบาลมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง 42%, กรุงเทพมหานคร 41%, อีสาน 40.5% และภาคเหนือ  11.3% ไม่เลือกรัฐบาลน้อยที่สุด

ซูเปอร์โพลระบุว่า ภาพรวมของผลสำรวจครั้งนี้พบว่าปิ่มมาก ใกล้จุดเดือดระหว่างกลุ่มสนับสนุนเลือกรัฐบาลกับกลุ่มไม่เลือกรัฐบาล ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง เพราะวันนี้กลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง ไม่อยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้กระจายตัวแบ่งออกไปที่จุดยืนการเมืองสนับสนุนเลือกรัฐบาลและไม่เลือกรัฐบาลในสัดส่วนพอๆ กัน จึงมองได้ว่ากระแสร้อนทางการเมืองกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่โหมดของอาการแกว่งตัวทางการเมืองในอนาคตอันใกล้ และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายอย่างน่าเป็นห่วงได้ นับจากนี้ไปการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กำลังเคลื่อนตัวรอบๆ จุดเปราะบางหลายปมในเวลานี้ อาจจะกลายเป็นระเบิดเวลาทางการเมืองที่จะเผชิญหน้ากัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง