ฝ่ายค้านฟันธง‘ดิจิทัล’แท้ง

“เศรษฐา” ปาฐกถาพิเศษ รัฐบาลมีพลังอำนาจเยอะ แต่ทำคนเดียวไม่ได้ ทุกหน่วยงานไม่เว้นองค์กรอิสระต้องช่วยกัน เตรียมหารือทวีภาคี “มาครง” ไปดูโรงงานนิวเคลียร์ ลั่นต้องมองหาโอกาส "จุลพันธ์" ยันเดินหน้าแจกเงินดิจิทัลต่อ แต่ต้องรอตามกรอบ "เรียงหิน" โทษประชาชนไม่เลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ขณะที่ฝ่านค้านถล่มเละ รัฐบาลซื้อเวลา เชื่อแท้งแน่ไม่ได้แจก

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้อง Meeting Room ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งในงาน iBusiness Forum 2024 หัวข้อ RESHAPING THAILAND FOR A SUSTAINABLE FUTURE พลิกเศรษฐกิจไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน

นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า การเป็นนายกฯ หรือรัฐบาล จริงๆ แล้วเรามีพลังอำนาจอยู่เยอะพอสมควร แต่เราเองไม่สามารถทำคนเดียวได้ ทุกภาคส่วน หน่วยงานรัฐ หน่วยงานราชการ หน่วยงานความมั่นคง องค์กรอิสระ ต้องช่วยกันอย่างเต็มที่ ต้องสามัคคี ในแง่หลักความคิดที่จะช่วยกันแก้ปัญหา

"สิ่งที่ผมแปลกใจกับการเข้ามาเป็นนายกฯ คือ เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราทำคนเดียวไม่ได้ แม้จะเป็นนายกฯ ก็ไม่สามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาทุกเรื่องได้ แต่ไม่ใช่ข้อแก้ตัวหรือคำอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ เรามาอยู่ที่นี่มีความตั้งใจจริงที่จะทำให้ได้ ฐานรากของพีระมิดผมมั่นใจว่ามีอยู่ 99% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ทั้งปัญหาหนี้สิน ยาเสพติด เงินในกระเป๋าไม่เพียงพอ ค่าแรงขั้นต่ำไม่เหมาะสม"

นายเศรษฐากล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการแก้ไขปัญหากันอย่างบูรณาการ เรื่องการเบียดเบียนราคาตลาดเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักเศรษฐศาสตร์ ถ้าจะมีการจำนำ ประกัน หรือจ้างผลิต หรือเซตราคาตลาดให้เป็นที่พึงพอใจหรือคนพออยู่ได้ จริงๆ ตนอยากให้ทำต่อเมื่อมีวิกฤตจริงๆ ทั้งน้ำท่วมหรือภัยพิบัติ ไม่ใช่ทำเพราะว่าจะเอาคะแนนเสียง ตนดีใจที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกพรรคไม่มีการพูดเรื่องนี้ รัฐบาลนี้มีความเชื่อว่าเราจะทำให้รายได้สุทธิของเกษตรกรขึ้นไปสามเท่าภายใน 4 ปี

 “เรื่องต่อมาที่ผมจะพูดค่อนข้างอ่อนไหวนิดนึง แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปเอาพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ แต่ว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาดที่มีราคาถูกที่สุด ถ้ามองในอนาคตทุกๆ ประเทศจะมีพลังงานสะอาด เราโชคดีที่ผู้นำในอดีต ผู้นำของภาครัฐบาลมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถทำให้เรามีพลังงานสะอาดได้เยอะกว่านี้ ต่อมาคือเรื่องราคาที่เหมาะสมด้วย"

เขาเผยว่า มีกำหนดการจะเดินทางไปฝรั่งเศส ไปทวิภาคีกับนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็ให้ว่าที่ผู้ว่าฯ ปตท. นัดกับโรงงานนิวเคลียร์ จะไปดูสิว่ามันเป็นอย่างไร จะไปศึกษาว่ามันเป็นอย่างไร เป็นการวางรากฐานไว้ว่าเราต้องจะดูเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งต้องดูแน่นอน แต่จะทำหรือไม่ แน่นอนความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่เราหยุดไม่ได้ในการจะหาโอกาส เพื่อจะสร้างอนาคตที่สดใสให้ภาคอุตสาหกรรมไทย

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ยืนยันว่าจะยังเดินหน้ามาตรการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แต่กระบวนการทั้งหมดยังต้องรอ ซึ่งต้องเป็นไปตามกรอบ โดยเฉพาะเมื่อมีหน่วยงานตั้งข้อสังเกตต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการ ดังนั้นรัฐบาลก็มีความจำเป็นจะต้องตอบคำถาม หรือชี้แจงข้อสังเกตต่างๆ ให้ชัดเจนก่อน โดยระหว่างนี้รัฐบาลเองก็ได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ ไม่ได้ทำแค่มาตรการ Digital Wallet เพียงเรื่องเดียว อาทิ มาตรการในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย มาตรการในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ตลอดจนการลดราคาพลังงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 “รัฐบาลไม่ได้อยู่นิ่งเฉย และยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทำแค่มาตรการ Digital Wallet เพียงเรื่องเดียว ที่ผ่านมาเรามีนโยบายหลายตัวที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ส่วน Digital Wallet ที่มีข่าวลือว่า จะทำ หรือไม่ทำต่อนั้น ผมยืนยันว่าเราเดินหน้าแน่นอน แต่ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ” นายจุลพันธ์ระบุ

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะกรรมนโยบายเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ว่า ที่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ว่าตนคิดว่าประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลมีแนวต้าน ทุกคนก็เอาใจช่วยรัฐบาล เพราะหลายครอบครัวอยากได้เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาสภาพคล่องในครอบครัว เชื่อว่าประชาชนเข้าใจการเมืองมากขึ้น เวลาเลือกตั้งอะไรที่ไม่ได้เป็นเอกฉันท์ก็จะทำงานไม่ง่าย แม้ทำได้แต่ก็ต้องใช้เวลา ซึ่งรัฐบาลก็พยายามชี้แจง หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ถูก แต่ก็ยังถูกโจมตีหรือแกล้งไม่เข้าใจ เราก็ชี้แจงกันไป

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโดยใช้เวลาพิจารณาอีก 30 วันจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการยื้อเวลาว่า ในหลักการโครงการไม่ได้เสนอของงบประมาณประจำปี 2567 มา ซึ่งตนเข้าใจว่าน่าจะดำเนินการต่อในส่วนนี้ด้วยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ทาง กมธ.งบฯ จึงไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ แต่คิดว่าการที่รัฐบาลตั้งอนุฯ ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความรอบคอบเป็นประโยชน์ ในเรื่องของความครบถ้วนทั้งส่วนราชการและนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเหมือนกับการพิจารณางบประมาณในทุก ๆ ปีก็มีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมา เพราะแต่ละอนุฯ จะลงในรายละเอียดของบประมาณแต่ละรายการ ฉะนั้นในเรื่องสำคัญของบ้านเมืองการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อจะศึกษาเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นขอให้ประชาชนได้สบายใจ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการตั้งอนุกรรมการศึกษาเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตเพิ่มว่า  ทุกอย่างคงจะดีเลย์ไปอีก ตอนนี้ความเป็นไปได้เริ่มริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้เหมือนทำอยู่แค่การเตะถ่วงไปเรื่อยๆ เราอยากให้เกิดความชัดเจนว่าตกลงจะทำหรือไม่ทำ ซึ่งจากผลสำรวจของนิด้าโพลก็บอกแล้วว่า หากไม่ได้ทำประชาชนไม่ได้โกรธ แต่เราอยากได้ความชัดเจนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่รอเรื่องของมาตรการที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจ นักลงทุน หรืออื่นๆ ก็รอให้เกิดการตัดสินใจที่แน่นอน เขาจะได้มูฟออนไปทำอย่างอื่น เมื่อเป็นแบบนี้ก็ชะงักงันไปกันหมดทั้งระบบเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลัง น.ส.ศิริกัญญาสัมภาษณ์เสร็จสิ้น ได้ร้องเพลงรอ ของสุเทพ วงศ์กำแหง ท่อนหนึ่งว่า "รอแล้วรอแล้ว รอไม่สิ้น รอจนใกล้ดับ ถมทับแผ่นดิน แผ่นฟ้า"

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ด้านหนึ่งตั้งแต่นายกฯ ถึงคนในรัฐบาลต่างก็ดาหน้ากันออกมาบอกว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤต รอช้าไม่ได้ ถามใครๆ ก็ต้องการเงินแจก และยังออกมาตอบโต้ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรที่ทักท้วง แต่อีกด้านพอจะต้องตัดสินใจทำ กลับทำสวนทางกับสิ่งที่พูด เดิมอ้างรอกฤษฎีกา พอกฤษฎีกาให้ความเห็นเสร็จ ก็อ้างรอ ป.ป.ช. หลัง ป.ป.ช.ส่งความเห็นมาให้ ก็อ้างอีกแล้วว่าต้องศึกษา 30 วัน

"สุดท้ายก็คือการซื้อเวลาซ้ำซาก เพราะรู้ตัวอยู่ลึกๆ ว่าโครงการนี้มันเสี่ยงซ้ำรอยทุจริตจำนำข้าว เสี่ยงทุจริต ผิดกฎหมาย เหมือนที่หลายฝ่ายได้ออกมาเตือนกันไว้นั่นเอง" นายจุรินทร์กล่าว

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) มีข้อห่วงใยว่า นโยบายหาเสียงที่ต้องใช้เงินต้องส่งเอกสารและแสดงถึงวงเงิน และที่มาของเงิน ประโยชน์ ความคุ้มค่า ความเสี่ยงและผลกระทบ โดย กกต.ต้องดูว่าพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับการเลือกตั้ง ได้ส่งเอกสารตามมาตรา 57 แล้วหรือไม่ หากส่งช้าจะมีค่าปรับ หน้าที่ของ กกต.ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ได้บอกให้ กกต.ดูว่านโยบายที่เสนอมาถูกต้องตามที่แจ้งหรือไม่ ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นนโยบายที่ไม่ตรงปก เพราะตอนแรกไม่ได้บอกว่าจะกู้เงินมาใช้ดำเนินนโยบาย ประเด็นนี้ยังไม่มีข้อยุติของการดำเนินการนโยบายของรัฐบาล เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแล้วก็อาจจะเข้าตามอำนาจหน้าที่ของ กกต.ก็ได้ ดังนั้นต้องดูข้อเท็จจริงว่าได้ดำนินการตามที่หาเสียงหรือไม่

เมื่อถามว่า ต้องให้มีคนมาร้องเรียนก่อนหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะว่ากระบวนการทำงานของ กกต.จะมีผู้ร้องก็ได้ หรือมีความปรากฏก็ได้ ต้องดูว่าการดำเนินการเรื่องนี้เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ หรือดำเนินการอย่างไร ต้องรอให้ข้อเท็จจริงปรากฏจากรัฐบาลก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลเตรียมส่งสภาฯ ถกงบฯ 68 ต้น มิ.ย. สมัยวิสามัญ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 รัฐบาลมีความพร้อมใช่หรือไม่ ว่า

นายกฯรับไม่ทราบขั้นตอน 'กฤษฎีกา' ให้ศาลรธน.ชี้ขาดคุนสมบัติ 'พิชิต' ยันทุกอย่างเป็นไปตามกม.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยเพื่อร่วมกิจกรรม "10 เดือนที่ไม่ต้องรอ ทำต่อให้เต็ม 10" ซึ่งจะมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ในนามพรรคเพื่อไทย

'เศรษฐา' จ่อจัดรายการ 'นายกฯพบประชาชน' อยากสื่อสารกับปชช.สม่ำเสมอ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเตรียมจัดรายการนายกฯพบประชาชน ว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะใช้ชื่อรายการว่าอะไร

นายกฯซวยแล้ว! ภาคปชช.อ้างคำวินิจฉัยกฤษฎีกาคุณสมบัติ 'ทนายถุงขนม' ยื่นป.ป.ช.เอาผิด

สืบเนื่องจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญ