นายกฯถก‘DKSH’ ชวนลงทุนในไทย ครม.เคาะงบฯ68

“เศรษฐา” ตั้งใจเกินร้อย ร่วมเวทีประชุม WEF หารือผู้บริหารบริษัท  DKSH ชวนย้ายฐานการผลิตลงทุนในไทย ยินดีเปิดรับทุกบริษัทพร้อมไปคุยด้วยตัวเอง ยันไทยมีความพร้อมเรื่องติดตั้งสถานีชาร์จไฟรถอีวี พร้อมฝากเรื่องแลนด์บริดจ์ไปด้วย "ครม." เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 68 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท งบขาดดุล 7.1 แสนล้านบาท และการปรับปรุงปฏิทินงบปี 68

เมื่อวันที่ 16 0มกราคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง โพสต์ข้อความผ่านเอ็กซ์ ระหว่างมาเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่สมาพันธรัฐสวิส วันที่ 19-21 ม.ค.ว่า  ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวนอกสถานที่ถึงความตั้งใจของการเดินทางมาประชุม WEF ครั้งนี้ และการเตรียมหารือเอกชนยักษ์ใหญ่อีก 8 รายครับ โดยรัฐบาลต้องการส่งเสริมการค้าการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน อุตสาหกรรม EV เศรษฐกิจดิจิทัล ความเชื่อมโยงผ่านโครงการ Landbridge ตลอดจนบทบาทของไทยและอาเซียนด้วย อุณหภูมิเช้านี้ -5 องศาเซลเซียส แต่ความตั้งใจของพวกเราเกินร้อยครับ

เมื่อเวลา 09.30 น (ตามเวลาท้องถิ่นนครซูริก ซึ่งช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Mandarin Oriental Savoy Zurich สมาพันธรัฐสวิส นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง พบหารือกับนายสเตฟาน บุตซ์ ผู้บริหารบริษัท DKSH Holding AG ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาและแนะนำในการทำธุรกิจ เช่น การขยายการตลาด การวางแผนธุรกิจ การกระจายสินค้า โลจิสติกส์ และการบริการหลังการขาย รวมถึงมีการนำผลิตภัณฑ์และสินค้าอุปโภค บริโภค ยา เวชภัณฑ์ เข้ามาจำหน่ายในไทยมากมายหลายประเภท โดย DKSH เข้ามาประกอบธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2449 (ค.ศ.1906)

จากนั้น นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับนายสเตฟาน บุตซ์ ว่า DKSH เป็นบริษัทที่ทำมาค้าขายในเมืองไทยเป็นเวลานานมาก เขานำเข้ายาและเป็นตัวแทนนำเข้ายาใหญ่ๆ หลายประเภท จากหลายบริษัท การนำเข้ายาจะต้องได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (อย.) ซึ่ง อย.ก็มีความเข้มงวด หาก อย.อนุมัติแล้วก็ต้องไปองค์การส่วนท้องถิ่น ซึ่งทำให้คนไทยเสียเปรียบ ไม่ได้รับยาที่มีคุณภาพ

นายกฯ กล่าวว่า ตนรับปากไปว่าจะดูให้ในตรงจุดนี้ เพราะคนที่เสียประโยชน์คือคนไทย หากยาเข้ามาเร็วเราก็จะสามารถดูแลรักษาคนไทยให้เร็วขึ้นได้ โดยบริษัทดังกล่าวถือว่าเป็นกองเชียร์สำคัญของประเทศไทย ซึ่งตนอยากให้ย้ายโรงงานมาอยู่ที่ประเทศไทย เช่น โรงงานผลิตครีมบำรุงผิวที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประเทศไทย เขาก็จะไปพูดคุยและเชื้อเชิญ ตนก็บอกไปว่ายินดีจะไปพบและพูดคุย หากสนใจที่จะมาเปิดฐานการผลิตที่ประเทศไทย โดยหากมีข้อข้องใจหรือเสนอแนะด้านใดตนยินดีไปพบ เพราะจุดประสงค์ใหญ่ของเราคือให้ หลายบริษัทใหญ่ๆ ย้ายถิ่นฐานมาผลิตในไทย เช่น เรื่องยา เพราะเรามั่นใจว่าเรามีบุคลากรพร้อม มีมาตรการภาษีพร้อม การพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี

นายกฯ กล่าวอีกว่า เขายังพูดว่าเวลาไปเยี่ยมโรงงานที่ไทยใช้กระดาษเยอะมาก ซึ่งเขาเองก็บอกว่าควรจะพัฒนาไปยังเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตนได้ให้ความสบายใจไปว่า เรากำลังทำเรื่องนี้อยู่ จากการพูดคุยบริษัทดังกล่าวต้องใช้รถขนสินค้าจำนวนมาก เขาจึงอยากเปลี่ยนรถขนส่งของเขาทั้งหมดเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งตนก็ดีใจ แต่เขาเป็นห่วงเรื่องการติดตั้งที่ชาร์จมีเพียงพอหรือไม่ ซึ่งก็รับปากไปว่าเรื่องนี้ไม่ต้องห่วง เพราะเราดูอยู่ ได้บอกไปว่าเชื่อว่าการติดตั้งที่ชาร์จตามสถานีต่างๆ ทั่วประเทศจะดำเนินการได้เร็วมาก ซึ่งเขาก็เชื่อมั่นในเรื่องนี้ นอกจากนี้ บริษัทดังกล่าวยังทำเรื่องโลจิสติกส์ ซึ่งได้พูดคุยกัน โดยตนได้ฝากเรื่องแลนด์บริดจ์ไปด้วย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท และการปรับปรุงปฏิทินงบฯ ปี 68 ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มาตรา 24 กำหนดให้ในการจัดทำงบฯ ประจำปี ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) กำหนดนโยบายงบฯ ประจำปี ประมาณการรายได้ วงเงินงบฯ และวิธีการเพื่อชดเชยการขาดงบดุลฯ และเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ประกอบกับตามปฏิทินงบฯ ปี 68 กำหนดให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบาย วงเงินงบฯ และโครงสร้างงบฯ ปี 68 ในวันที่ 16 ม.ค.67 โดยปีงบฯ 68 คาดว่า รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,454,400 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร และอื่นๆ คงเหลือรายได้สุทธิจำนวน 2,887,000 ล้านบาท

วงเงินงบปี 68 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท เท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 68-71) ที่ ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 66 สำหรับ งบ ลงทุน และงบชำระคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตาม พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1) โครงสร้างงบประมาณ ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้ (1) รายจ่ายประจำ 2,713,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 180,873.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.14 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.38 ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ  2567 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 72.78 (2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบประมาณ 2567 ตั้งบประมาณไว้ จำนวน 118,361.1 ล้านบาท) (3) รายจ่ายลงทุน จำนวน 742,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 24,577.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.42 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.62 ของวงเงินงบประมาณรวม เท่ากับสัดส่วนต่องบประมาณของปีงบประมาณ 2567 (4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 144,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 25,680 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.70 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.00 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีสัดส่วยร้อยละ 3.40

2) รายได้สุทธิ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.59 3) งบประมาณขาดดุล จำนวน 713,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 20,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.89 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.56 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งนับว่าลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งก่อนหน้านี้มีสัดส่วนที่ร้อยละ 3.64 

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบปี 68 ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา! 2 เรื่องใหญ่ บ่งชี้ใกล้ถึงจุดจบ 'รัฐบาลเพื่อไทย'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า แรกทีเดียวคิดว่าจะไม่เขียนเกี่ยวกับเรื่องข้าว 10 ปี

จ่อผุด13อรหันต์นิรโทษ

กรมคุกร่อนแถลงการณ์ ยันทัณฑสถานราชทัณฑ์ช่วยชีวิต ‘บุ้ง ทะลุวัง‘ ตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเต็มกำลัง