กก.ลุ้นศาลคดี112 งัดแผนสำรองเผื่อ

ลุ้น! ศาล รธน.นัดอ่านคำวินิจฉัย "พิธา-ก้าวไกล" ชงนโยบายหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ 31 ม.ค.นี้ จนท.จัดกำลังดูแลความสงบเรียบร้อย "ไอติม" ระบุ "ทิม-แกนนำ" อยู่ทำงานในสภาไม่ไปศาล ชี้หากคำวินิจฉัยเป็นโทษเตรียมแผนรองรับไว้แล้ว "พท." เตรียมยื่นแก้กม.ประชามติ เปิดช่องทำง่ายขึ้น พร้อมชงตั้ง กมธ.ศึกษานิรโทษฯ เพื่อความปรองดอง "ภูมิธรรม" ลั่นไม่มียื้อ

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 31 ม.ค. เวลา 09.30 น.  องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติและออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในเวลา 14.00 น. กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1  และพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2   เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ..… เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เตรียมมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยรอบอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีเจ้าหน้าที่นำแผงรั้วเหล็กมากั้นโดยรอบพื้นที่ทั้งด้านในและด้านนอกอาคาร ส่วนบุุคคลที่จะเข้ารับฟังการอ่านคำวินิจฉัย   อนุญาตให้เฉพาะคู่กรณีและบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

มีรายงานว่า นายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้อง แจ้งว่าจะเดินทางไปรับฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง ส่วนทางพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้อง แจ้งว่านายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะไม่ไปรับฟังคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ที่สภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่ น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการวินิจฉัยคดีว่า สมาชิกพรรคก้าวไกลทุกคนมีกำลังใจที่ดี รวมถึงผู้สนับสนุนพรรคด้วยเช่นกัน โดยจากการลงพื้นที่ครั้งล่าสุด เราได้ตรวจสอบผลตอบรับจากประชาชน ซึ่งไม่ได้รู้สึกว่ากังวลอะไรมาก แต่ก็คาดหวังความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมแน่นอน รวมถึงทางพรรคได้นำเสนอชุดวิดีโอที่เสนอข้อเท็จจริงที่เราทำว่านโยบายต่างๆ ที่เราได้ทำเคยเกิดขึ้นแล้ว และมั่นใจว่าวันที่ 31 ม.ค. ผลการพิจารณาจะส่งผลดีต่อกระบวนการยุติธรรมไทย

ถามว่า กังวลโทษจะไปถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ น.ส.พนิดากล่าวว่า ข้อเรียกร้องของผู้ร้องไม่ได้ร้องให้ยุบพรรค

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ที่ผ่านมาพรรคพยายามเต็มที่ในการชี้แจงต่อข้อสงสัยและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเราผ่านกระบวนการยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกระทำของพรรคและ สส.ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่มีการกระทำใดที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามข้อกล่าวหา

"หากจะพูดเจาะจงเกี่ยวกับกรณีที่มีสส.พรรคก้าวไกลในสภาชุดที่แล้วยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เราก็ต้องยืนยันว่าการกระทำของ สส.คนดังกล่าวไม่ได้เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ทั้งในเชิงของกระบวนการและเนื้อหาสาระ เพราะท้ายสุดยื่นเข้าไปแล้วก็ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน" นายพริษฐ์กล่าว

โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวว่า สส.ของพรรคทุกคน รวมถึงนายชัยธวัชและนายพิธา จะอยู่ที่สภาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ สส. เพราะน่าจะมีหลายวาระสำคัญที่เข้าสู่ที่ประชุม สส. ทุกคนจึงอยากมีสมาธิเต็มที่ในการประชุมสภา โดยเมื่อคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ก็คงมีการฟังคำวินิจฉัยที่สภา และหากมีความเห็นอะไรต่อจากนั้น ก็จะมีการแถลงต่อสื่อมวลชน

ถามว่า หากศาลมีคำวินิจฉัยให้ยุติการหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 จะทำอย่างไร โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ต้องรอดูคำวินิจฉัยของศาลก่อน วันนี้ (30 ม.ค.) ก็ต้องยืนยันว่าสิ่งที่พรรคหรือ  สส.ได้ทำลงไปไม่มีการกระทำใดที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

ซักถึงแผนรองรับหลังจากนี้หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่เป็นโทษ นายพริษฐ์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้มีการวางแผนสำหรับทุกสถานการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่ในเวลานี้ต้องยืนยันทุกการกระทำของพรรคและ สส. ยังไม่มีอะไรเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และหากศาลมีคำวินิจฉัยเป็นอื่นใด ก็ต้องรอฟังความเห็นและเหตุผล

นายพริษฐ์ยังกล่าวถึงการเสนอเลื่อนญัตติตั้งคณะกรรมการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของวิปรัฐบาลว่า เป็นสิทธิ์แต่ละพรรคการเมืองที่จะใช้วิธีดำเนินการผลักดันร่างกฎหมายที่แตกต่างกัน หากมีการตั้งกมธ.วิสามัญขึ้นมาศึกษา พรรคก้าวไกลจะเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาควบคู่กัน เพื่ออธิบายเหตุผล และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองในสภาทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

ถามว่า การพิจารณาตามกรอบเวลาศึกษา 60 วัน จะทำให้การออกกฎหมายล่าช้าหรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า พรรคมีร่างกฎหมายพร้อมแล้ว และยังมีร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ร่างของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ส่วนพรรคการเมืองอื่นที่ยังไม่มีร่างกฎหมายอาจจะใช้วิธีการตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาศึกษา ซึ่งหากจะพิจารณาร่างของพรรคก้าวไกล ก็มีความพร้อมในทันที แต่ถ้าที่ประชุมสภา จะใช้วิธีการตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาก่อน เราก็จะใช้ร่างของเราเข้าไปพูดคุยใน กมธ.วิสามัญ

"เข้าใจว่าเป็นวิธีหนึ่งที่วิปรัฐบาลเลือกที่จะดำเนินการ เราจะพยายามใช้พื้นที่อย่างเต็มที่ในการนำเสนอหลักคิดและเหตุผลในร่างของเรา และหวังว่าร่างของเราจะถูกพิจารณาในวาระแรก และได้รับความเห็นชอบจากสภา เราเข้าใจดีว่าถ้าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาได้ เสียง สส.ของพรรคก้าวไกลอย่างเดียวคงไม่พอ เราจำเป็นต้องพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่นทั้งในซีกฝ่ายค้านและรัฐบาล ให้ความเห็นชอบร่างของเรา" นายพริษฐ์กล่าว

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตพรรคเพื่อไทยจะมีการยื้อกฎหมายนิรโทษกรรมด้วยการตั้งคณะกรรมการว่า ตนขอถามปัญหากับสังคมว่าเรื่องนี้ถ้าดำเนินการไปแล้วเห็นเหมือนกันว่าจะเป็นส่วนใหญ่จริงๆ  พรรค พท.ก็ไม่มีเหตุผลอะไรจะไปยื้อ

"ตราบใดที่คุยกันแล้วยังมีคนต้านอย่างรุนแรง แล้วเราประเมินว่าการต้านเพียงแค่ไม่ใช่ของคนกลุ่มเล็กๆ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลยังจะไม่ขยับจนกว่าจะมีข้อสรุปของสังคม ขอย้ำว่าไม่ใช่การยื้ออะไร แต่เป็นการพยายามจัดการปัญหาความขัดแย้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะไม่แก้ปัญหาเพื่อนำมาสู่ปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ผมพูดเสมอว่าตอนนี้ต้องแก้ปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม ก็ต้องทำ เราขัดแย้งมาตลอด ก็รู้อยู่แล้วว่าทำอะไร แล้วจะเกิดความขัดแย้ง ทำอะไรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไป แต่แน่นอนการตัดสินใจหลายอย่างไม่สามารถทำได้ตามความพึงพอใจในทันที แต่ถ้าทุกคนเห็นพ้องต้องกัน การตัดสินใจทำอะไรไปก็จะเกิดความสงบสุข" นายภูมิธรรมกล่าว

ถามว่า อะไรคือตัวชี้วัดที่ทำให้สังคมเห็นพ้องต้องกัน จะต้องทำประชามติหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ต้องไปติดกับรูปแบบ การรับฟัง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนเห็นพ้องได้ และอย่างผลโพล ที่หลายสำนักสำรวจออกมา ก็ยังมีความต่างกัน ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องฟังทุกส่วนแล้วชั่งใจ และใช้ดุลพินิจพิจารณาทุกเรื่องและตัดสินใจในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด เพราะรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองคิดและทำ

ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุม สส.ของพรรค นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค, นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค, นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค ทั้งนี้ มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง ร่วมการประชุมด้วย

นายชูศักดิ์แถลงว่า พรรคจะเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติปี 64 ซึ่งเข้าชื่อกันเรียบร้อยแล้วจะยื่นต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ วันที่ 31 ม.ค. เวลา 11.00 น. ซึ่งสาระสำคัญที่ขอแก้ไข คือ กฎหมายเดิมกำหนดการออกเสียงต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น กล่าวคือการออกเสียงจะมีผลต้องมีคนออกมาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด เมื่อมาใช้สิทธิแล้วต้องชนะกันด้วยเสียงข้างมาก โดยแก้ไขเป็นใช้เสียงข้างมากเกินกว่าหรือมากกว่าผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนนหรือผู้ไม่มาใช้สิทธิ์ และเราเห็นว่าการออกเสียงประชามติแต่ละครั้งใช้งบประมาณ 3-4 พันล้าน จึงคิดว่าหากการออกเสียงประชามติใกล้เคียงกับการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือการเลือกตั้งทั่วไป ให้นำไปใช้สิทธิวันเดียวกันเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ เราจึงเสนอให้ กกต.เปิดโอกาสให้ฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รณรงค์กันได้อย่างเท่าเทียมกัน  และฝ่ายค้านก็เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายนี้ อาจไปยื่นพร้อมๆ กันในการแก้กฎหมาย

รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พรรคเคยเสนอญัตติด่วนตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งญัตติค้างอยู่ในการพิจารณาของสภา ขณะนี้เรื่องนิรโทษฯ มีการถกเถียงกันอยู่ว่าจะนิรโทษฯ อะไรบ้าง รวมเหตุการณ์ใดบ้าง พรรคเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อยุติ

"เพื่อไทยเห็นว่าการนิรโทษฯ ควรเป็นนิมิตหมายของการสร้างความปรองดอง ไม่ควรเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ เราเห็นว่า กมธ.ควรประกอบด้วยผู้แทนพรรคการเมือง คนภายนอกที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม เพื่อให้ได้รับความเห็นที่กว้างขวาง โดยวันที่ 31 ม.ค. จะเสนอให้เลื่อนการพิจารณาญัตติดังกล่าว เพื่อให้ได้พิจารณากันในวันที่ 1 ก.พ." รองหัวหน้าพรรค พท.ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง