นิดปัดทุบค่าไฟ แก้พื้นที่ทับซ้อน ช่วยราคาถูกลง

นายกฯ ย้ำค่าพลังงานเรื่องสำคัญ ทุบค่าไฟไม่สนการตลาดเท่ากับรัฐประหาร ศก. ขอเวลาเจรจากัมพูชาดึงขุมทรัพย์ทับซ้อนมาใช้ให้เร็วที่สุด "ปลัดพลังงาน" ต้องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนต้องจบในรัฐบาลนี้ ปตท.แนะเลิกแบ่งพื้นที่ ลุยใช้วัตถุดิบใต้ดินให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ส.อ.ท.อ้อนรัฐขอค่าไฟใกล้เวียดนาม-อินโดฯ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 ก.พ. ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เป็นประธานเปิดงาน Thailand Energy Executive Forum และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่ผ่านมา โดยการเจรจาอีกเรื่องที่สำคัญ คือ OCA หรือพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับตัวเลขใดที่คนพูดถึง อาจพูดถึง 20 ล้านล้านบาทก็ได้ แต่เรามีปัญหาเรื่องของชายแดน เรื่องเขตแดนอยู่ เป็นเรื่องที่อ่อนไหว และหลายภาคส่วนให้ความสนใจ

ทั้งนี้ ขอแบ่งเป็น 2 ส่วน คือพื้นที่ทับซ้อนกับเรื่องของขุมทรัพย์ที่อยู่ใต้ทะเล เรื่องนี้จะต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องนี้ และจะพยายามนำสินทรัพย์เช่นนี้ออกไปใช้ได้เร็วที่สุดในการเปลี่ยนผ่าน Brown Energy ไปสู่ Green Energy ขอให้สบายใจว่าเราจะเดินหน้ากันต่อไป โดยพยายามแยกแยะระหว่างปัญหาพื้นที่ทับซ้อนและปัญหาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ แต่เรื่องนี้ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ เนื่องจากจะส่งผลต่อเรื่องราคาพลังงาน

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องค่าพลังงาน มีการสอบถามกันมาว่ามีกลไกอะไรบ้าง สามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น ค่า PPA การขอใช้กริดของโรงงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันสำหรับการจ่ายไฟฟ้าจากผู้ผลิตต่างๆ ไปยังผู้บริโภค กลไกตลาดจะไม่สามารถทำได้ พลังงานที่ผลิตขึ้นมาจะต้องมีผู้จ่ายอยู่ดี ซึ่งอาจจะเป็นเงินของพวกเราทุกคนที่โอนกลับไปจ่ายให้กับผู้ผลิต ทำให้ต้องเก็บเงินกลับคืนอยู่ดี แต่ความเชื่อมั่น และความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้

 “การทุบโดยไม่ต้องสนใจกลไกการตลาด จะทำให้เกิดรัฐประหารทางเศรษฐกิจ เราอาจจะได้ค่าไฟถูกอยู่ไม่กี่วัน ก่อนที่จะควักเอาเงินของประชาชนมาจ่าย การลงทุนการส่งออกการจ้างงานอยู่ในใจของคนทั้งโลกไปนานนับปี ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่ว่าเรามีกลไกการสนับสนุนเรื่องภาษีที่ดีแล้ว มีมาตรการต่างๆ ที่ทำให้คนมาอยู่ในประเทศไทยอย่างมีความสุข แต่เรื่องราคาพลังงานก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ หากมองในระยะยาวเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง พร้อมที่จะดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเพื่อมาตั้งฐานการผลิต” นายเศรษฐากล่าว

ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในกรณีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ถือเป็นความหวังทางด้านพลังงาน หากรัฐบาลชุดนี้ทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องหวังรัฐบาลชุดอื่น หากสำเร็จจะช่วยให้ค่าไฟถูกลง ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้ราคาค่าไฟในระยะยาวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วยได้

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาว่า ในมุมของ ปตท. อาจจะมีโมเดลที่ให้ศึกษาเป็นตัวอย่างได้ อย่างพื้นที่ไทย-มาเลเซีย ซึ่งเรื่องการแบ่งดินแดนนั้นไม่น่าจะสรุปได้ เพราะเข้าใจเลยว่าการแบ่งพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียวก็ต้องมีปัญหา แต่หากมาหารือกันเรื่องของวัตถุดิบที่อยู่ใต้ดิน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่หารือกันได้ไม่ยาก ว่าจะมาแบ่งกันอย่างไร เพราะประเทศไทยมีท่อก๊าซและโครงสร้างพื้นฐานใกล้ๆ พื้นที่ทับซ้อนอยู่แล้ว การที่จะขุดเจาะและนำขึ้นมาใช้ก็ง่าย และหากจะมีการส่งไปยังกัมพูชาก็สะดวกเช่นเดียวกัน

"โมเดลที่จะนำวัตถุดิบขึ้นมาใช้ และพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มนั้น และให้กัมพูชามาลงทุนกับเราได้ เพื่อแบ่งส่วนแบ่ง 50% ที่จะเป็นของเขาไปก็ได้ ต้องยอมรับว่าโมเดลทางด้านธุรกิจนั้นไม่ยากเลย แต่ทางด้านการเมืองก็ยังน่าเห็นใจ พูดตรงๆ เลยว่าที่มีปัญหา กัมพูชาไม่น่าจะมี มีแต่บ้านเรานี่แหละ ที่มีการพูดเรื่องนี้ตลอด เดี๋ยวก็หาว่าขายชาติบ้าง เราน่าจะต้องลดๆ ในตรงนี้หน่อย เพื่อให้เกิดข้อสรุปได้ และเราก็จะได้ไม่มีปัญหา" นายอรรถพลระบุ

ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวระหว่างเสวนาเรื่อง "ทิศทางพลังงานไทยปี 2567" ว่า ราคาค่าไฟของไทยงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย.67) ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งด้านการลงทุนไทยอย่างเวียดนาม ซึ่งราคาเพียง 2.67 บาทต่อหน่วย แม้จะเคยเกิดไฟดับ แต่สาเหตุมาจากรับการลงทุนต่างชาติจำนวนมาก แต่ล่าสุดเวียดนามได้วางโครงสร้างรับการเติบโตดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ อินโดนีเซียค่าไฟเพียง 2.52 บาทต่อหน่วย และลาว 1.02 บาทต่อหน่วย ราคาที่สูงของไทยจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เพราะหลายอุตสาหกรรมสำคัญมีต้นทุนค่าไฟ ต้นทุนพลังงานเป็นต้นทุนหลัก

"ก่อนขึ้นเวทีสัมมนานี้ ปลัดกระทรวงพลังงานบอกกับผมว่าให้ใจเย็นๆ  กระทรวงกำลังเร่งพิจารณา โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณเดือนเมษายนนี้ หากค่าไฟถูกลงในระดับเหมาะสม เอกชนจะประกาศหยุดงาน 1 วัน และขอเลี้ยงขอบคุณปลัดพลังงานด้วย ทั้งนี้ ขอย้ำรัฐบาลว่าเอกชนยังต้องการให้รัฐบาลตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเสนอแนวทางบริหารราคาพลังงานร่วมกัน" นายเกรียงไกรระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เพื่อไทย' จ่อเคลียร์ใจ 'ปานปรีย์' ชวนนั่งกุนซือพรรค ไม่รู้ 'นพดล' เสียบแทน

'เลขาฯ เพื่อไทย' รับต้องคุย 'ปานปรีย์' หลังไขก๊อกพ้น รมว.ต่างประเทศ แย้มชงนั่งที่ปรึกษาพรรค มั่นใจไม่เกิดแรงกระเพื่อม ปัดวางตัว 'นพดล' เสียบแทน ชี้ 'ชลน่าน-ไชยา' หน้าที่หลักยังเป็น สส.